กทม.ยันโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนมีส่วนร่วม ลงคุยกับคนในพื้นที่มากกว่า 400 ครั้ง ส่วนผลกระทบด้านต่างๆ มีการศึกษาแล้วรอบด้าน ไม่กระทบวิถีชีวิต ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่ช่วยประชาชนเข้าถึงแม่น้ำสะดวกขึ้น ย้ำเสาเข็มทำความกว้างแม่น้ำลด 1% ไม่กระทบการไหลของน้ำ
จากกรณี นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ แถลงการณ์คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุสมาคมสถาปนิกสยาม องค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่าย จำนวน 32 องค์กร ขอคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ หรือ FOR ระบุโครงการนี้มีหลายฝ่ายทักท้วง แต่มีความพยายามจะผลักดันโครงการฯ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีการปกปิดข้อมูลผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆ นั้น
วันนี้ (28 พ.ย.) นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีที่มาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างทั่วถึง โดยพื้นที่ริมแม่น้ำกว่าร้อยละ 90 ถูกครอบครองโดยร้านอาหาร โรงแรม บางจุดเป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีการบุกรุกและปลูกสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นที่สาธารณะที่ทุกคนควรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนกรณีที่สมัชชาแม่น้ำระบุว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายังขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางและขาดการเปิดเผยข้อมูลนั้น กทม.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน ด้วยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนมากกว่า 400 ครั้ง และเผยแพร่ข้อมูลโครงการผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ได้รับมาประกอบการดำเนินโครงการและพิจารณาปรับแก้แผนแม่บทและรูปแบบโครงการให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายไทวุฒิกล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ กทม.ได้พิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้านและเป็นไปตามหลักวิชาการแล้วว่า การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิต การประกอบธุรกิจ การประกอบอาชีพ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม แต่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างสะดวกมากขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำ รวมทั้งสามารถใช้ระบบโครงข่ายของทางเดินริมแม่น้ำเชื่อมต่อการสัญจรกับระบบ รถ ราง เรือ จักรยาน และคนเดินเท้า ขณะที่รูปแบบของทางเดินและทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบันประมาณ 1 เมตร จึงไม่บดบังทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขนาดของเสาเข็ม เมื่อเทียบกับความกว้างเฉลี่ยของแม่น้ำเจ้าพระยา ความกว้างแม่น้ำลดลงประมาณร้อยละ 1 ดังนั้น เสาทางเดินจะไม่กระทบต่อการไหลของน้ำ
นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงระบบการขนส่งทางน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงจัดให้มีระบบป้องกันมิให้จักรยานยนต์ และหาบเร่แผงลอยเข้ามาในบริเวณทางเดินริมแม่น้ำ มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ไฟฟ้าแสงสว่าง การตรวจตราสอดส่อง ตลอดจนจัดให้มีศูนย์บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและดูแลเรื่องความปลอดภัย จะเห็นได้ว่า กทม.มีกระบวนการดำเนินงานและการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ตลอดจนมีการพิจารณาวางแนวทางแก้ไขข้อกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม กทม.ยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลจากทุกภาคส่วน โดยสามารถให้ข้อคิดเห็นผ่านช่องทาง Line @อัศวินคลายทุกข์ หรือสายด่วน กทม.1555