ส่องศักยภาพ “บสก.” (BAM) เข้าเทรดวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ด้านนักลงทุนเสียงแตก ประเดิมซื้อขายวันแรกมีทั้งต่ำและเหนือราคาจองจาก “กรีนชูออปชัน” เข้ามาช่วยซัปพอร์ต อีกทั้งกองทุนฟื้นฟูฯ ยืนยันถือครองหุ้นใหญ่ระยะยาว ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ เพียงแค่ขยับเข้าสู่ภาวะเริ่มฟื้นตัวจากหลายปัจจัยที่กดดันจนมีผลต่อสินค้าของบริษัท แต่เชื่อหลังแปรรูปความคล่องตัวสูงขึ้น หนุนประสิทธิภาพช่วยผลักดันผลประกอบการโดดเด่น
วันที่ 16 ธันวาคมนี้จะได้รู้กันว่าการเข้าซื้อขายครั้งแรกบนกระดานหลักทรัพย์ของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก.) หรือ BAM จะฝ่าวิกฤตความผันผวนในตลาดหุ้นขึ้นมายืนปิดเหนือราคา IPO ได้หรือไม่? เพราะเรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักลงทุน ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าด้วยความเป็นหุ้น IPO ใหญ่อีกครั้งในปีนี้ น่าจะช่วยประคองให้ BAM ปิดตลาดยืนเหนือราคาจองได้สำเร็จ เข้าสู่พื้นฐานที่ควรจะเป็นของหุ้น IPO นั่นคือสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เปิดซื้อขายในวันแรก
ขณะที่อีกกลุ่มเชื่อว่านี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมเท่าที่ควรสำหรับการเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นของ BAM เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีควมผันผวนมาก และส่วนใหญ่ดัชนีปรับตัวในทิศทางขาลงมากกว่า นั่นทำให้ความน่าสนใจในการเข้าลงทุนต่อหุ้น BAM ลดลงตามไปด้วย
สำหรับ BAM ได้เสนอขายหุ้นซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1.25 พันล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1.76 พันล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจ โดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้ BAM ถูกจัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2541 เพื่อบริหารหนี้เสียของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด หรือ BBC ก่อนจะขยายธุรกิจบริหารหนี้เสียของสถาบันการเงินอื่น โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการแปรรูปจากองค์กรรัฐ ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ภายใต้การกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือหุ้น 100% เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้ เพราะหลังเสนอขายหุ้น กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นเหลือเพียง 45.6% ของทุนจดทะเบียน
ปัจจัยที่ช่วยการันตีให้แก่ผู้เข้าซื้อหุ้น BAM หลักๆ มีอยู่ 2 ประการ นั่นคือ 1. การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น โดยกรีนชูออปชันจะทำหน้าที่เข้ามาซื้อหุ้น หากราคาหุ้นลงมาที่ระดับ 17.50 บาท หรือลงมาที่ราคาจอง ซึ่งกรีนชูฯ มีอายุ 30 วัน เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งช่วงที่กรีนชูฯ ยังอยู่ ราคาหุ้น AWC ไม่เคยต่ำกว่าราคาจอง แต่เมื่อกรีนชูฯ สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AWC รูดลงหนักในทันที โดยปิดที่ 5.40 บาท ลดลง 65 สตางค์/หุ้น ทั้งที่ก่อนหน้าเคยลงมาต่ำสุดที่ 6 บาท หรือลงมาเท่าราคาจองเท่านั้น
ที่ผ่านมากรีนชูออปชันเป็นเครื่องมือในการสร้างผลทางจิตวิทยา เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนเท่านั้น หรือจะมองเป็นเครื่องมือในการปั้นราคาหุ้นก็ได้ โดยทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเมื่อมีกรีนชูฯ ราคาหุ้นจะไม่ต่ำจอง แต่ในอดีตกรีนชูฯ ก็เคยพังพินาศมาแล้ว เพราะพยุงหุ้นไม่อยู่ แม้จะซื้อหุ้นจนหมดมือแล้วแต่ดึงให้หุ้นยืนเหนือจองไม่ได้ 2. การออกมายืนยันถือครองหุ้นใหญ่ BAM ของกองทุนฟื้นฟู (FIDF) โดยล่าสุด “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ ออกมายืนยันว่า ภายหลังจากมีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ของ BAM บริษัทจะได้เงินจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เหลืออยู่ที่ 7.71 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ที่รับมาดำเนินการ ณ วันที่ 27 มกราคม 2555 อยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท และปัจจุบันยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท
พร้อมกันนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ยืนยันว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAM โดยมีนโยบายถือหุ้นในสัดส่วนอยู่ที่ 45.6-49.1% แม้ว่าจะผ่านช่วงตามข้อจำกัดห้ามขาย (Silent Period) ถือหุ้นทั้งหมดดังกล่าวต่อไปไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BAM และยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้น BAM เพิ่มเติม
สำหรับธุรกิจหลักของ BAM คือ การซื้อหนี้เสียมาบริหาร ทั้งในรูปของการซื้อหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์ และนำมาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกับลูกหนี้ อีกส่วนหนึ่งคือซื้อทรัพย์สินรอการขายจากกรมบังคับคดีหรือสถาบันการเงินอื่น ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ และนำมาจำหน่ายต่อ ทำให้ลักษณะธุรกิจของบริษัทใกล้เคียงกับรุ่นพี่ในตลาดหุ้นอย่าง บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงปลายปี 2555 โดยปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาราว 4 เท่าตัว ทำให้นักลงทุนต่างคาดหวังว่า BAM จะทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน
ส่วนจุดเด่นของ BAM คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเพราะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 โดยปัจจุบันบริษัทมีสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายภายใต้การบริหารกว่า 2.28 แสนล้านบาท และมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรประมาณ 2.75 หมื่นล้านบาท
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่นักลงทุนหลายรายถวิลหาครอบครองหุ้น BAM นั่นเพราะเชื่อว่านี่คืออีกบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แต่เรื่องดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีรายได้และกำไรต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการมีความผันผวนเช่นกัน โดยบางปีรายได้-กำไรเติบโตก้าวกระโดด และบางปีรายได้-กำไรเป็นไปในลักษณะหดตัว ขณะที่เป้าหมายของบริษัทคือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนผ่านการทำให้ BAM เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่มีอัตราการปันผลในระดับสูงถึง 40% กล่าวคือ “การเป็นหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูง”
แต่หากพิจารณาจากสินทรัพย์สำคัญในการประกอบธุรกิจของ BAM หนีไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปีนี้ อย่างที่รู้กันดีว่าไม่ใช่ปีทองของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมากเท่าใดนัก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามากดดันยอดขาย แม้ใครต่อใครจะเชื่อว่าปี 2563 หุ้นในกลุ่มนี้จะกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น แต่ไม่ควรลืมว่าการเติบโตดังกล่าวเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำในปีนี้ อีกทั้งการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการทั้งแนวราบและแนวสูงอยู่ในทิศทางที่ลดลง นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ตกลงของบ้านใหม่ และย่อมมีผลถึงสินทรัพย์ของบริษัทที่เป็นบ้านมือสอง
อีกทั้งที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะมีการออกมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนซื้อบ้านล้วนแต่เป็นการส่งเสริมการซื้อบ้านหลังแรก (บ้านใหม่) ขณะที่บ้านมือสองยังไม่มีมาตรการใดเข้ามาช่วยส่งเสริมเท่าที่ควร
ขณะเดียวกัน จากการเข้มงวดด้านการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณฺิชย์ของ ธปท. ถือเป็นอีกปัจจัยที่กดดันต่อการดำเนินงานของ BAM เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในปี 2563 ธปท.จะออกเกณฑ์คุมรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ซึ่งกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบหนีไม่พ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และในระยะต่อไปหลายฝ่ายเชื่อว่าธุรกิจไฟแนนซ์จะเป็นอีกกลุ่มที่อาจถูกควบคุมด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันการดำเนินงานและผลประกอบการในอนาคต
ที่ผ่านมาผลประกอบการด้านรายได้และกำไรที่สูงของ BAM มาจากความสำเร็จของการขายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่บริษัทมีอยู่ เพราะส่วนมากเป็นภาคเอกชนตัดสินใจซื้อเพื่อนำไปลงทุน และในอนาคตเชื่อว่าเมื่อ BAM หลุดพ้นการเป็นองค์กรภาครัฐมาสู่มหาชน การเดินหน้าในส่วนนี้น่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม BAM มีสินทรัพย์ขนาดเล็กในพอร์ตด้วยเช่นกัน และส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะ “ไม่ตรงปก” คือสินทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลเดิมที่บริษัทมีอยู่เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ถูกปล่อยปละมานานมาก ทำให้ผู้ที่สนใจต้องใช้เงินในการปรับปรุงสูง หรือบางแห่งสินทรัพย์ถูกบุกรุก และปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ไข ทำให้เป็นภาระของผู้ซื้อที่อาจต้องดำเนินการเองที่ต้องเสียเวลาในเรื่องเหล่านี้จนทำให้สินทรัพย์ไม่ได้รับความสนใจ
มีการคาดการณ์ว่า หลังจากแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และ BAM มีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น บริษัทน่าจะหันมาให้น้ำหนักต่อสินทรัพย์ขนาดเล็กที่มีอยู่ในพอร์ต เพราะมองว่าน่าจะช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้และไล่สะสมสินทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพียงช่องทางเดียว
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารของ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ขยายฐานทรัพย์สิน BAM โดยติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูง และมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทสามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญต่อการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAM ให้ความสำคัญต่อการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจจึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน
หากทุกยุทธศาสตร์ที่ผู้บริหาร BAM ประกาศขับเคลื่อนสามารถสำเร็จไปได้ด้วยดีตามแผน เชื่อว่า BAM จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทชั้นดีในตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับรุ่นพี่ๆ ที่เคยเป็นหน่วยงานภาครัฐ และวันนี้เมื่อกลายเป็นมหาชน แต่ละอาณาจักรมีความยิ่งใหญ่ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ท่าอาศยานไทย (AOT) และจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า สำหรับ BAM การเทรดวันแรก (16 ธ.ค.) ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นหัวหรือก้อย แต่ BAM ก็มีของดีอยู่ในตัว รอเพียงแค่จังหวะและเวลาที่เหมาะสม และเมื่อถึงเวลานั้นจะได้เห็นการเติบโตของผลประกอบการและราคาหุ้นที่ใครหลายคนหากพลาดในช่วงนี้ไปคงต้องอิจฉา