กฟผ.โชว์นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาเองเข้าสู่เชิงพาณิชย์รับกระแสโลกก้าวสู่ยุค 4.0 หลังยอมรับการผลิตไฟใช้เองฉุดกำไรขายไฟ กฟผ.ลดลง 3-4% ต่อปี “กรกรศิษฎ์” อดีตผู้ว่าฯ กฟผ.ย้ำเสนอรัฐแล้วให้เร่งปรับพีดีพีรับพลังงานทดแทน
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2018” ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยนำนวัตกรรมที่ กฟผ.พัฒนาขึ้นมาเองมาแสดงเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ว่า กฟผ.มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ในอนาคตที่เปลี่ยนไป โดยตั้งเป้าหมายพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ การหาแหล่งพลังงานใหม่, การปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้า, การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม, การตอบแทนสังคมและชุมชน และการต่อยอดธุรกิจใหม่สร้างรายได้
“นวัตกรรม 71 ชิ้นได้จดสิทธิบัตรทางปัญญาแล้ว และ กฟผ.จะพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบโรงไฟฟ้าและสายส่งให้ยืดหยุ่นพร้อมรับและเสริมระบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น เพราะปกติแล้วทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น เพื่อเสริมความมั่นคง กฟผ.ต้องลงทุนปรับระบบทั้งโรงไฟฟ้าและสายส่งรองรับในช่วงพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ที่เรียกว่า Power System Flexibility และ Power System Flexibility” นายพัฒนากล่าว
นายวันชัย หงส์เชิดชัย รองผู้ว่าการบัญชีและการเงิน กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้กำไรของ กฟผ.ปรับลดลงประมาณ 3-4% ต่อปีจากผลกระทบที่ภาคเอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้น (IPS) จากปกติมีกำไรประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ระบุว่า IPS มีกำลังผลิตถึงกว่า 3,000 เมกะวัตต์แล้ว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Innovation as a Solution for a Better Life” ว่า กฟผ.ต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง หากไม่ปรับตัวก็คงจะเหลือเป็น "หน่วยงานแห่งความทรงจำ" เท่านั้น คล้ายกับ "โกดัก" ที่ได้รับผลกระทบจากกล้องดิจิทัล ซึ่ง Disruptive Technology เป็นทั้งบวกและลบ กฟผ.ต้องปรับรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขณะนี้มีเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ แนวโน้มจะมีมากขึ้น ตนในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ.จึงเสนอกระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพี เพื่อรับมือพลังงานทดแทนที่จะมีผลต่อระบบไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ เงินอุดหนุนพลังงานทดแทนจากระบบค่าไฟฟ้าของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มจนถึง สิ้นปี 2560 นั้นมีประมาณ 130,000 ล้านบาท