xs
xsm
sm
md
lg

สรุปบทเรียนจากมะกันเล่นงาน‘หัวเว่ย’ ยักษ์สมาร์ตโฟนจีนอื่นๆ รีบเร่งลงทุนด้าน ‘ชิป’

เผยแพร่:   โดย: เดฟ มาคิชุค


<i>วีโว่แถลงว่าวิศวกรด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจำนวนมากกว่า 500 คน ทำงานเป็นหุ้นส่วนกับทางซัมซุงในช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนาชิป 5จี  อีซีโนส 980 </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Smartphone firms net rewards of chip R&D
By Dave Makichuk
05/12/2019

ชิป อีซีโนส 980 ซึ่งเป็นชิป 5จี ที่ วีโว่ พัฒนาร่วมกับ ซัมซุง มีกำหนดเปิดตัวครั้งแรกบนสมาร์ตโฟน เอ็กซ์ 30 ในช่วงต่อไปของปีนี้ ขณะที่ เสียวหมี่ มี เซิร์จ 1 ชิปตัวแรกที่พัฒนาขึ้นภายในบริษัทเองตั้งแต่เมื่อปี 2017

เหมือนกับคำพังเพยในภาษาอังกฤษที่พวกปลุกใจให้มองโลกแง่ดีพูดกันนั่นแหละ ถ้าคุณมีแค่มะนาวอยู่ในมือ คุณก็ทำน้ำมะนาวสิ

ทำนองเดียวกัน พวกผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีนจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังยกขบวนเดินหน้าเข้าสู่ภาคส่วนการผลิตชิป หลังจากตระหนักถึงความสำคัญของการมีศักยภาพความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาภายในบริษัท ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีนรายงานเอาไว้เช่นนี้

ตัวอย่างเช่น วีโว่ บริษัทสมาร์ตโฟนจีนรายสำคัญรายหนึ่ง ได้จับมือเข้าร่วมกับยักษ์ใหญ่เทคเกาหลีใต้อย่าง ซัมซุง ในการเปิดตัว ชิป 5 จี ตัวใหม่ตัวหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นหลักหมายแสดงถึงความพยายามล่าสุดของฝ่ายแรกในการหันมาเน้นหนักเรื่องการส่งเสริมเพิ่มพูนศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา

ชิปตัวนี้ ซึ่งมีชื่อว่า อีซีโนส 980 (Exynos 980) เป็นการพัฒนาร่วมมือของบริษัททั้งสอง โดยมีกำหนดเปิดตัวครั้งแรกบนสมาร์ตโฟน เอ็กซ์ 30 ของวีโว่ (Vivo’s X30) ในช่วงต่อไปของปีนี้

โจว เว่ย (Zhou Wei) รองประธานบริหารของวีโว่ บอกว่าทั้งสองฝ่ายมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอีกฝ่ายหนึ่งในการปรับปรุงยกระดับประสิทธิผลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลที่ออกมาก็คือ สมาร์ตโฟนรุ่น เอ็กซ์30 ซึ่งมีชิป อีซีโนส 980 เป็นผู้ให้พลังงาน สามารถที่จะวางตลาดได้ก่อนกำหนด 2 ถึง 3 เดือน

ชิป อีซีโนส 980 นั้น สามารถใช้ได้ทั้งในโหมดการวางเครือข่าย (networking modes) แบบ non-standalone (NSA) และ stand-alone (SA) ทำให้มันกลายเป็นชิป 5จี ใช้ได้ 2 โหมด (dual-mode 5G chip) ตัวที่ 2 ตามหลัง คิริน 990 5จี (Kirin 990 5G) ของหัวเว่ย ทั้งนี้ NSA และ SA เป็นวิธีการ 2 วิธีในการสร้างเครือข่าย 5 จี โดยที่วิธีแรกยังคงพึ่งพาอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน 4จี ซึ่งมีอยู่แล้ว ให้ทำหน้าที่บางอย่างบางประการต่อไป

ปัจจุบัน สมาร์ตโฟน 5จี แทบทั้งหมดที่เปิดตัวกันไปแล้วในประเทศจีน จะใช้ได้กับโหมด NSA เท่านั้น แต่จีนมีกำหนดจะเริ่มการก่อสร้างโหมดเครือข่าย 5จี แบบ SA ในเร็วๆ นี้ จึงทำให้โทรศัพท์ 5จีจะต้องสนับสนุนได้ทั้ง 2 โหมดในอนาคตข้างหน้า รายงานชิ้นนี้ของไชน่าเดลี่ระบุ

วีโว่แถลงว่า มีวิศวกรด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจำนวนมากกว่า 500 คนทำงานเป็นหุ้นส่วนกับทางซัมซุงในช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนาชิปตัวใหม่ดังกล่าว โดยที่ฝ่ายวีโว่ได้แบ่งปันฟีเจอร์และฟังก์ชั่นต่างๆ มากกว่า 400 อย่างซึ่งสะสมรวบรวมขึ้นมาได้ให้แก่ฝ่ายซัมซุง เพื่อเป็นการตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่แพลตฟอร์มซึ่งมาจากฝ่ายเกาหลีใต้

อีซีโนส 980 มีโมเดม 5จี อยู่ในตัว (integrated 5G modem) ซึ่งทำให้มันสามารถดาวน์โหลดได้สูงสุดที่ความเร็ว 2.55 Gbps ใน sub-6 GHz spectrum นอกจากนั้นยังสามารถปรับปรุงยกระดับเรื่องประสิทธิภาพในการใช้พลังงานขึ้นมาอย่างมากมาย

ทางด้าน เสียวหมี่ คอร์ป ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีนรายใหญ่อีกรายหนึ่ง ก็กำลังระดมเพิ่มอินพุตเข้าไปในแผนกงานนี้เช่นเดียวกัน

ในปี 2014 เหลย จิว์น (Lei Jun) ผู้ก่อตั้งเสียวหมี่ ได้ให้คำจำกัดความภาคส่วนชิป ว่าเป็น “มงกุฎของภาคอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน” อีก 3 ปีต่อมา เขาก็มีเพชรเม็ดใหญ่ของตนเองเอาไว้ประดับในมงกุฎนี้ ซึ่งคือ เซิร์จ 1 (Surge 1) ชิปตัวแรกของเสียวหมี่ที่พัฒนาขึ้นมาเองภายในบริษัท

เจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีผู้นี้ ชื่นชอบและมีความทรงจำอันมีชีวิตชีวาเกี่ยวกับชั่วขณะซึ่งมีความหมายยิ่ง โดยที่มันเป็นสัญญาณแสดงว่า เสียวหมี่ได้ก้าวเข้าสู่ภาคส่วนชิปแล้ว

เขาย้อนหลังทบทวนไปถึงคืนๆ หนึ่งในเดือนกันยายน 2015 เมื่อเวลาเคลื่อนมาถึง 01.40 น. แล้วในการทดสอบ ปรากฏว่า เซิร์จ 1 สามารถทำให้เกิดการติดต่อพูดสายกันได้เป็นครั้งแรกระหว่างวิศวกรกลุ่มหนึ่งกับเหลย “หัวใจของผมกำลังพุ่งพรวดพราดด้วยความตื่นเต้นในชั่วขณะนั้น นี่แหละคือคำอธิบายว่าทำไมชิปเซ็ตตัวนี้จึงมีชื่อเช่นนี้” (เซิร์จ surge เป็นคำในภาษาอังกฤษที่แปลว่า พุ่งพรวด -ผู้แปล)

เจมส์ เหยียน (James Yan) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ เคาน์เตอร์พอยต์ เทคโนโลยี มาร์เกต รีเสิร์ช (Counterpoint Technology Market Research) บอกว่า ถึงแม้ เซิร์จ 1 ยังถือว่าเป็นชิปในระดับแรกเริ่มเข้าสู่วงการ แต่ความพยายามของเสียวหมี่ในการเดินหน้าเข้าไปในอุตสาหกรรมซึ่งมีการแข่งขันอย่างสูงเช่นนี้ ก็เป็นไฮไลต์แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองแตกต่างออกไปจากของพวกคู่แข่งทั้งโขยง และความมุ่งมั่นที่จะเสาะแสวงหาการเติบโตขยายตัวโดยผ่านนวัตกรรม

คุณสมบัติของการมุ่งแสวงหานวัตกรรมนี้ คือสิ่งที่เป็นพลังขับดันยักษ์ใหญ่เทคซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่งแห่งนี้ เมื่อช่วงปี 2014 โดยหลังจากบริษัทประสบความสำเร็จจากโมเดลการจำหน่ายที่มุ่งขายผ่านทางออนไลน์อย่างเดียวแล้ว ก็ได้ก่อตั้งแผนกงานด้านชิปของตนเองขึ้น ซึ่งก็คือ เป่ยจิง ซงกัว อิเล็กทรอนิกส์ (Beijing Songguo Electronics)

บริษัทสามารถมองเห็นได้ว่า การที่เสียวหมี่จะต้องเข้าถึงชิปได้อย่างมั่นคงไว้วางใจได้ กำลังจะกลายเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในตลาดสมาร์ตโฟนซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้

เสียวหมี่ยังได้ลงทุนในบริษัทดีไซน์ชิปหลายต่อหลายแห่งในประเทศจีน ส่วนหนึ่งก็ด้วยความวาดหวังที่จะได้เรียนรู้มากขึ้นจากเพลเยอร์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถผลิตชิปของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

ออปโป้ บริษัทสมาร์ตโฟนสำคัญสัญชาติจีนอีกรายหนึ่ง ก็กำลังกระโจนเข้าร่วมขบวนเช่นเดียวกัน เวลานี้บริษัทกำลังระดมหามืออาชีพด้านชิปเข้ามาร่วมงานเพื่อยกระดับฝ่ายออกแบบสมาร์ตโฟนของตน รวมทั้งยังกำลังทำงานในเรื่อง coprocessor ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประมวลผลที่ใช้เพื่อเพิ่มเติมสนับสนุนฟังก์ชั่นต่างๆ ของ processor ตัวหลัก

แรงจูงใจอันแรงกล้าที่ทำให้บริษัทจีนเหล่านี้เร่งรีบเข้าสู่ภาคส่วนชิป ยังบังเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯสั่งห้ามไม่ให้ หัวเว่ย เข้าถึงส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาว่าว่าเทคโนโลยีสหรัฐฯบางอย่างบางประการซึ่งพวกบริษัทจีนต้องพึ่งพาอาศัยอย่างมากมายเหลือเกินนั้น กำลังจะเข้าถึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดจัดทำแผนการที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี การวิจัยและพัฒนาชิปเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและต้องใช้จ่ายเงินทองแพงลิบ เมื่อตอนที่เสียวหมี่กำลังพิจารณาธุรกิจชิปอยู่นั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเคยบอกกับ เหลย ว่ามันเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเฉพาะชิปอย่างเดียวเท่านั้นก็จะต้องใช้เงินทองถึง 1,000 ล้านหยวน (ราว 4,300 ล้านบาท หรือ 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และหากต้องการประสบความสำเร็จก็จะต้องใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“เป็นสัญญาณที่น่าชื่นชมและก่อให้เกิดกำลังใจ ที่มีเพลเยอร์มากรายยิ่งขึ้นต้องการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการทำชิป แต่ยังคงต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่า ใครจะสามารถทำมันออกมาได้จริงๆ ในตอนท้าย” นี่เป็นคำกล่าวของ เซี่ยง หลี่กัง (Xiang Ligang ) ผู้อำนวยการใหญ่ของ สมาคมอุตสาหกรรมเทเลคอมจีนซึ่งมีชื่อว่า กลุ่มพันธมิตรการบริโภคสารสนเทศ (Information Consumption Alliance)
กำลังโหลดความคิดเห็น