กทม.แจงโครงการทางเลียบเจ้าพระยา สะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนกว่า 400 ครั้ง นำมาปรับแผนแม่บทและโครงการรอบด้าน ยันไม่กระทบด้านชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ วิถีชีวิต การประกอบธุรกิจ ไม่เป็นอุปสรรคการเดินเรือ ชี้ รูปแบบทางเดินและจักรยานสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 1 เมตร
วันนี้ (25 พ.ย.) นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกรณีเพจ Friends of the River เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือโครงการทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านสภา กทม. รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งกังวลถึงผลกระทบกับวิถีชีวิตริมแม่น้ำแบบดั้งเดิม ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กทม. ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงแก้ไขปัญหาการรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ ซึ่งที่ผ่านมา สนย.ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ พบว่า บริเวณที่เหมาะสมจะดำเนินโครงการในระยะแรก อยู่ในช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมด้านกายภาพ นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เหมาะสมกับศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาโดยตลอด
นายไทวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน เพื่อนำมาพิจารณาปรับแก้แผนแม่บทและรูปแบบโครงการ ให้มีความเหมาะสม ไม่น้อยกว่า 400 ครั้ง ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า ปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และยินยอมย้ายออกไป โดยประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยเหลือจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยบางส่วนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่ที่อาคารพักอาศัยกรมการขนส่งทหารบก (แฟลต ขส.ทบ.) ซึ่งเมื่อประชาชนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่ จะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายไทวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของประชาชนที่มีต่อรูปแบบโครงการ ทั้งผลกระทบด้านชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การเดินเรือ ผลกระทบด้านวัฒนธรรม ได้มีการพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้าน เป็นไปตามหลักวิชาการ ดังนั้น การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบธุรกิจ การประกอบอาชีพ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม อีกทั้งรูปแบบทางเดินและทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ประมาณ 1 เมตร จึงไม่บดบังภูมิทัศน์ ทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกัน ยังคำนึงถึงระบบการขนส่งทางน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ไฟฟ้าแสงสว่าง การตรวจตราสอดส่อง ตลอดจนจัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อดูแลความปลอดภัย
“ที่ผ่านมา กทม. ได้ดำเนินโครงการด้วยความรอบคอบ มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ตลอดจนพิจารณาวางแนวทาง แก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น Landmark ใหม่แห่งเมืองหลวงที่มีความสมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาเศรษฐกิจ อนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงสืบสานประวัติศาสตร์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และทำให้เจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคน หรือ Chao Phraya for All” นายไทวุฒิ กล่าว