xs
xsm
sm
md
lg

“คลินิกแก้หนี้” ปรับเกณฑ์-คาดมียอดเพิ่ม 5 หมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.-สมาคมแบงก์-บสส. ปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ขยายระยะเวลาเข้าเริ่มจากเดิม 1 พ.ค. 60 เป็น 1 เม.ย. 61 และเป็นหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องได้ แต่ยังไม่พิพากษา คาดมีผู้เข้าร่วมเพิ่ม 5 หมื่นราย เผย 10 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วม 549 ราย ภาระหนี้ 129 ล้าน จากผู้สมัคร 3.3 หมื่นราย

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ได้ดำเนินโครงการแก้ไขหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) ซึ่งจะเป็นโครงการช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ดังกล่าวของคนไทยที่เป็นหนี้เสียที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของลูกหนี้ และภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นผลสำเร็จในโครงการดังกล่าวไประดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีลูกหนี้บางส่วนที่ติดขัดเรื่องคุณสมบัติเบื้องต้นในบางประเด็น ทำให้เสียโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการ จึงได้มีการปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมให้ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และเหมาะสมกับสภาพลูกหนี้เพิ่มขึ้น โดยปรับเกณฑ์จากเดิมที่ลูกหนี้จะเข้าโครงการได้จะต้องเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนก่อน 1 พฤษภาคม 2560 ก็จะขยายเวลาเป็นก่อน 1 เมษายน 2561 และแก้ไขจากเดิมลูกหนี้จะต้องยังไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีขยายเพิ่มเป็น หรือถูกดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา โดยจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าว คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 ราย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจากเดิมให้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนประจำ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ทำให้ผู้มีอาชีพอิสระเข้าร่วมโครงการได้

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานบสส.กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา โครงการได้มีเข้าร่วมโครงการ จำนวน 549 รายภาระหนี้รวม 129.65 ล้านบาท และในสิ้นเดือนเมษายนนี้ จะมีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระเสร็จสิ้นเป็นรายแรก ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาของโครงการมีผู้มาสมัครเข้าโครงการ 33,000 ราย มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 1,074 ราย และผ่านการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 594 ราย และออกจากโครงการ 5% โดยจะเห็นว่า ผู้สมัครเข้าโครงการ 70% คุณสมบัติไม่ผ่านนั้น ประมาณ 50% ยังคงจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำ และ 20% มีหนี้อยู่กับนอน-แบงก์

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างขอแก้ พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ให้สามารถรับหนี้ของนอน-แบงก์ มาบริหารได้ เพื่อให้ลูกหนี้นอน-แบงก์ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ก็จะเปิดกว้างได้อีกระดับหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น