“สมาคมการค้าพลังงานขยะ” ทำหนังสือเปิดผนึกยื่นนายกฯ และ รมว.พลังงาน เม.ย.นี้ เสนอให้รัฐกำหนดการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยคงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะต่อไปในอัตราค่าไฟ FIT บวกพรีเมียมปี 2558 หลัง ก.พลังงาน มีแนวโน้มชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 ปี หรือรับซื้อในราคาค่าไฟไม่เกิน 2.40 บาท/หน่วย
นายมนตรี วิบูลยรัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสมาชิกผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะวันนี้ (10 เม.ย.) ว่าทางสมาคมฯ เตรียมทำหนังสือเปิดผนึกยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อขอให้รัฐกำหนดการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าขยะเป็นแนวทางหนึ่งในการกำจัดขยะล้นเมือง ดังนั้นรัฐควรคงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะต่อไป โดยคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละจังหวัด และไม่ต้องรอประกาศการรับซื้อเป็นรอบๆ เหมือนพลังงานทดแทนประเภทอื่น และคงอัตราราคารับซื้อไฟเดิมเมื่อปี 2558 หลังจากก่อนหน้านี้ทางกระทรวงพลังงานมีแนวโน้มที่จะชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ยาว 5 ปี ยกเว้นราคาเท่าหรือต่ำกว่าที่ กฟผ.ขายส่ง 2.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้าขยะ
ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นได้ลำบากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขยะไม่กี่แห่ง เนื่องจากขยะของไทยเป็นขยะที่มีความชื้นสูง และมีขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยาก การสร้างโรงไฟฟ้าขยะต้องใช้เงินลงทุนสูงมากประมาณ 200 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ขณะที่เงินลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่ 70 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ดังนั้น หากรัฐมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ และการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าต้องไม่เกิน 2.40 บาท/หน่วย โรงไฟฟ้าขยะคงเกิดขึ้นได้ยาก อีกทั้งปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาที่จะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะขึ้นเป็น 1 พันเมกะวัตต์ จากเดิม 500 เมกะวัตต์
ดังนั้น เพื่อให้โรงการพลังงานขยะบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลวางไว้ ทางสมาคมฯ เสนอว่า 1. ลดขั้นตอนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น 2. ให้กระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ในส่วนที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรี) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินโครงการมากขึ้น 3. รับฟังความความคิดเห็นจากชุมชนรอบโรงฟ้า หรือรอบโรงงานคัดแยกขยะ ให้เป็นภารกิจคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งตั้งขึ้นตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย และ 4. สนับสนุนการดำเนินโครงการขยะในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP)
ด้านนายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า หนองแขม กทม.กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะใน กทม.มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และในอนาคต 20 ปีข้างหน้ามีโอกาสเพิ่มมากกว่า 20% จากปัจจุบัน 10,700 ตันต่อวัน โดยบริษัทรับขยะจาก กทม.จำนวน 500 ตัน/วัน มากำจัดด้วยการเผาโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะของ Von Roll Stoker ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 50 ล้านหน่วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าประมูลงานโรงกำจัดขยะเตาเผาผลิตกระแสไฟฟ้าของ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา กทม.ที่จะเพิ่มเตาเผาขยะอีก 2 แห่ง บริเวณอ่อนนุช และหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน และยังมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย
นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีนี้มีความเป็นไปได้ เนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับสูง 30% แต่คงต้องรอความชัดเจนแผนพีดีพีออกมาก่อน หากนโยบายของภาครัฐยังไม่ส่งเสริมในช่วงนี้ บริษัทฯ จะเน้นขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนราคาขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ต่ำกว่า 2.40 บาทต่อหน่วยนั้น เชื่อว่าบริษัทสามารถแข่งขันได้ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 30% ภายในปี 2569
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2555-2579 (PDP 2015) เดิม ที่วางเป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการใช้ไฟทั้งหมด กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวม 500 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการโรงไฟฟ้าขยะที่จ่ายไฟแล้ว (COD) 213 เมกะวัตต์เท่านั้น และอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อแบบ FiT Premium เมื่อปี 2558 สำหรับโรงไฟฟ้าขยะต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ที่หน่วยละ 6.34 บาท บวกพรีเมียม 70 สต. เป็นเวลา 8 ปี โรงไฟฟ้าขยะกำลังผลิต 1-3 เมกะวัตต์ ที่ราคาหน่วยละ 5.82 บาท บวกพรีเมียม 70 สต. และโรงไฟฟ้าขยะกำลังผลิตเกินกว่า 3 เมกะวัตต์ ที่อัตราหน่วยละ 5.08 บาท บวกพรีเมียม 70 สต. หากโรงไฟฟ้าอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะบวกเพิ่มอีก 50 สต./หน่วย