บมจ. บี.กริม.เพาเวอร์ ปลื้ม “ทริสฯ” ให้เรตติงองค์กรที่ “A” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความเป็นผู้นำด้านพลังงานของเมืองไทยที่พร้อมประกาศศักดาในต่างแดน ด้านผู้บริหาร “ปรียนาถ” ตั้งเป้างบลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าปีนี้กว่าหมื่นล้านบาท คาดกำลังการผลิตปี 63 พุ่งแตะ 2,163 เมกะวัตต์
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดให้อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทฯ ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะให้การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนการกระจายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Product : SPP)
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีความแน่นอนของกระแสเงินสดที่ได้รับจากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรม (Combined-cycle Gas Turbine) รวมถึงโอกาสในการเติบโตของบริษัทในอนาคตอีกด้วย จากปัจจุบัน BGRIM เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวม 31 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,779 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นรวมเท่ากับ 1,008 เมกะวัตต์ โดยไม่มีโรงไฟฟ้าใดเลยที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตเกิน 10% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมของบริษัท
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ เป็นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้พลังงานฟอสซิล คิดเป็นสัดส่วน 92% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม โดยแบ่งเป็น โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซพลังงานความร้อนร่วม จำนวน 13 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อมตะนคร (ชลบุรี) อมตะซิตี้ (ระยอง) แหลมฉบัง และเหมราช และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลอีก 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (เบียนหัว) ประเทศเวียดนาม ขณะที่กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอีก 8% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 โครงการในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ จำนวน 2 โครงการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ขณะเดียวกัน ทริสเทรติ้ง ได้ประเมินการเติบโตของ BGRIM ว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีกำลังการผลิตรวม 1,779 เมกะวัตต์ และภายในปี 2563 กำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มเป็น 2,163 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 1,314 เมกะวัตต์ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดจะอยู่ที่ราว ๆ 12,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ข้างหน้าหลังโครงการใหม่ ๆ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน
นางปรียนาถ กล่าวถึง แผนการดำเนินงานของบริษัทว่า บริษัทตั้งเป้างบลงทุนปีนี้ไว้ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 52 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,518 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วรวมทั้งสิ้น 31 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,779 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา กำลังการผลิตติดตั้งรวม 739 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ลดลงมาที่ระดับ 4.7% จาก 4.9% ในปีก่อนจากการบริหารจัดการโครงสร้างการเงินของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของเจ้าของที่ 1.4 เท่า ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ อย่างไรก็ดีหนี้สินสุทธิส่วนมากของบริษัทฯ กว่าร้อยละ 80 เป็นหนี้สินสุทธิระดับโครงการหรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุม จึงมีการรวมทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทย่อยในงบการเงินรวมของบริษัทฯ ซึ่งหนี้สินระดับโครงการเป็นการกู้เงินในรูปแบบของเงินกู้โครงการ (Project Finance) ที่ภาระผูกพันของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (Limited Recourse) และหากพิจารณาในระดับของงบการเงินเฉพาะกิจการ บริษัทฯ มีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพียง 0-1 เท่า คือ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดมากกว่าหนี้สินของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอน และสม่ำเสมอ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. ซึ่งมีอายุสัญญา 21-25 ปี และยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 5-15 ปี