xs
xsm
sm
md
lg

KTB กำไร Q1 ลด 20% เร่งปรับพอร์ตลดกระจุกตัว-KBANK กำไรเพิ่ม 5.84%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรุงไทยแจ้งกำไร 6,787 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 8,537 ล้านบาท หรือลดลง 20% ขณะที่สินเชื่อค่อนข้างทรงตัว โดยธนาคารยังรักษาสัดส่วน Coverage Ratio ไว้ที่ระดับ 120.25% พร้อมเดินตามยุทธศาสตร์ Future Banking รองรับการแข่งขันที่รุนแรง ด้านกสิกรไทย กำไร 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.84% เอ็นพีแอลทรงตัวที่ระดับ 3.30%

ธนาคารกรุงไทย รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2561 ธนาคาร และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ และภาษีเงินได้) อยู่ที่ 15,995 ล้านบาท ลดลง 13.11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 และมีกำไรสุทธิ 6,787 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 8,537 ล้านบาท หรือลดลง 20% โดยความพยายามในการปรับ และการบริหารพอร์ตสินเชื่อเพื่อลดการกระจุกตัว และมีองค์ประกอบในอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เบ็ดเสร็จ ยังคงเป็นความท้าทายของธนาคารที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญอย่างอย่างต่อเนื่อง

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เท่ากับ 20,540 ล้านบาท ลดลง 7.17% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.50% ต่อปี เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรวมค่อนข้างทรงตัว โดยสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายย่อย ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ 3.07%

รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิ 6,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.75% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ Bancassurance ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการรักษาระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 120.25% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2560 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ อยู่ที่ 6,908 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากไตรมาส 1/2560

สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs gross) ณ ไตรมาส 1/2561 จำนวน 107,774 ล้านบาท โดยมี NPL Ratio Gross อยู่ที่ 4.33% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 4.19% จากลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยบางส่วน เงินกองทุนของธนาคาร อยู่ที่ 17.72% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 17.45% โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.81% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และได้ประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางการ และครอบคลุมถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2561 ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดสำคัญ หนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวตาม และการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีการขยายตัว แต่ภาพรวมยังคงเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ Future Banking โดยสนับสนุนบริการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ได้พัฒนา Smart University Mobile Application เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การนำเสนอบัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย (KTB Cash Card) แก่ลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อใช้จ่ายผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานราชการที่เริ่มให้บริการในวันที่ 27 มีนาคม 2561

อีกทั้ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ธนาคารได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคาร การจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงินผ่าน KTB netbank เพื่อมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าในทุกพื้นที่ให้มีโอกาสใช้บริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืน ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดที่การแข่งขันทวีความรุนแรง และท้าทายต่อการดำเนินงานในอนาคต

กสิกรไทย แจ้งกำไรไตรมาส 1 กำไรเพิ่ม 5.84%

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 โดยธนาคาร และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.84% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 608 ล้านบาท หรือ 2.63% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้กู้ยืมตามธุรกรรมซื้อคืน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.37% อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง จำนวน 405 ล้านบาท หรือ 2.61% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิ เพิ่มขึ้น 4.71% หลัก ๆ เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น จำนวน 765 ล้านบาท หรือ 5.03% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.20% รวมถึงในไตรมาสนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 ธนาคาร และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ และภาษีเงินได้ จำนวน 22,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,982 ล้านบาท หรือ 15.03% จากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลง จำนวน 2,970 ล้านบาท หรือ 15.66% ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จำนวน 336 ล้านบาท หรือ 2.28% ส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิ และรายได้เงินปันผล นอกจากนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง จำนวน 3,827 ล้านบาท หรือ 32.87% ทำให้กำไรสุทธิมีจำนวน 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จำนวน 5,059 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคาร และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,994,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 93,644 ล้านบาท หรือ 3.23% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคาร และตลาดเงินสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อสำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 3.30% เท่ากับสิ้นปี 2560 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 149.72% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 17.70% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.41%


กำลังโหลดความคิดเห็น