ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เดินหน้าไม่หยุด ฉุดไม่อยู่เสียแล้วสำหรับ โครงการก่อสร้าง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่ง “กรุงเทพมหานคร( กทม.)” เตรียมตอกเสาเข็มระยะแรก จาก “สะพานพระราม 7 - กรมชลประทานสามเสน” (ฝั่งพระนคร) และ “สะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด” (ฝั่งธนบุรี) ระยะทาง 14 กม. ประเดิมงบ 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 8,362 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสคัดค้านจาก 32 องค์กรวิชาชีพ เนื่องด้วยก่อผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ “Chao Phraya for All” ของกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบโครงการโดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งธงไว้เมื่อปี 2558 ในยุคคณะรักษาความสงบ (คสช.) ที่มี “บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ และ หัวหน้า คสช. โดยเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ด้านการพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการฯ ดำเนินการไปอย่างเร่งรัด มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พ.ค. 2558 ระบุว่าจะมีการลงนามในสัญญาจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2558 แล้วใช้เวลาก่อสร้างรวม 18 เดือน (ม.ค. 2559 - ก.ค.2560) แต่สุดท้ายยืดเยื้อก่อสร้างไม่ได้
กล่าวคือกระบวนการจัดตั้งโครงการอย่างเร่งด่วนผิดปกติ ทั้งที่ไม่มีผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานอ้างอิง ไม่มีรูปแบบโครงการที่ชัดเจน ไม่มีทรัพยากรบุคคลผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านชลธาร ระบบนิเวศน์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ อีกทั้ง ส่งผลต่อวิถีชุมชนริมน้ำ กระทบรากเหง้าทางประวัติศาสตร์แม่น้ำเจ้าพระยา
เนื่องด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสำคัญของประเทศ การก่อสร้างเกิดผลกระทบประเด็นปัญหาต่างๆ ประการสำคัญ รูปแบบทางเลียบแม่น้ำนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ลุกล้ำลำน้ำส่งผลให้แม่น้ำมีขนาดแคบลง 15 - 20 เปอร์เซ็นต์ ก่อปัญหาด้านชลศาสตร์ กระแสน้ำไหลเร็วขึ้นเพิ่มความเสี่ยงในการกัดเซาะตลิ่ง น้ำยกสูงขึ้นในฤดูน้ำหลาก ปัญหาขยะสะสมใต้ตอม่อทางเดิน กระทบด้านภูมิทัศน์ถูกบดบัง
ทั้งยังมีข้อมูลเปิดเผยว่าโครงการฯ ดังกล่าว ละเลยผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้เกิดก่อสร้างอย่างรวดเร็ว โดยระบุเป็นถนนทางหลวงตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
รวมถึง โดนทักท้วงทั้งในเชิงนโยบายที่มีธงไว้ ขาดทางเลือกของการพัฒนาแม่น้ำที่รอบด้าน ขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง ขาดการเปิดเผยข้อมูล อันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ ผังเมือง ปัญหาน้ำท่วม อันจะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้
กลายเป็นประเด็นที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างหนักจากองค์กรวิชาชีพและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม จนนำสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองในช่วงปลายปี 2561 ส่งผลให้ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ไม่สามารถเริ่มก่อสร้าง ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 ปี
กระทั่ง ล่าสุด สภากรุงเทพมหานคร มีมติอนุมัติโครงการฯ แล้ว ขณะที่ สำนักการโยธา กทม. เปิดเผยแบบพร้อมประมูล รอเพียง ครม. เซ็นอนุมัติ
เดิมทีโครงการฯ ปักหมุดตั้งแต่สะพานพระนั่งเกล้าฯ เลียบเลาะแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงสะพานพระราม 3 รวม 2 ฝั่ง ระยะทาง 50 กม. งบประมาณก่อสร้างกว่า 30,000 ล้านบาท กระทั่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับรูปแบบใหม่ ตั้งงบประมาณก่อสร้าง 8,362 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 3.5 กม. จะใช้ระยะเวลาสร้าง 540 วัน (18 เดือน) ได้แก่
ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 - กรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. งบ 1,770 ล้านบาท
ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน - คลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม. งบ 2,470 ล้านบาท
ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. งบ 2061.5 ล้าน
และ ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด - คลองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม. งบ 2061.5 ล้านบาท
โดยว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ
สำหรับรูปแบบทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคอนกรีตกว้าง 10 เมตร สร้างลงบนตอม่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. ในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเดินเท้าและปั่นจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 ม. ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบัน ประมาณ 1 เมตร
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร นำคณะลงพื้นที่ตรวจสภาพความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 (ฝั่งพระนคร) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน พื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิต และช่วงที่ 3 (ฝั่งธนบุรี) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด
ระบุว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนด ทั้งในด้านการศึกษาแผนแม่บท การจัดทำแบบรายละเอียด มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การดำเนินการได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคม โดยมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชน จนได้รับความร่วมมือดีขึ้นเป็นลำดับ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า กทม. เสนอโครงการฯ ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย ในการเปิดประมูลจำนวน 2 สัญญา นำร่อง คือ ช่วงที่ 1 จากพระราม 7 - กรมชลประทาน และช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด โดยได้รับงบประมาณก่อสร้าง และได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามที่โครงการออกแบบได้ โดยมีเงื่อนไขให้ปรับรูปแบบอาคารศาลาท่าน้ำ ที่จะปลูกสร้างหน้าวัดจันทรสโมสร และวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กทม. กรมศิลปากร และกรมเจ้าท่า เพื่อปรับปรุงรูปแบบบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉบับใหม่ ต้องขออนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างใหม่จากเดิมเป็นแบบ e-Auction เป็น e-Bidding ทำให้โครงการฯ ยังไม่ได้รับอนุมัติ และต้องรอของบประมาณใหม่ เนื่องจากงบประมาณปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร 1,300 ล้านบาท ใช้ไม่ทันและถูกโยกไปจ่ายค่าเวนคืนสะพานเกียกกายแทน
เห็นชัดว่า กทม. พยายามผลักดันโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง แม้โดนท้วงติงคัดค้านจากกระแสสังคมว่าโครงการดังกล่าว กระทบวัฒนธรรมชุมชน เปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนริมแม่น้ำ ทำลายประวัติศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ
ภายหลัง กทม. ประกาศเดินหน้าโครงการฯ ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวจาก องค์กรวิชาชีพ 32 องค์กร ออกแถลงการณ์ถึง “บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เรื่อง “คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา”
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ ออกแถลงการณ์ฯ มีเนื้อหาระบุถึงกรณี กทม. ประกาศเดินหน้าก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานพระราม 7 ถึง กรมชลประทานสามเสน ฝั่งพระนคร และจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ฝั่งธนบุรี
“สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ อันประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร ขอคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
ขณะที่ สมาคมนักผังเมืองไทย โดย นายพนิต ภู่จินดา ในฐานะนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ออกหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว บ่งชี้ถึงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา หาก กทม. ดำเนินการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ความว่า
1. รูปแบบทางเดินทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในปัจจุบันประมาณ 1.00 เมตร จะนำมาซึ่งกิจกรรมที่ทำลายความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องเข้าใจว่า ทางเดินและทางจักรยาน จะดึงดูดกิจกรรมการเดินและการขี่จักรยานของคนนอกพื้นที่เป็นหลัก ความสงบของชุมชนและความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนริมแม่น้ำจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อีกทั้งระดับความสูงของทางเดินทางจักรยาน อยู่ที่ระดับประมาณชั้นสองของบ้านเรือนปกติที่มักจะใช้เป็นห้องนอนที่ต้องการความสงบสูง การมีคนนอกพื้นที่มาทำกิจกรรมนำมาซึ่งเสียงรบกวนในช่วงเวลาพักผ่อนเข้ามาโดยตรงยังห้องนอนของผู้พักอาศัย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากขโมยที่สามารถปีนเข้าสู่ชั้นสองของบ้านได้โดยง่าย
2. ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวแม่น้ำ แน่นอนว่าประชาชนควรมีสิทธิเข้าถึงแม่น้ำเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและชื่นชมความงามริมแม่น้ำได้ตามสมควร แต่ก็ควรเลือกเฉพาะพื้นที่บางส่วนที่มีศักยภาพทั้งด้านความงามและการเข้าถึงอย่างสะดวก โดยไม่กระทบต่อชุมชนและบ้านเรือนริมน้ำแต่อย่างใด มีพื้นที่ของรัฐเป็นจำนวนมากที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะริมน้ำได้โดยไม่กระทบกับสิทธิของประชาชนและทัศนียภาพริมแม่น้ำแบบที่โครงการนี้ได้นำเสนอ
3. พื้นที่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้ต่างอะไรกับสะพานลอยข้ามถนน ซึ่งจะมีความไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานในช่วงเวลากลางคืน กลายเป็นพื้นที่มั่วสุมหรือทำกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ของสังคม นำมาซึ่งงบประมาณในการบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง ทำความสะอาด ไฟฟ้าส่องสว่าง การดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ เช่น กล้องวงจรปิดและผู้รักษาความปลอดภัย การป้องกันจักรยานยนต์ขึ้นมาใช้งาน ซึ่งเป็นภาระของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
4. ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยต่อชุมชนริมน้ำ ในปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยาถูกใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่าง ๆ ทางเรือ เช่น การลำเลียงคนเจ็บป่วย การดับเพลิง ซึ่งเรือช่วยเหลือเฉพาะกิจสามารถเข้าถึงแปลงที่ดินริมน้ำได้โดยตรง แต่ทางเดินทางจักรยานจะทำให้ประสิทธิภาพในการเข้าถึงในยามฉุกเฉินลดลงเนื่องจากมีทางเดินทางจักรยานกีดขวาง และมีระยะทางที่ยาวขึ้น
5. ทัศนียภาพและภาพจำของพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันกลับคืนมาได้ เราจะพบเห็นภาพประเทศไทยที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก เป็นพื้นที่ชุมชนริมน้ำ ที่ประกอบด้วยวัดสำคัญ ท่าเรือและบ้านเรือนที่อยู่ติดกับแม่น้ำโดยตรง ไม่มีทางเดินทางจักรยานคอนกรีตอยู่ในภาพจำดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีประเทศใดมีแบบนี้ และเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน เส้นทางสัญจรต่าง ๆ ก็ถูกจัดวางให้อยู่ถัดไปจากแปลงที่ดินริมแม่น้ำอย่างแนบเนียน ภาพจำดังกล่าวมีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของประเทศไทยไม่น้อยกว่าภาพสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง หรือ ถนนราชดำเนิน แต่อย่างใด จึงสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ
6. เป็นโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ และไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทอื่น ๆ แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในปี 2563 มิได้แนวเส้นทางเดินทางจักรยานดังกล่าวไว้ในร่างผังเมืองรวม ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อโครงสร้างการสัญจรของเมืองเป็นอย่างมาก และเมื่อสืบค้นไปยังแผนและผังของหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ก็ไม่ปรากฏโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด โครงการนี้จึงขาดความเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในเมืองและภาคมหานครโดยสิ้นเชิง
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กระผม (พนิต ภู่จินดา) ในฐานะนายกสมาคมนักผังเมืองไทย จึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร ขอเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว หันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ของรัฐที่อยู่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยวที่ดี ด้วยรูปแบบที่เป็นมิตรและเคารพต่อชุมชนและเอกลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เกี่ยวเนื่องเป็นพื้นที่คุณภาพดีสำหรับประเทศไทยต่อไป”
หลังเกิดกระแสคัดค้านในครั้งนี้ นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวย้ำว่า การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินตามความเหมาะสมกับศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอ ลงพื้นที่ไม่น้อยกว่า 400 ครั้ง
สะท้อนว่า กทม. ได้ดำเนินโครงการด้วยความรอบคอบ มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ตลอดจนพิจารณาวางแนวทาง แก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น Landmark ใหม่แห่งเมืองหลวงที่มีความสมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาเศรษฐกิจ อนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงสืบสานประวัติศาสตร์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และทำให้เจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคน หรือ Chao Phraya for All
“ตอนนี้ของบปี 2563 ไปแล้ว ยังไม่รู้จะได้รับอนุมัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องรอขอในปี 2564 โครงการนี้ยังไงก็ต้องได้สร้าง เพราะได้งบฯ เมื่อปี 2560 จำนวน 1,098 ล้านบาท รื้อย้ายชุมชนในพื้นที่ไปแล้ว” นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวผ่านสื่อฯ เป็นนัยว่า แม้สะดุดแต่ยังไม่หยุดแน่นอน เพียงแต่จะสร้างในรัฐบาลไหน คงต้องติดกันต่อไป
แต่ที่ “น่าแปลกใจ” ก็คือ โครงการนี้ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เห็นดีเห็นงามมาตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่เสียงคัดค้านก็ดังกระหึ่มมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้เช่นกัน
คำถามก็คือ ถ้า พล.ต.อ.อัศวิน ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ กทม.ไม่ฟังเสียงประชาชน เส้นทางการเมืองในอนาคตที่มี “ข่าวหลุด” ออกมาแล้วว่า มีเปอร์เซ็นต์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเก้าอี้ตัวเดิมแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะสังกัด “ค่ายไหน” คงไม่สดใสเสียแล้ว....