ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รอเพียง คณะรัฐมนตรี(ครม.) เซ็นอนุมัติ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่มี “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เป็นผู้ว่าราชการ ก็จะเดินหน้าเตรียมตอกเสาเข็ม “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” นำร่อง “เฟสแรก” จาก “สะพานพระราม ๗ ถึงกรมชลประทาน” และจาก “สะพานพระราม ๗ ถึงคลองบางพลัด” กันแล้ว
ที่สำคัญคือ งานนี้ กทม.ไม่ได้สนใจเสียงคัดค้านที่ดังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงก่อนที่จะเดินหน้าโครงการ กทม.สมควรที่จะต้องตอบคำถามในทุกข้อสงสัยให้เป็นที่กระจ่างแจ้งเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่า การก่อสร้างที่ยื่นลงไปแม่น้ำเจ้าพระยาถึงข้างละ 7-10 เมตร และ “ตอม่อ” จำนวนนับไม่ถ้วนที่ปักลงไปในน้ำ ย่อมส่งผลให้เกิดสารพัดปัญหา ทั้งปัญหาต่อแม่น้ำ ปัญหาต่อระบบนิเวศน์และปัญหาที่กระทบต่อวิถีชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันยากที่หวนกลับคืนได้
กล่าวสำหรับ “ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” นำร่องระยะทาง 14 กม. ต่อมา มีการตัดเนื้องานในโครงการฯ ออกบางส่วน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ 2 พื้นที่ ทำให้เส้นทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการเหลือประมาณ 12.45 กม. งบประมาณ 8,362 ล้านบาท แบ่งสัญญาออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้
ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 - กรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. งบ 1,770 ล้านบาท, ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน - คลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม. งบ 2,470 ล้านบาท, ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. งบ 2061.5 ล้าน และ ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด - คลองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม. งบ 2061.5 ล้านบาท
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กทม. จะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ เฟสแรก ช่วงที่ 1 (ฝั่งพระนคร) จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน พื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิต และช่วงที่ 3 (ฝั่งธนบุรี) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด นำร่องพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ รูปแบบทางเลียบเจ้าพระยาเป็นทางเดินและทางจักรยาน ลักษณะพื้นผิวคอนกรีตกว้างฝั่งละ 6 - 10 เมตร ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาแคบลงประมาณ 20 เมตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญคือจะมีการ “ตอม่อ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฝ่ายวิศวกรรมสรุปว่าจะใช้เสาสปัน (เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง) แบบกลมมน วางคู่ 2 ต้น ระยะห่างต่อช่วง 18 - 19 เมตร โดยฝ่ายวิศวกรรมอ้างว่า ขนาดของตอม่อจะกระทบต่อการไหลเวียนของน้ำน้อย ลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งขนาดของเสาเข็มเมื่อเทียบกับความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลค่าเฉลี่ยความกว้างแม่น้ำลดลงประมาณร้อยละ 1
ส่วน “ความสูง” ทางเดินและทางจักรยานจะอยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.25 เมตร และต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบัน ประมาณ 1 เมตร ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมเกาะกลางเพื่อเป็นเขตกั้นระหว่างทางเดินกับทางจักรยาน มีจุดแลนด์มาร์คเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ กทม. ว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ
สำหรับ เมกะโปรเจ็กต์พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ “Chao Phraya for All” โดยแผนแม่บทกำหนดเส้นทางและพื้นที่ของโครงการพาดผ่าน 2 ฝั่ง ลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 140 กม. แบ่งเป็น 8 โครงการใหญ่ ตั้งธงไว้เมื่อปี 2558 ในยุคคณะรักษาความสงบ (คสช.)
ภาพรวมโครงการฯ ประกอบด้วย 12 แผนงาน 1. แผนงานทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2. แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 3. แผนงานพัฒนาท่าเรือ 4. แผนงานพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5. แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ 6. แผนงานพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ 7. แผนงานปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8. แผนงานพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9. แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10. แผนงานการพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 11. แผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 12. แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
“กระทรวงมหาดไทย” มอบหมายให้ “กรุงเทพมหานคร (กทม.)” โดย “สำนักการโยธา กทม.” รับหน้าที่ดูแลเขตพื้นที่ตัวเองระยะทางสองฝั่งรวม 57 กม. ตั้งแต่ช่วงสะพานพระราม ๗ ถึง สุดเขต กทม. บริเวณคลองลัดโพธิ์ โดยมี “พื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กม. จากสะพานพระราม ๗ ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” ที่กำลังจะก่อสร้างเร็วๆ นี้
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ทำวิจัย ออกแบบ และโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อธิบายถึงความถึงความเป็นมาของทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เดิมที สำนักโยธาฯ กทม. ว่าจ้างบริษัทเอกชนจัดทำเป็นถนนสำหรับรถยนต์ แต่เมื่อกระแสต่อต้าน กระทั่งนำมาสู่การศึกษาผลกระทบโดยสถาบันทางวิชาการ ปรับรูปแบบเป็นทางเดินและทางจักรยาน โดยมีเป้าหมาย “ธง” แล้วว่าต้องมีทางพาดผ่าน 2 ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา
“TOR เขียนไว้แล้วว่าต้องเป็นการออกแบบทำทางเลียบสองฝั่ง เพราะรัฐต้องการที่จะจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม อีกอย่างคือเอาทางเลียบนี้ไปควบคุมไม่ให้อะไรล้ำลงไปในที่สาธารณะเพิ่ม ตอนแรกเขาเริ่มจากทำกำแพงกันน้ำท่วมก่อน ไม่ได้ออกแบบอะไร เป็นกำแพงปูนเลย ทัศนียภาพก็เสียไปหมด ต่อมาจึงให้ศึกษารูปแบบใหม่ แต่ให้ตัวทางเลียบคล้ายเข็มรัดไม่ให้เกิดการลามเข้าไปบนน้ำ” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว
หัวใจของการสร้างทางเลียบแม่น้ำ เพื่อทำพื้นที่สาธารณะริมน้ำให้เข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม แก้ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่พักผ่อนนันทนาการเดินเล่นและปั่นจักรยาน
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โพตส์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ตัดทอนใจความสำคัญความว่า
“ถึงที่สุดแล้วต้องเขียนถึงโครงการศึกษาและออกแบบผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสำนักการโยธา กทม.ว่าจ้าง สจล. และ ม ขอนแก่น ศึกษาและออกแบบ เมื่อปี 2559 เป็นโครงการนำร่องออกแบบในระยะ 14 กิโลเมตร แรกของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ผ่าน กทม.
“…สจล. ทำกระบวนการศึกษา เก็บข้อมูลรอบด้าน ซึ่งกระบวนการนี้ ได้รับรางวัลด้าน Inclusive Design จาก International Association for Universal Design รวมถึง เสนอรูปแบบการออกแบบในระยะ 14 กม. แรก ด้วยงบประมาณ 8,000 ล้านบาท...
“...จากประสบการณ์ดังกล่าว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า เจตนารมณ์ของโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่าน กรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะได้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น ที่จะเข้าถึงพื้นที่ดีๆ ริมแม่น้ำอันเป็นสาธารณะได้
“แต่ด้วยความเป็นรัฐ ที่อ่อนแอ รวมถึงการได้มาของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้ง การบริหารงานเมืองขนาดใหญ่ ของ กทม. ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ รวมทั้ง ความเอนเอียงของนักวิชาการ นักวิชาชีพบางกลุ่ม ที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน พวกพ้อง ที่ได้ประโยชน์จากเอกชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้ข้อมูลที่รอบด้านในการรณรงค์ต่อต้าน การพัฒนาที่ดินสาธารณะในประเทศไทย จึงเป็นไปได้ยากมาก...” ผศ.ดร.อันธิกาให้ความเห็น
ทั้งนี้ แม้มีแนวคิดที่ดี แต่ในภาคปฏิบัติโครงการยักษ์ได้สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย รวมทั้งก่อผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในหลายประเด็น ทำให้ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ท่ามกลางกระแสคัดค้านต่อต้านของ “สมัชชาแม่น้ำ ( River Assembly)” ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายต่างๆ อาทิ เครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน เครือข่ายชุมชน เครือข่ายการพัฒนาลุ่มน้ำ เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม
กระทั่ง ช่วงปลายปี 2561 สมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายยื่นหนังสือฟ้องร้องต่อ “ศาลปกครอง” เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยโครงการฯ มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศในกรณีที่โครงการเริ่มดำเนินแล้ว และให้ ครม. มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อดำเนินการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
“ปัจจุบันเรื่องการฟ้องให้ยกเลิกโครงการนี้ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง เหตุใด กทม. จึงเร่งรีบนัก ทั้งที่ยังมีผู้ค้านหลายราย และทราบมาว่าได้รับใบอนุญาตจากเจ้าท่า ทั้งๆ ที่เจ้าของที่ดินบางรายยังไม่ยินยอม ส่วนช่วงที่ผ่านโบราณสถาน กรมศิลปากรก็ทักท้วงให้มีการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับจะมาเริ่มดำเนินการก่อน” นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง ผู้มีบทบาทในการดำเนินการยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง กล่าว
พร้อมเปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังศาลปกครองรับคำฟ้อง ซึ่งทางภาครัฐ กทม. ได้ทำเอกสารโต้แย้ง โดยยืนยันทำงานถูกต้องครบถ้วนและประชาชนได้มีส่วนร่วม ทั้งยังแนบรายงานที่ไม่เคยเปิดเผยประกอบด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างมากนัก
“โครงการนี้มีหลายแผนงานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แม่น้ำ มีความอ่อนไหวในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ประชาชนควรได้ศึกษาก่อน การดำเนินงานมีข้อบกพร่องทางกระบวนการ ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม ...อ้างว่าทำครบ แต่ควรต้องทำอย่างเคารพสิทธิในข้อมูลข่าวสารของผู้เข้าร่วมด้วย ไม่ใช่ให้เราไปตามขอ หาเอาเอง และที่ผ่านมาเราเคยทำหนังสือขอ แต่เขาไม่ให้” นางภารนี ระบุ
ในประเด็นนี้ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เป็นตัวแทนสมัชชาแม่น้ำอันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร กล่าวแสดงจุดยืนคัดค้านฯ ระบุหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างหนักหนาสาหัส และเรียกร้องให้ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการฯ
สมัชชาแม่น้ำให้เหตุผลประกอบการคัดค้านไว้ 5 ประการดังนี้
1. สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ทั้งที่ กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร
3. แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
4. การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเชาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม. ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต
5. ล่าสุดจากการที่ กทม. ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม.กล่าวอ้าง
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมัชชาแม่น้ำ จึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ สมัชชาแม่น้ำ จึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการฯ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง
รวมทั้งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กระบวนการ EIA ของโครงการฯ มีความสมบูรณ์เพียงใด เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตเรื่องขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้ง โครงการฯ จะต้องทำ EIA จำนวน 12 แผนงาน แต่ส่งคณะทำงานลงไปศึกษาเพียง6 แผนงาน กลายๆ ว่า EIA ยังไม่ผ่าน ยังไม่ทันศึกษาผลกระทบรอบด้าน แต่กลับเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา
ด้าน รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการเพิ่มพื้นที่ริมแม่น้ำว่าควรเลือกพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน และใช้พื้นที่รัฐเป็นตัวอย่างในการเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงได้ และค่อยขยายไปยังเอกชนที่เห็นด้วยในการที่จะเปิดพื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ
ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง มีการเปิดช่องไว้ให้ทำ เรียกว่า “ที่อุปกรณ์” แต่ภาครัฐไม่ใส่ใจประเด็นนี้ทั้งที่สามารถให้เอกชนลงทุนดูแลบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะได้ แลกกับสิทธิบางอย่างที่ภาครัฐจะให้ อย่างในญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการเช่นนี้ในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชน โดยแลกสิทธิที่ภาคเอกชนจะได้รับในการดูแลพื้นที่สาธารณะ โดยที่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของเอกชนอยู่
"ไม่ควรนำสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่แปลกแยกไม่เข้ากับบริบท เช่น ทางเดินริมน้ำหลาย 10 กิโลเมตรมาก่อสร้างรุกล้ำอีกครั้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยาและขวางกั้นความเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนและสายน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะลดทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เสื่อมลง สมควรที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะโบราณสถานของชาติโดยด่วน" ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ท่ามกลางกระแสคัดค้านด้วยข้อกังวลและความกังขาในประเด็นต่างๆ กทม. ยังคงเดินเครื่องเร่งรัดก่อสร้าง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยอ้างคำสั่ง ก.มหาดไทย ดำเนินการตาม มติ ครม. ปี 2558
ท้ายที่สุด คงต้องจับตาดูว่าโครงการจะเดินหน้าต่อไป หรือกลับมาทบทวนเพื่อปรับปรุงให้สอดรับกับข้อท้วงติงต่างๆ อย่างรอบคอบ