xs
xsm
sm
md
lg

35องค์กรรวมตัวต้านทางเลียบเจ้าพระยา-ทำลายประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - สมัชชาแม่น้ำ รวมตัวค้าน "ทางเลียบเจ้าพระยา" หยุดทำถนนลงแม่น้ำ ชี้ทำลายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ย้ำไม่ได้เป็นปรปักษ์ ประชาชนควรเข้าถึงริมน้ำได้ แต่ไม่ใช่ตลอดแนวหลาย 10 กม. เหตุสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ไม่เข้ากับวิถีชีวิตลงไปในแม่น้ำ ซ้ำทำพื้นที่ชุมชนริมน้ำไม่สงบและไม่ปลอดภัย การป้องกันสาธารณภัยทำได้ยากขึ้น แนะรัฐเปิดพื้นที่ตัวเองเป็นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงริมแม่น้ำก่อน ส่วนพื้นที่มีกฎหมาย "ที่อุปกรณ์" แลกสิทธิทำที่สาธารณะได้

วานนี้ (3 ธ.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สมัชชาแม่น้ำและเครือข่าย 35 องค์กร จัดแถลงการณ์ "หยุด! ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" เพื่อคัดค้านโครงการทางเลียบเจ้าพระยา โดยมีการกางป้ายขนาดยักษ์บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ โดยระบุว่า ทางเลียบเจ้าพระยาพัฒนาหรือทำลาย เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วย

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) กล่าวว่า ตามที่ นายนิรันตร์ ประติษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวว่า กทม.พร้อมเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว อีกทั้งโครงการนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมัชชาแม่น้ำอันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการ

1.ทางสมัชชา เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา 2. กทม.มีอำนาจในการแก้ปัญหาเรื่องรุกล้ำ แต่กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร 3.การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน 4.กรณีเกิดอุทกภัย จะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ และ 5.ล่าสุดจากการที่ กทม.ตัดโครงการจาก 14 กิโลเมตร(กม.)เหลือความยาว 12.45 กม.เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบ

ดังนั้น จากเหตุผลข้างต้น สมัชชาแม่น้ำ เห็นว่า หากดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอคัดค้านโครการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการฯ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง

" หากกทม.ยังไม่หยูดำเนินการ เราจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ จะดำเนินการจนถึงที่สุดแน่นอน แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบ ไม่ใช้อารมณ์ เราไม่ได้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและกทม. เราทำในฐานะภาคประชาสังคม ที่รักและอยากเห็นส่งที่ดีที่ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป สำหรับการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ซึ่งขอให้พิจารณาเพราะเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนโครงการ ศาลได้รับคำร้องไว้แล้ว และส่งเอกสารของผู้ฟ้องให้แก่ผู้ถูกฟ้อง คือ คณะรัฐมนตรี และ กทม. ทั้งนี้ ในเอกสารโต้แย้งคัดค้านที่กลับมา ทางเราจะทำข้อโต้แย้งยื่นภายในกลางเดือนมกราคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือข้อกฎหมาย"

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสนอแนะรัฐ ที่มีพื้นที่ติดริมน้ำ ควรเป็นตัวอย่างที่สามารถทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าไปใช้งานได้ เข้าไปชื่นชมมุมมองริมแม่น้ำได้ โดยไม่ต้องไปผ่านหน้าบ้านคนอื่น ส่วนเหตุผลที่ต้องทำทางเลียบแม่น้ำลงไปในแม่น้ำผ่านพื้นที่ของรัฐ เพราะพื้นที่รัฐเองก็ไม่ยอมให้ใช้ ดังนั้น ถ้าใช้พื้นที่ของรัฐเหล่านั้นเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ก็ไม่จำเป็นต้องทำทางเลียบแม่น้ำเลย

"เมื่อรัฐเปิดกว้าง และเมื่อทำแล้ว ก็อาจจะค่อยขยายไปยังพื้นที่ของเอกชนที่เห็นด้วยในการที่จะเปิดพื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ก็มีการเปิดช่องไว้ให้ทำ ที่เรียกว่า "ที่อุปกรณ์" แต่ภาครัฐไม่เคยใช้ตรงนี้เลย ทั้งที่สามารถให้เอกชนลงทุน ดูแลบริหารจัดการพื้นที่สาธาณะได้แลกกับสิทธิบางอย่าง ที่ภาครัฐจะให้ อย่างในญี่ปุ่นใช้วิธีการเช่นนี้ ในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชน โดยแลกสิทธิที่ภาคเอกชนจะได้รับในการดูแลพื้นที่สาธารณะ โดยที่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของเอกชนอยู่"รศ.ดร.พนิต กล่าว

นายวีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อไม่มีแผนการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่เหล่านั้น เพราะมีการไล่รื้อผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมออกไปแล้ว เราไม่เชื่อ กทม.จะดูแลเองได้ทั้งหมด เพราะหลายพื้นที่ก็เคยมีการทำเช่นนี้ ก็ไม่สามารถจัดการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น