xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาแม่น้ำรวมตัวค้าน "ทางเลียบเจ้าพระยา" หยุดทำถนนลงน้ำ จี้รัฐเปิดพื้นที่สาธารณะริมน้ำเป็นตัวอย่างก่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมัชชาแม่น้ำ รวมตัวค้าน "ทางเลียบเจ้าพระยา" หยุดทำถนนลงแม่น้ำ ชี้ทำลายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ย้ำไม่ได้เป็นปรปักษ์ ประชาชนควรเข้าถึงริมน้ำได้ แต่ไม่ใช่ตลอดแนวหลาย 10 กม. เหตุสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ไม่เข้ากับวิถีชีวิตลงไปในแม่น้ำ ซ้ำทำพื้นที่ชุมชนริมน้ำไม่สงบและไม่ปลอดภัย การป้องกันสาธารณภัยทำได้ยากขึ้น แนะรัฐเปิดพื้นที่ตัวเองเป็นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงริมแม่น้ำก่อน ส่วนพื้นที่มีกฎหมาย "ที่อุปกรณ์" แลกสิทธิทำที่สาธารณะได้

วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สมัชชาแม่น้ำและเครือข่าย 35 องค์กร จัดแถลงการณ์ "หยุด! ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" เพื่อคัดค้านโครงการทางเลียบเจ้าพระยา โดยมีการกางป้ายขนาดยักษ์บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ โดยระบุว่า ทางเลียบเจ้าพระยาพัฒนาหรือทำลาย เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วย


นายอัชชพล  ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) กล่าวว่า ตามที่ นายนิรันตร์ ประติษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวว่า กทม.พร้อมเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะแรกช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึง คลองรอบกรุง ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึง คลองบางพลัด และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึง คลองบางยี่ขัน โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่ว อีกทั้งโครงการนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมัชชาแม่น้ำอันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการด้วยเหตุผลดังนี้

1.สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา 2.ทั้งที่ กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร  3.แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน

4.การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเชาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม.ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต  5.ล่าสุดจากการที่ กทม.ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม.กล่าวอ้าง จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมัชชาแม่น้ำ จึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ สมัชชาแม่น้ำ จึงขอคัดค้านโครการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการฯ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง


เมื่อถามว่า หากกทม.ยังไม่หยุดดำเนินการจะยกระดับการเคลื่อนไหวอย่างไร  นายอัชชพล กล่าวว่า เราจะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ จะดำเนินการจนถึงที่สุดแน่นอน แต่จะค่อยๆ ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่ทำด้วยการใช้อารมณ์ เราไม่ได้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลและ กทม. เราทำในฐานะภาคประชาสังคมที่รักและอยากเห็นส่งที่ดีที่ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป สำหรับการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ซึ่งขอให้พิจารณาเพราะเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนโครงการ ศาลได้รับคำร้องไว้แล้ว และส่งเอกสารของผู้ฟ้องให้แก่ผู้ถูกฟ้อง คือ คณะรัฐมนตรี และ กทม. ซึ่งผู้ถูกฟ้องก็ได้ทำเอกสารโต้แย้งกลับมาให้เราทไข้อโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งเราจะทำข้อโต้แย้งคัดค้านนี้ยื่นภายในกลาง ม.ค. ซึ่งได้มีการหารือกับทีมกฎหมายอยู่ แต่จากเอกสารโต้แย้งที่ส่งพบว่า ยังเป็นการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วนและพอเพียง แต่อยู่ที่ศาลพิจารณา

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำมีผลกระทบในการพัฒนาเมืองแน่นอน หลักๆ มี 6 เรื่อง คือ 1.ทำให้ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำขาดความเป็นส่วนตัว เพราะทางเลียบจะอยู่ในระดับชั้น 2 ของบ้านริมน้ำ เมื่อมีคนมาวิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยานตั้งแต่เวลาเช้ามืด เสียงก็จะรบกวนเข้าไปในพื้นที่บ้าน แสงไฟตามเสาไฟฟ้าก็จะแยงเข้าไป โอกาสที่โจรขโมยจะปีนข้ามไปห้องนอนก็ทำได้ง่ายขึ้น ชุมชนริมน้ำที่เคยใช้พื้นที่ริมน้ำได้ ก็จะหายไป  2.ประชาชนทั่วไปควรใช้พื้นที่ริมน้ำได้จริง แต่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลอดแนวแม่น้ำทั้ง 14 กิโลเมตร แต่รัฐที่มีพื้นที่ติดริมน้ำ ควรเป็นตัวอย่างที่สามารถทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าไปใช้งานได้ เข้าไปชื่นชมมุมมองริมแม่น้ำได้ โดยไม่ต้องไปผ่านหน้าบ้านคนอื่น ส่วนเหตุผลที่ต้องทำทางเลียบแม่น้ำลงไปในแม่น้ำผ่านพื้นที่ของรัฐ เพราะพื้นที่รัฐเองก็ไม่ยอมให้ใช้ ดังนั้น ถ้าใช้พื้นที่ของรัฐเหล่านั้นเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ก็ไม่จำเป็นต้องทำทางเลียบแม่น้ำเลย


รศ.ดร.พนิต กล่าวว่า 3.เรื่องงบประมาณ ไม่ใช่แค่เรื่องการก่อสร้าง แต่รวมถึงการรักษาความปลอดภัย ทั้งไฟฟ้า การป้องกันรถขึ้นไปวิ่ง โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ การบังคับพื้นที่นี้ให้เป็นทางเดินและจักรยานเท่านั้น แปลว่าจะต้องเสียกำลังคน งบประมาณและเทคโนโลยี 4.ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยริมน้ำลง เพราะทางเลียบแม่น้ำจะทำให้ระยะฉีดน้ำของเรือดับเพลิงสั้นลง  5.เป็นการทำลายภาพจำของต่างชาติที่ฉายออกไปทั่วโลก ซึ่งเอกลักษณ์ริมแม่น้ำต่างของไทยจากประเทศอื่นที่มีพื้นที่สาธาณะตลอดแนวแม่น้ำ ซึ่งคนต่างชาติที่บอกว่าจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ได้อยากมาดูทางเลียบแม่น้ำที่ชาติเขามี แต่มาเพราะอยากเห็นพระปรางค์วัดอรุณ พระบรมมหาราชวัง เป็นโดดเด่นอยู่กับบ้านเรือนหลังเล็กๆ ริมแม่น้ำ ทางเลียบแม่น้ำจะทำลายเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะของบ้านนี้เมืองนี้ ด้วยวิธีคิดที่ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ และ 6.โครงการนี้จะเป็นโครงการโดดเดี่ยว เพราะโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องไม่ได้มีเพียงหน่วยงานเดียวรับผิดชอบ แต่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมือง แต่ไม่มีแผนใดของหน่วยงานอื่นที่พูดถึงทางเลียบแม่น้ำเลย ทั้งแผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ ไฟฟ้า ประปา เมื่อเกิดโครงการขึ้นมา การซ่อมบำรุงต่างๆ จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่นกัน

"การเพิ่มพื้นที่ริมแม่น้ำ มองว่าควรเลือกพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน และใช้พื้นที่รัฐเป็นตัวอย่างในการเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงได้ และค่อยขยายไปยังเอกชนที่เห็นด้วยในการที่จะเปิดพื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ก็มีการเปิดช่องไว้ให้ทำ ที่เรียกว่า "ที่อุปกรณ์" แต่ภาครัฐไม่เคยใช้ตรงนี้เลย ทั้งที่สามารถให้เอกชนลงทุน ดูแลบริหารจัดการพื้นที่สาธาณะได้ แลกกับสิทธิบางอย่างที่ภาครัฐจะให้ อย่างในญี่ปุ่นก้ใช้วิธีการเช่นนี้ในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชน โดยแลกสิทธิที่ภาคเอกชนจะได้รับในการดูแลพื้นที่สาธารณะ โดยที่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของเอกชนอยู่" รศ.ดร.พนิต กล่าว


ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 2 ริมฝั่งนับเป็นพื้นที่มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตลอดระยะเวลากว่า 500 ปี ยังคงมีหลักฐานอัตลักษณ์ที่สำคัญหลายประการที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม สถานที่ โบราณสถาน มีเรื่องราวผูกพันประวัติศาสตร์ของชาติที่เชื่อมโยงกับสายน้ำ ทั้งการสงครามกับพม่า การค้าขายกับนานาชาติ เรายังคงเห็นวิถีชีวิตผู้คนตลอดลุ่มน้ำภาคกลางไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่พัฒนาตามยุคสมัย โรงสีข้าว ศาลาท่าน้ำ ประเพณีผู้คนที่ผูกพันกับสายน้ำ หลักฐานทางกายภาพของแม่น้ำที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษในเรื่องการจัดการน้ำ เช่น คลองขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงต่างๆ ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง เพื่อใช้คมนาคม ขึ้นล่องและระบายน้ำลงได้รวดเร็วในหน้าน้ำ รวมถึงคลองลัดโพธิ์ที่รัชกาลที่ 9 ทรงสั่งให้ขุดเพื่อระบายน้ำอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ถือเป็นคลองประวัติศาสตร์ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิต และไม่เหมือนที่ไหนในโลก เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ แสดงถึงวิวัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชาติไทย เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับก่อสร้างรูปแบบทางเดินริมน้ำที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะจริงหรือที่ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยามีไว้สำหรับทุกคน จะมีผู้คนจากทุกที่เข้ามาใช้ประโยชน์จริงหรือในเมื่อไม่มีแผนการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่เหล่านั้น เพราะมีการไล่รื้อผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมออกไปแล้ว เราไม่เชื่อ กทม.จะดูแลเองได้ทั้งหมด เพราะหลายพื้นที่ก็เคยมีการทำเช่นนี้ ก็ไม่สามารถจัดการได้ 

"ไม่ควรนำสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่แปลกแยกไม่เข้ากับบริบท เช่น ทางเดินริมน้ำหลาย 10 กิโลเมตรมาก่อสร้างรุกล้ำอีกครั้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยาและขวางกั้นความเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนและสายน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะลดทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เสื่อมลง สมควรที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะโบราณสถานของชาติโดยด่วน" ดร.วีระพันธ์ กล่าว


















กำลังโหลดความคิดเห็น