บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) คาดยอดลูกหนี้ร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มขึ้นหลังจากปรับเกณฑ์ เผยที่ผ่านมา มียอดสมัครกว่า 3 หมื่น แต่ผ่านเกณฑ์แค่ 1.7 พันราย เหตุ ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ เดินหน้าเตรียมพร้อมรับนอน แบงก์ร่วมโครงการ
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า ภายหลังจากการปรับหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้โดยขยายขอบเขตให้ลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่มีคำพิพากษาเข้าร่วมได้ และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 นั้น จะช่วยทำให้มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น ซึ่งจากในช่วงของการเปิดดำเนินโครงการมาตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ถึง 31 มีนาคม 2561 จากจำนวนผู้ผ่านการพิจารณาความสามารถ จำนวน 794 ราย มีจำนวน 16% หรือ 131 รายที่มีปัญหาโดนดำเนินคดีไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
“ในรอบ 10 เดือน จำนวนผู้ที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์นั้นค่อนข้างจากน้อยจาก 33,736 ราย ผ่านคุณสมบัติขั้นต้น 1,766 ราย โดยผู้สมัครที่ไม่ผ่านคุณสมบัติส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่ผ่อนปกติขั้นต่ำที่มีจำนวนมากถึง 50% ผ่อนปกติ 50% คือ กลุ่มนี้มีความเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นเอ็นพีแอล หรือไม่ได้เป็นเอ็นพีแอลแต่อยากเข้าร่วมโครงการ และเป็นลูกหนี้ non bank 20% โดยผู้ที่ผ่านเข้าโครงการมียอดผ่อนชำระเฉลี่ย 4,400 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 4-7% และมียอดภาระหนี้เฉลี่ยต่อราย 230,000 บาท และระยะเวลาผ่อนชำระ 5.17 ปี ส่วนลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน แต่ต้องการเข้าโครงการนั้น เราคงยังไม่มีแผนในเรื่องนี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนั้น ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หลักดูแลอยู่แล้ว”
พร้อมกันนี้ SAM เตรียมขยายขอบเขตดำเนินโครงการคลินิกในอนาคต โดยการเพิ่มโอกาสให้แก่ลูกหนี้กลุ่ม Non bank ซึ่งต้องมีการแก้ไข พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์พ.ศ 2541 เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจของ SAM ให้สามารถบริหารเอ็นพีแอลของกลุ่มนอนแบงก์ ขณะนี้การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็น และข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ เป็นผลให้โครงการช่วยเหลือลูกหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินที่เป็นนอนแบงก์ ให้เข้ามาสมัครได้มากขึ้น ซึ่งหลายแห่งให้ความสนใจทั้ง KTC, BAY และผู้ประกอบการรายอื่น
ก่อนหน้านี้ หลังจากโครงการได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ได้พิจารณาปรับเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ตามความจำเป็น และเหมาะสม เพื่อขยายโอกาสให้ลูกหนี้เข้าโครงการได้มากขึ้น มีการปรับหลักเกณฑ์ตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยขยายหลักเกณฑ์จากเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนประจำขยายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ทำให้ผู้ที่มีอาชีพอิสระ หรือเจ้าของกิจการ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ก็ถือเป็นอีกช่องทางที่ช่วยได้
ส่วนผลการดำเนินงานของ SAM ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในส่วนของการขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) และที่เกินเป้าหมาย คือ การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยอดซื้อหนี้เอ็นพีแอลช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,800 ล้านบาท จากเป้าหมายอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขต่างๆ อยู่ แต่ก็คาดว่าจะสามารถส่งรายได้ให้กับกองทุนฟื้นฟูปีนี้ได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยช่วงปีที่ผ่านมา ทำได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือเติบโต 12%
นางฐิติมา กล่าวอีกว่า แนวโน้มการขายหนี้เสียในระบบปีนี้ คาดว่าน่าจะมีมากกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ที่มียอด 120,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 ในต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลในการตั้งสำรองหนี้ของธนาคาร และน่าจะมีบางส่วนต้องทยอยขายหนี้ออกมา แต่ผลกระทบดังกล่าวก็จะเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้น ก็น่าจะปรับตัวได้แล้ว