xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึกหุ้น BAM / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าไม่มีอะไรที่ผิดพลาด วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ หุ้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บสก.หรือ BAM จะเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และไม่อาจคาดหมายได้ว่า สถานการณ์ซื้อขายวันแรกเป็นอย่างไร จะสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนที่จองซื้อในระดับที่น่าพอใจหรือไม่

และมีโอกาสที่หุ้นจะต่ำกว่าราคาที่เสนอขาย 17.50 บาทหรือไม่

เพราะ BAM เข้าซื้อขายในภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำ จนหุ้นขนาดใหญ่ปัจจัยพื้นฐานดีๆ ถูกเทขายจนตกกันระเนระนาด


BAM เป็นหุ้นขนาดใหญ่ และเป็นหุ้นน้องใหม่ลำดับที่ 25 ที่เข้ามาซื้อขายในปีนี้ โดยหุ้นใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นก่อนหน้า จำนวน 24 บริษัท มีพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ราคายังสามารถยืนเหนือจอง ส่วนอีก 20 บริษัทราคาต่ำกว่าจอง

และหลายบริษัทราคาต่ำกว่าจองเกินกว่า 50%

หุ้นใหม่ในปีนี้ มีเพียง 1 ใน 6 เท่านั้นที่สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนที่จองซื้อ ส่วนที่เหลือ ใครจองแล้วเจ๊งกันหมด

ปี 2561 มีหุ้นใหม่เข้ามาซื้อขายทั้งสิ้น 18 บริษัท แต่เมื่อปิดตลาดหุ้นสิ้นปี มีหุ้นใหม่เพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ราคาไม่หลุดจอง ส่วนอีก 11 บริษัทต่ำกว่าจอง สร้างความเสียหายให้นักลงทุนที่จองซื้อคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,303 ล้านบาท

แต่ปีนี้มูลค่าความเสียหายจากการลงทุนในหุ้นใหม่อาจพุ่งขึ้นระดับหมื่นล้านบาท เพราะมีหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาหลุดจองหลายตัว รวมทั้งหุ้น บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

สำหรับนักลงทุนที่จองซื้อหุ้น BAM ไว้ ตอนนี้อาจรอลุ้นระทึกอยู่ เพราะไม่อาจประเมินว่า ชะตากรรมในวันแรกที่เข้าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และความมั่นใจว่าจะต้องได้กำไรจากการจองหุ้นน้องใหม่ตัวนี้ไว้ อาจไม่เหลือเท่าไหร่แล้ว

BAM จัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2541 เพื่อบริหารหนี้เสียของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด หรือ BBC ก่อนจะขยายธุรกิจบริหารหนี้เสียของสถาบันการเงินอื่น

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการแปรรูปจากองค์กรรัฐ ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ภายใต้การกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้น 100% เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้

เพราะหลังเสนอขายหุ้น กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นเหลือเพียง 45.6% ของทุนจดทะเบียน

BAM นำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 280 ล้านหุ้น และหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่จำนวน 1,255 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท และจัดสรรส่วนหนึ่งเสนอขายประชาชนทั่วไป ผ่านกระบวนการสุ่มคัดเลือกด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือแรนดอม โดยสามารถจองซื้อได้สูงสุดถึง 1 ล้านหุ้น ในวงเงินลงทุน 17.5 ล้านบาท

และจะมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชูออปชัน) อีกจำนวน 230 ล้านหุ้น โดยกรีนชูออปชันจะทำหน้าที่เข้ามาซื้อหุ้น หากราคาหุ้นลงมาที่ระดับ 17.50 บาท หรือลงมาที่ราคาจอง ซึ่งกรีนชูฯ มีอายุ 30 วัน เช่นเดียวกับหุ้น AWC ซึ่งช่วงที่กรีนชูฯ ทานอยู่ ราคาหุ้น AWC ไม่เคยต่ำกว่าราคาจอง

แต่เมื่อกรีนชูฯ สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AWC รูดลงหนักในทันที โดยปิดที่ 5.40 บาท รูดลงมา 65 สตางค์ ทั้งที่ก่อนหน้าเคยลงมาต่ำสุดที่ 6 บาท หรือลงมาเท่าราคาจองเท่านั้น

กรีนชูออปชัน เป็นเครื่องมือในการสร้างผลทางจิตวิทยา เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนเท่านั้น หรือจะมองเป็นเครื่องมือในการปั่นราคาหุ้นก็ได้ โดยทำให้นักลงทุนเชื่อว่า เมื่อมีกรีนชูฯ ราคาหุ้นจะไม่ต่ำจอง แต่ในอดีต กรีนชูฯ ก็เคยพังพินาศมาแล้ว เพราะพยุงหุ้นไม่อยู่ โดยกรีนชูฯ ซื้อหุ้นจนหมดมือแล้ว แต่ดึงให้หุ้นยืนเหนือจองไม่ได้

หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แนวโน้มการเติบโตมั่นคง กำหนดราคาเสนอขายที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องใช้กรีนชูฯ มาสร้างผลจิตวิทยาแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรนักลงทุนก็จองซื้อ

หุ้นที่มีกรีนชูฯ อาจเป็นหุ้นที่ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทแกนนำผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อาจไม่มั่นใจกับหุ้นที่เสนอขาย จึงต้องใช้กรีนชูฯ มาเป็นลูกเล่นหรือตัวช่วย

ผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา มีรายได้โตเฉลี่ยปีละ 5.5% กำไรเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีรายได้ 9,206 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท โดยพิจารณาจากผลประกอบการย้อนหลัง ถือว่าเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตมั่นคง และหุ้นที่เสนอขายในราคา 17.50 บาท มีค่า พี/อี เรโช ประมาณ 11 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำ และน่าสนใจจองซื้อ

ทุกคนที่จอง BAM ไว้ คิดเหมือนกัน ต้องทำกำไรจากหุ้นน้องใหม่ตัวนี้ และไม่น่าจะผิดหวัง ถ้าตลาดหุ้นเป็นใจ

แต่ BAM เข้ามาเคาะในกระดาน ยามที่ตลาดหุ้นเหี่ยวเฉา หุ้นแทบทั้งกระดานถูกถล่มขาย จนแม้แต่นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นไว้ ยังไม่มั่นใจว่า

BAM จะรอดพ้นผลกระทบจากกระแสความตกต่ำของตลาดหุ้นได้หรือไม่







กำลังโหลดความคิดเห็น