ค้านเดือด! หลังเตรียมตอกเสาเข็ม “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” กว้างฝั่งละ 6-10 เมตร ทางเดินสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2.25 เมตร เทียบเท่าชั้น 2 ของบ้าน! ด้าน นายกสมาคมนักผังเมือง วิเคราะห์ผลกระทบ “บดบังทัศนียภาพ-อันตรายต่อชุมชน-อุปสรรคต่องานบรรเทาสาธารณภัย” เชื่อทางเลียบริมน้ำสร้างได้ แต่ควรสร้างแค่บางจุด ไม่ใช่ตลอดแนว!
สร้าง “ทางเลียบ” กระทบ “วิถีชุมชน”
“คุณกำลังทำลายภาพจำทั้งหมดที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย โดยบอกว่ากำลังทำสิ่งแปลกประหลาดอันหนึ่ง ซึ่งไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งที่ของเดิมมันก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่แล้ว”
“พนิต ภู่จินดา” นายกสมาคมนักผังเมืองไทย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านมุมมองของนักผังเมืองที่วิเคราะห์ผลกระทบของการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งได้เตรียมตอกเสาเข็มแรก จาก “สะพานพระราม 7 - กรมชลประทานสามเสน (ฝั่งพระนคร)” และ “สะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด(ฝั่งธนบุรี)” รวมระยะทางทั้งสิ้น 14 กม.
โครงการที่ว่าริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 58 แม้จะมีการรวมตัวคัดค้านจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำมาตลอด แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าแผนการข้างต้นจะถูกพับเก็บไปเสียที ซึ่งจากแบบที่เผยแพร่เป็นทางเดินและทางจักรยาน ประกอบด้วยสวนและพื้นที่หย่อนใจ
บนโครงสร้างคอนกรีตที่ยื่นลงสู่แม่น้ำ ความกว้างฝั่งละ 6 - 10 เมตร และมีเสาคอนกรีตคู่ ในขณะที่ทางเดินเท้าและจักรยานจะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2.25 เมตร และจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร
ในสายตาของนักผังเมือง มองว่า เรื่องนี้นำมาสู่ผลกระทบหลายส่วน ทั้งเรื่องความไม่เป็นส่วนตัวของชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ความปลอดภัย รวมถึงเป็นอุปสรรคต่องานบรรเทาสาธารณภัยที่ใช้ทางน้ำ
“อย่างแรก มันจะทำให้ความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนและชุมชนบริเวณนั้นต้องสูญเสียไป เพราะระดับของทางเดิน ทางจักรยานอยู่ในระดับชั้น 2 ของบ้าน ซึ่งการเปิดใช้เพื่อเป็นทางเดินหรือทางจักรยานจะมีคนวิ่งตั้งแต่ ตี 4 หมายความว่าจะมีคนวิ่ง มีคนภายนอกมาส่งเสียงในช่วงเช้าตรู่ที่กำลังหลับ
หรือบางคนวิ่ง-ปั่นจักรยานในช่วง 4 ทุ่ม ข้างห้องนอนของคุณ หรือมีการเปิดไฟแล้วส่องเข้าไปในห้องนอนคุณตลอดเวลา และนำมาซึ่งโจรขโมยที่ปีนเข้าไปในห้องส่วนตัวชั้น 2 ได้โดยง่าย
ประเด็นที่สอง เรายอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำมีคุณค่า ควรจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเข้าไปใช้งานได้ แต่ไม่ใช่ตลอดแนวแม่น้ำ มันไม่จำเป็นต้องตลอดแนว ถามว่าถ้ามี ก็ควรมีเป็นจุดๆ ไป และสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
เรามีที่ดินของรัฐจำนวนมากนะครับที่อยู่ริมแม่น้ำ ผมไม่ได้บอกให้รื้อย้ายออกไปนะ แต่สามารถออกแบบบางส่วนให้เป็นพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ตามจุดที่ไม่รบกวนชุมชนได้ ไม่เห็นจะต้องมีตลอดแนวเลย เราสามารถมีพื้นที่ริมน้ำที่ดีได้ โดยมีรัฐเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำให้กับประชาชน
ต่อมา คือประเด็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย คือต้องมีไฟฟ้า มีคนในการรักษาความปลอดภัย ทางเลียบแม่น้ำก็เหมือนกับสะพานลอยในช่วงกลางคืนที่ไม่มีคนใช้งาน มันไม่ใช่แค่ไม่ปลอดภัยอย่างเดียว แต่ถ้านำจักรยานขึ้นไปได้ก็แปลว่ารถมอเตอร์ไซด์ก็ต้องขึ้นไปได้เช่นกัน
ประเด็นที่สี่ เราเคยใช้การขนส่งทางน้ำเป็นพื้นที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น การลำเลียงคนเจ็บป่วย การดับเพลิง ซึ่งเรือช่วยเหลือเฉพาะกิจ สามารถเข้าถึงแปลงที่ดินริมน้ำได้โดยตรง
แต่ทางเดิน ทางจักรยานจะทำให้ประสิทธิภาพในการเข้าถึงในยามฉุกเฉินลดลง เพราะมีทางเดิน ทางจักรยานมากีดขวาง”
ที่สำคัญ สังคมค่อนข้างเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องของการบดบังทัศนียภาพ ซึ่ง พนิต ย้ำกับทีมข่าวว่า ภาพจำของแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลียบตรงนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่องการท่องเที่ยว
“ประเด็นถัดมาคือเรื่องของ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และภาพจำของแม่น้ำของไทยจะเปลี่ยนแปลงไป ต้องเข้าใจก่อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย สิ่งที่เขาอยากเห็นจากประเทศไทยคือสิ่งที่เขาไม่มี แน่นอนเราบอกว่าประเทศอื่นมีทางเลียบริมน้ำ
เพราะที่ริมน้ำของเขาเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่มีบ้านอยู่ แต่คิดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเขาอยากมาเห็นแบบที่ประเทศเขามีไหม เขาอยากเห็นพระปรางค์วัดอรุณ พระบรมมหาราชวังโดดเด่นเป็นสง่า
โดยมีอาคารหลังเล็กๆ เป็นบ้านคนอยู่ใกล้ๆ กับวัดอย่างกลมกลืน นั่นคือวิถีไทย เขาจึงอยากมาล่องเรือเพื่อดูวิถีไทย ไม่ใช่ล่องเรือเพื่อดูทางริมน้ำ เหมือนอย่างที่ประเทศเขามี เขาไม่ต้องการ
และสุดท้าย คือ เป็นโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ และไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทอื่นๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4
ที่คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในปี 2563 ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อโครงสร้างการสัญจรของเมืองเป็นอย่างมากขนาดนี้”
“เจ้าพระยา” เป็นของคนไทยทุกคน
แม้บางความเห็นจะมองว่าการเดินหน้าโปรเจ็ก “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” อย่างเต็มกำลังก็เพื่อปรับโฉม และสร้างจุดพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำให้คนเมือง คล้ายทางเลียบแม่น้ำในหลายๆ ประเทศ ด้าน พนิต ได้สะท้อนว่าแม่น้ำในไทยและต่างประเทศมีความแตกต่าง จากตรงนี้ไม่สามารถวัดได้ว่าการมีทางเลียบแม่น้ำจะทำออกมาได้ดี
“น้ำ แม่น้ำของประเทศไทย ไม่เหมือนแม่น้ำของประเทศอื่น แม่น้ำแทบเส้นศูนย์สูตร น้ำมีสภาพเป็นของเหลวตลอดทั้งปี ไม่เหมือนประเทศที่อยู่ในยุโรปที่หน้าหนาวน้ำเป็นน้ำแข็ง ของเราระดับน้ำก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะในแต่ละช่วงของฤดูกาล
คนไทยเมื่อก่อนเป็นคนเก่ง คือ สามารถปรับตัวเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงของน้ำ จึงสร้างบ้านแบบสะเทินน้ำสะเทินบกอยู่ริมแม่น้ำได้ ฉะนั้น น้ำสำหรับคนไทยเป็นน้ำที่มีความคงทนถาวร มีสภาพเป็นน้ำตลอดทั้งปี แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เราจึงใช้ประโยชน์จากน้ำหน้าบ้าน และแหล่งทรัพยากร
ในขณะที่ประเทศอื่น น้ำเป็นสิ่งที่เป็นตัวอันตรายสำหรับเขา เช่น น้ำในช่วงที่เป็นน้ำแข็ง น้ำขึ้น น้ำเปลี่ยนแปลงระดับมากในช่วงฤดูกาลที่แตกต่างกัน หน้าฝนน้ำอาจจะขึ้นสูง หน้าแล้งน้ำอาจจะหายไปเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานในความคิดที่แตกต่างกัน
ประเทศไทยจึงอยู่ใกล้น้ำได้มากกว่าประเทศอื่น แต่เรากำลังจะเอาวิถีของประเทศที่น้ำเปลี่ยนแปลงมากๆ ของประเทศอื่นมาใส่ในประเทศไทย ซึ่งประเทศอื่นเขากันพื้นที่ริมน้ำ เพราะพื้นที่ริมน้ำเขามีความเสี่ยง น้ำไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับเขา และไม่ได้คงที่แบบบ้านเรา”
อย่างไรก็ดี พนิต ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคน เป็นพื้นที่สาธารณะของคนไทยที่ควรค่าแก่การรักษา และอนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำไว้มากกว่าเข้าไปเปลี่ยนแปลงภาพจำที่ดีงาม
“เจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีคนใช้มาก หรือใช้น้อย มันก็เป็นของคนไทยทุกคน สิ่งที่คุณเป็นเจ้าของไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปเอามันมาเก็บใส่กระเป๋ากางเกงไว้
บางคนใช้น้ำมาก บางคนใช้น้ำน้อย คนที่ใช้งานมากเนื่องจากช่วงเวลาในสมัยก่อน เขาสามารถดื่มได้ และไม่ได้ทำลายอะไรมันก็ยังเป็นเจ้าของมันอยู่ คนที่ไม่ได้ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเลย แต่เป็นคนไทยก็เป็นเจ้าของเช่นกัน ความเป็นเจ้าของคุณไม่ได้หายไป มันคือพื้นที่สาธารณะของคนไทย”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **