xs
xsm
sm
md
lg

'แอปเปิล'แจงศาลสหรัฐฯ วิตก2ลูกจ้างชาวจีน ต้องสงสัย'จิ๊กความลับบริษัท' จะหนีกลับแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>โลโก้ของบริษัทแอปเปิล อิงก์ แขวนอยู่บริเวณทางเข้าร้านแอปเปิดแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก  (ภาพถ่ายเมื่อ 16 ต.ค. 2019)  ทั้งนี้แอปเปิลให้ปากคำต่อศาลชั้นต้นสหรัฐฯเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) ว่า วิตกอดีตลูกจ้างที่เกิดในจีน 2 คน ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาขโมยความลับทางการค้าจากบริษัท จะพยายามหลบหนีกลับไปแดนมังกร </i>
รอยเตอร์ – แอปเปิล อิงก์ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ให้การแก่ศาลชั้นต้นของสหรัฐฯที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) ว่า มีความวิตกเป็นอย่างมากว่าอดีตลูกจ้างที่เกิดในจีน 2 คน ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าขโมยความลับทางการค้าจากบริษัท อาจพยายามหลบหนีไปก่อนการไต่สวนพิจารณาคดี ถ้าหากไม่เฝ้าติดตามพวกเขาอย่างใกล้ชิด

ในการให้ปากคำแก่ศาลชั้นต้นสหรัฐฯคราวนี้ พวกอัยการที่เป็นโจทก์ระบุว่า ควรที่จะเฝ้าติดตามจำเลยทั้ง 2 คือ เสี่ยวหลาง จาง กับ จีจง เฉิน อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากในเวลานี้ทั้งคู่มีความเสี่ยงที่อาจจะหลบหนี

ทางอัยการสหรัฐฯนั้นกล่าวหา จาง ซึ่งเคยทำงานอยู่ในโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองที่ยังคงเป็นโครงการลับของแอปเปิลว่า ได้นำเอาไฟล์ข้อมูลเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ไป ก่อนที่จะเปิดเผยว่าเขากำลังจะไปทำงานกับบริษัทจีนที่เป็นคู่แข่งแห่งหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้จับกุม จาง เมื่อปีที่แล้ว ณ สนามบินซานโฮเซ ขณะที่เขกำลังจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปจีน

สำหรับเฉิน ทางอัยการกล่าวหาว่าเขาได้แอบนำเอาไฟล์ของแอปเปิลไปมากกว่า 2,000 ไฟล์ โดยเป็นไฟล์ซึ่งบรรจุ “พวกคู่มือ, แผนผัง, ไดอะแกรม, และภาพถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่แสดงหน้าต่างๆ ซึ่งเป็นความลับในฐานข้อมูลของแอปเปิล” ด้วยความตั้งใจที่จะแชร์ข้อมูลเหล่านี้กับภายนอก ทางเจ้าหน้าที่จับกุม เฉิน ในเดือนมกราคมที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งบนเส้นทางซึ่งเขามุ่งหน้าไปท่าอากาศยานนานาชาติฟรานซิสโก เพื่อขึ้นเครื่องบินไปประเทศจีน

บุคคลทั้ง 2 แต่ละคนต่างถูกตั้งข้อหาขโมยความลับทางการค้า ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ทั้งคู่ต่างปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด พวกเขาได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจับไม่นาน โดยได้รับการประกันตัวซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องยอมถูกเฝ้าติดตามตัวนับแต่นั้น

ทางด้าน แดเนียล โอลโมส ทนายความของจำเลยทั้ง 2 แถลงในวันจันทร์(9)ว่า ทั้ง 2 คนต่างมีเหตุผลความจำเป็นในด้านครอบครัวที่จะต้องเดินทางไปจีน และจวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เคยแสดงให้เห็นถึงการละเมิดเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ให้พวกเขา ก่อนการไต่สวนพิจารณาคดี

ขณะที่ มาริสซา แฮร์ริส ผู้ช่วยอัยการสหรัฐฯ เสนอเหตุผลโต้แย้งว่า หากจำเลยเหล่านี้คนใดคนหนึ่งสามารถหลบหนีไปจีนได้สำเร็จ ก็จะเป็นไปได้ยากหรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ทางเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯจะสามารถติดตามพวกเขากลับมารับการพิจารณาคดีผ่านช่องทางส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

พร้อมกันนั้นยังมีลูกจ้างของแอปเปิลจำนวน 3 คนนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาลด้วย เพื่อสนับสนุนฝ่ายอัยการ หนึ่งในนี้ได้แก่ แอนโธนี เดอมาริโอ ที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์ของกลุ่มงานความมั่นคงระดับโลกของแอปเปิล โดยที่เขายังเคยทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) มายาวนาน

แฮร์ริสได้อ่านคำแถลงของแอปเปิล ให้ เอดเวิร์ด เจ ดาวิลา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในซานโฮเซ รับฟัง

“ทรัพย์สินทางปัญญาของแอปเปิลถือเป็นแกนหลักของการพัฒนาและการเติบโตของเรา” คำแถลงนี้บอกพร้อมกล่าวต่อไปว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องให้จำเลยเหล่านี้ร่วมอยู่ในกระบวนพิจารณาคดีเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจวาจะมีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่างๆ จนถึงขั้นสุดท้าย และเรามีความวิตกเป็นอย่างมากว่า จำเลยเหล่านี้จะไม่ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้โดยตลอด ถ้าหากเปิดโอกาสให้แก่พวกเขา”

ระหว่างการดำเนินคดีคราวนี้ จางยืนรับฟังโดยมีล่ามคอยแปล โอลโมสบอกกับผู้พิพากษาว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าติดตามผ่านจีพีเอส เพื่อให้มั่นใจว่าจางจะมาปรากฏตัวในชั้นศาล

“นี่ไม่ใช่คดีจารกรรม” โอลโมส กล่าวตอบโต้ รัฐบาล “ไม่ได้กำลังขอร้องให้มีการกักขังควบคุมตัว แต่พวกเขากลับกำลังขอร้องสิ่งซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วคือการถูกเฝ้าติดตามสถานที่อยู่อย่างไม่มีกำหนด”

ด้านแฮร์ริสอ้างปากคำของภรรยาของจาง ซึ่งได้บอกกับพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯว่า สามีของเธอที่ถือกรีนการ์ดเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรในสหรัฐฯ เคยพยายามที่จะหลบหนีไปแคนาดา เมื่อตอนที่พวกเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นบ้านของเขา

ระหว่างการตรวจค้นคราวนั้น พวกเจ้าหน้าที่พบคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเครื่องหนึ่งซุกอยู่ก้นตะกร้าผ้า ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าบรรจุความลับทางการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีเธอร์เน็ตของบริษัทมาร์เวล เทคโนโลยี กรุ๊ป อันเป็นบริษัทซัปพลายเออร์ชิปที่จางเคยทำงานก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ตามเอกสารที่ยื่นในศาล

สำหรับเฉิน ซึ่งปัจจุบันเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ได้อพยพมาจากจีนเมื่อปี 1991 ก็รับฟังการพิจารณาในศาลผ่านทางล่ามแปล เขาถูกติดตามตัวด้วยอุปกรณ์เฝ้าติดตามใช้ความถี่คลื่นวิทยุ ซึ่งมีความแม่นยำน้อยกว่าการติดตามด้วยจีพีเอส

ฝ่ายอัยการกล่าวหาว่าเฉินมีความเสี่ยงที่อาจจะหลบหนี ส่วนหนึ่งเนื่องจากพวกเขาค้นพบเอกสารต่างๆ ซึ่งมาจากพวกอดีตนายจ้างหลายแห่งที่เขาเคยทำงานด้วย เป็นต้นว่า เจเนอรัล อิเล็กทริก และ เรย์ธีออน ณ บ้านพักแห่งที่ 2 ของเฉินในรัฐแมริแลนด์ ซึ่งภรรยาและบุตรชายของเขาพำนักอยู่ ฝ่ายอัยการระบุในเอกสารยื่นต่อศาลว่า พวกเขาค้นพบเอกสารปี 2011 จากเรย์ธีออนชิ้นหนึ่ง ซึ่งพวกเขาวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่า เป็นเอกสารระดับ “ลับ” อันเป็นระดับการชั้นความลับที่อยู่ในขั้นต่ำที่สุดในระบบของรัฐบาลสหรัฐฯ

“เอกสารชิ้นนี้บรรจุข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานของเรย์ธีออนในเรื่องโครงการขีปนาวุธแพทริออต และไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาเอาไว้นอกสถานที่อันมีความมั่นคงปลอดภัยของกระทรวงกลาโหม” ฝ่ายอัยการเขียนเอาไว้เช่นนี้ในเอกสารยื่นต่อศาล

ทางด้าน โอลโมส ทนายจำเลยโต้แย้งว่า เอกสารนี้ไม่ได้เป็นไฟล์ข้อมูล แต่เป็นแค่เอกสารกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น “ซึ่งวางอยู่ในกล่องใบหนึ่งที่ไหนสักแห่ง” ในบ้านของเฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น