ธนาคารกรุงเทพประกาศบิ๊กเซอร์ไพรส์ ทุ่มงบ 8.1 หมื่นล้านบาทซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตา อินโดฯ สัดส่วน 89.12% และเทนเดอร์ฯ ที่เหลือจากรายย่อย คาดดีลจบปี 63 ต้องใช้เงินรวมทั้งสิ้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท หวังช่วยหนุนเครือข่ายต่างประเทศ และเสริมเป้าหมายกลยุทธ์ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แถมเศรษฐกิจอินโดฯ ยังขยายตัวได้ดี ยันไม่ต้องเพิ่มทุนซื้อหุ้น ขณะที่โบรกฯ ประสานเสียง เชียร์ซื้อหุ้น มองเป็นดีลที่ดีเพราะอินโดฯ มีขนาด ศก.ใหญ่สุดในอาเซียน คาดเพิ่มกำไรให้ 9% และเพิ่ม ROE จาก 7.8% เป็น 8.4% ในปี 2021 ด้านราคาหุ้น BBL ยังไม่ฟื้น ร่วงต่อ 2 วันติด
กลายเป็นบิ๊กดีลส่งท้ายปี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขกับ Standard Chartered Bank (“สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด”) และพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค (PT Astra International Tbk) (“แอสทร่า”) เสนอซื้อหุ้นจำนวน 24,991,429,332 หุ้น ในธนาคาร พีทีเพอร์มาตา ทีบีเค (“เพอร์มาตา”) คิดเป็นสัดส่วน 89.12% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของเพอร์มาตา ราคาซื้อหุ้นเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1,498 รูเปียต่อหุ้น หรือเป็นเงิน 37,430,974 ล้านรูเปีย (เทียบเท่ากับ 2,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 81,017 ล้านบาท โดยประมาณ) บนหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าที่ได้รับการตกลงร่วมกันอยู่ที่ 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชีของเพอร์มาตา ซึ่งการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ธนาคารคาดว่าจะใช้เงินทุนภายในและแหล่งเงินทุนที่ได้จากการจัดหาเงินทุนตามปกติของธนาคาร และยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อหุ้นในครั้งนี้โดยเฉพาะแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 63 หลังได้รับการอนุมัติและการอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือในเพอร์มาตาอีกร้อยละ 10.88 จากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาเสนอซื้อเดียวกัน ทำให้ต้องใช้เงินทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท
การเข้าซื้อกิจการของเพอร์มาตาครั้งนี้ทำให้ธนาคารเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ธนาคารสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จากการรวมกันทางธุรกิจและการเงินภายในภูมิภาคอาเซียน และเข้าถึงตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงได้มากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของธนาคารได้ทันที (ในปีงบการเงิน 2563 หากธุรกรรมแล้วเสร็จภายในปี 2563) และคาดการณ์ว่าจำนวนเงินกองทุนของธนาคารภายหลังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป
อย่างไรก็ดี การประกาศซื้อกิจการธนาคารอินโดนีเซียส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น BBL ทันที เพราะนักลงทุนกังวลว่าการซื้อหุ้นครั้งนี้ BBL อาจต้องเพิ่มทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น โดย 2 วันราคาหุ้นร่วงกว่า 13 หรือประมาณ 8% ก่อนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเช้าวันนี้ (16 ธ.ค.) โดยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 153-155 บาท
บิ๊ก BBL เชื่อได้ประโยชน์จากเครือข่าย ตปท.ที่ครอบคลุม
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากประสบการณ์โดยตรงในการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย และความเข้าใจในภาคธุรกิจธนาคารอย่างลึกซึ้ง เชื่อมั่นว่าธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซียมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยที่ยังคงรักษาอัตราผลกำไรที่ดี ซึ่งเพอร์มาตาจะเป็นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยเสริมเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธนาคารด้วยช่องทางการให้บริการที่กว้างขวาง ความโดดเด่นของฐานเงินฝากและชื่อเสียงของธนาคาร ตลอดจนความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง
“การรวมกันระหว่างสองธนาคารก่อให้เกิดการประสานพลังความร่วมมืออย่างชัดเจน ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายต่างประเทศที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางของธนาคารกรุงเทพในเอเชีย และความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกค้าของเพอร์มาตาสามารถเข้าถึงตลาดสำคัญทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อพร้อมรับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอาเซียน และกับภูมิภาคจีนที่เพิ่มขึ้น” นายชาติศิริกล่าว
ยันซื้อ "เพอร์มาตา" คุ้มค่า มั่นใจหุ้นฟื้นหลังไม่มีแผนพิ่มทุน
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า การซื้อธนาคารเพอร์มาตาคุ้มค่าต่อการลงทุนแน่นอน แม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 80,000 กว่าล้านบาท และยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนในการเข้าซื้อกิจการ โดยธนาคารมองว่าอินโดนีเซียยังมีศักยภาพในการเติบโตและสามารถขยายธุรกิจได้ เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจในอินโดนีเซียเติบโตไม่ต่ำกว่า 5%
"ความกังวลว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราทำธุรกิจที่อินโดนีเซียมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี เงินทุนเราก็สูงพอ และคุ้มค่าในการลงทุน และไม่ต้องห่วงในการทำธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตได้ถึง 5% และยืนยันว่าราคาไม่แพง ส่วนราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาเชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากนี้ เพราะตอนแรกนักลงทุนอาจกังวลอยู่" นายเดชากล่าว
สำหรับเพอร์มาตาเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของอินโดนีเซีย ก่อตั้งเมื่อปี 2498 ประกอบกิจการเสนอขายผลิตภัณฑ์และให้บริการด้านการธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ มีลูกค้ารายย่อย ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้าองค์กร รวมกว่า 3.5 ล้านราย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เพอร์มาตามีสำนักงานรวม 332 แห่ง มีเงินให้สินเชื่อจำนวน 108 ล้านล้านรูเปีย (เทียบเท่ากับ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 234,000 ล้านบาท โดยประมาณ) มีเงินรับฝากจำนวน 120 ล้านล้านรูเปีย (เทียบเท่ากับ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 259,000 ล้านบาท โดยประมาณ) และมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 7,670 คน
โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ ซื้อ เชื่อหนุนเติบโตระยะยาว
บทวิเคราะห์จาก บล.เอเซียพลัสระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นกลางต่อธุรกรรมของ BBL เพราะการรวมกิจการในต่างประเทศช่วงแรกอาจมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ แต่ BBL มีประสบการณ์การทำธุรกิจในอินโดฯ ตั้งแต่ปี 2511 ส่วนประเด็นราคาซื้อขาย หากลองพิจารณาในมุมกลับจาก Loan to Deposit ปัจจุบันที่ 85% โดย BBL สามารถนำเงิน 90,000 ล้านบาทไปปล่อยสินเชื่อตามแบบเดิมของ BBL จะได้ NIM ราว 2.2% ปล่อยกู้ในตลาด Interbank (1.25%) หรือเงินลงทุนส่วนใหญ่ที่กว่า 80% เป็นพันธบัตรรัฐบาล/ตราสารหนี้ ในสภาวะดอกเบี้ยขาลงไม่น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีนัก เมื่อเทียบกับเงินที่นำไปซื้อธนาคารใหม่บนประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าไทย โดยอิงกำไรจาก Bloomberg Consensus ปี 2563 ที่ราว 3.3 พันล้านบาท (8.8% ของประมาณการในปี 2563) และหากรักษากำไรที่ระดับนี้จะคิดเป็น Yield ราว 3.7%
ทั้งนี้ คงประมาณการเดิม อิง PBV 0.9 เท่า ตามวิธี GGM ที่ ROE ระยะยาว 9.8% ได้ FV ปี 2563 ที่ 217 บาท คงแนะนำซื้อ สำหรับลงทุนระยะกลางขึ้นไปเพื่อรับ Div Yield คาดหมายราว 4.8% ต่อปี
ด้าน บล.บัวหลวงมองว่า BBL จะซื้อธนาคาร PT Bank Permata ในอินโดนีเซียในปีหน้าจาก StanChart and PT Astra โดยจะซื้อหุ้น 89% ในมูลค่าประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท (ราคาซื้อคิดเป็น PBv 1.77 เท่า) ธนาคารอาจพิจารณาขายบางส่วนของ bond ที่ถืออยู่ราว 5 แสนล้านบาท เพื่อมาจากค่าหุ้นซึ่งธนาคารจะไม่ต้องเพิ่มทุน การเข้าซื้อคาดจะเสร็จสิ้นในช่วงมกราคม 2020 ซึ่งประมาณการว่าจะหนุนให้พอร์ตสินเชื่อโตขึ้นราว 2 แสนล้านบาท (คิดเป็น 10-15%) และคาดกำไรจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 7.5% และ ROE ดีขึ้นจาก 8.4% เป็น 9.0%
มุมมองกลยุทธ์ Action (ระยะสั้น 5-10 วันทำการ) : แนะนำซื้อ ท่ามกลางความกังวลของตลาด โดยมองว่าดีลนี้เป็นดีลที่ดี ช่วยหนุนกำไร และ ROE ให้เพิ่มขึ้น คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 205 บาท (ยังไม่รวม upside จากดีลนี้) ปัจจุบันหุ้นเทรด PBv 0.7 เท่า และเงินปันผลอีก 4.2%
ส่วน บล.ทรีนีตี้เผยว่า Permata Bank ก่อตั้งมากว่า 50 ปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ในประเทศอินโดนีเซีย มีฐานลูกค้าทั้งในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ SME และรายย่อยรวมราว 3.5 ล้านราย ขนาดสินทรัพย์ ณ 3Q19 อยู่ที่ราว 3.4 แสนล้านบาท และกำไรงวด 9M19 อยู่ที่ราว 2.4 พันล้านบาท โดยที่มี NIM 4.2% NPL 3.3% NPL Coverage Ratio 164% และ ROE 7.1%
ขณะที่ผู้บริหารชี้แจงว่าราคาซื้อขายจะอยู่ที่ราว 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น PBV ที่ราว 1.77 เท่า ซึ่งเป็นราคาที่มี Premium จากราคาตลาดที่ราว 16% โดยมองว่าแม้ว่าราคาซื้อขายจะสูงกว่าราคาตลาด และค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ ROE ที่ต่ำกว่า BBL ที่ 7.1% แต่เป็นปกติที่ M&A จะมีการให้ Premium และอัตราการเติบโตของกำไรในช่วงราว 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 24% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชย Premium ได้
อีกทั้งมูลค่าการซื้อขายที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราว 8.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 2.5% ของมูลค่าทรัพย์สินของ BBL ณ 3Q19 ซึ่งธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะทำธุรกรรมได้ และภายหลังการเข้าซื้อแล้ว เราคาดว่าสัดส่วน CET1, T1 และ CAR ยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.อยู่มาก ดังแสดงในภาพ
ยังคงมุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว แม้ว่าราคาซื้อขายจะสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า แต่ด้วยอัตราการเติบโตของ Permata Bank ช่วยชดเชยปัจจัยดังกล่าวได้ และธุรกรรมดังกล่าวแทบไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่องบการเงินของ BBL โดยในเบื้องต้นคาดว่า ROA จะลดลงเล็กน้อย ขณะที่ ROE จะปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังการรวมงบการเงิน ขณะที่ด้านเงินกองทุนยังเพียงพอ ทำให้เรายังคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 205 บาท
บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 202 บาท มีมุมมอง Slightly negative ต่อดีลเนื่องจากมองว่าราคาซื้อขายที่ 1.77x ของมูลค่าทางบัญชีค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับราคาหุ้นของ Permata ที่ปัจจุบันซื้อขายที่ 1,310 รูเปีย/หุ้น หรือคิดเป็น PBV 1.55x (ซึ่งราคาหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น +108% YTD คาดส่วนหนึ่งมาจากข่าวเรื่องการขายกิจการ ประกอบกับผลประกอบการที่ดีขึ้น) รวมถึงแม้การซื้อที่ 1.77x มูลค่าทางบัญชีจะต่ำกว่าเมื่อเทียบดีลการซื้อธนาคารในอินโดนีเซียอย่างการซื้อธนาคาร Danamon โดย MUFG ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ 2.00x มูลค่าทางบัญชี แต่ในขณะนั้นธนาคาร Danamon มี ROE ที่ราว 10% ในขณะที่ธนาคาร Permata ปัจจุบันมี ROE ที่ราว 6% และหากเปรียบเทียบดีลการซื้อธนาคารอีกหนึ่งดีลในอินโดนีเซียคือ การซื้อ Tanungan ของ Sumitomo เมื่อปี 2018 พบว่าซื้อขายที่ PBV 1.56x
ทั้งนี้ จะยังไม่เกิด synergy ที่เกิดจากการซื้อในทันที เนื่องจาก BBL มีฐานในอินโดนีเซียเพียงเล็กน้อย โดยปัจจุบันมีสาขาเพียง 3 สาขา และยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจธนาคารในต่างประเทศที่มีจำนวนสาขาจำนวนมาก ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างให้เข้ากับการดำเนินงานของ BBL
โนมูระมีมุมมองต่างจาก BBL เล็กน้อยในด้านการซื้อ Permata จะยังไม่สามารถเพิ่ม ROE ได้ทันทีในระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบันธนาคาร Permata สร้าง ROE ประมาณ 6% โดยที่ BBL ใช้เงินลงทุนซื้อ Permata มาด้วยราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี ทำให้เมื่อประเมินกำไรที่ Bloomberg คาดว่า Permata จะทำได้ใน 2020F ที่ราว 3.4 พันล้านบาท เทียบกับเงินลงทุนแล้วจะเหลือผลตอบแทนต่อ BBL เพียงประมาณ 4% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบ ROE ปัจจุบันของ BBL ประมาณ 9% ทำให้การนำเงินมาลงทุนใน Permata ได้ผลตอบแทนกลับไปที่ต่ำกว่าปัจจุบันที่ BBL สามารถสร้างได้เอง