xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นทางเลียบแม้น้ำเจ้าพระยา ผ่านสภากทม.รอครม.อนุมัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เพจเฟซบุ๊ก "เฟรนด์ออฟเดอะริเวอร์" ระบุทางเลียบในแม่น้ำเจ้าพระยามาแน่ !! ผ่านสภากทม.แล้ว รอเข้าครม.อนุมัติ เผยก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายได้ออกมาทักท้วง ว่าจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ ในมิติต่างๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ อันจะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้

วานนี้(24พ.ย.) เพจเฟซบุ๊ก "เฟรนด์ออฟเดอะริเวอร์" ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ทางเลียบในแม่น้ำเจ้าพระยามาแน่ ! โดยระบุว่า หลังจากเงียบหายไปนาน ต่อความคืบหน้าโครงการทางเลียบเจ้าพระยา ล่าสุด สภากรุงเทพมหานคร มีมติอนุมัติโครงการแล้ว และจากการเปิดเผยของสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ขณะนี้แบบพร้อมประมูล รอเพียงให้ทางคณะรัฐมนตรี เซ็นอนุมัติ โดยแบ่งโครงการออกเป็น 4 ช่วงย่อย จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความยาวข้างละ 7 กม. ลักษณะโครงการเป็นทางคอนกรีต กว้าง 10 เมตร สร้างลงบนตอม่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นทางเดิน และทางจักรยาน

ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายได้ทำการทักท้วงทั้งในเชิงนโยบายที่มีธงไว้ ขาดทางเลือกของการพัฒนาแม่น้ำที่รอบด้าน ขาดการมีส่วนร่วม ที่กว้างขวาง ขาดการเปิดเผยข้อมูล อันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ อันจะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้

หากโครงการนี้ เดินหน้า มันจะตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ารัฐขาด"ธรรมาภิบาล" เพียงใด ต่อการดำเนินการโครงการที่กำลังจะส่งผลต่อวิถีผู้คน และธรรมชาติเช่นนี้

หยุดเพื่อเดินต่ออย่างยั่งยืนไม่ดีกว่าหรือ ?

สำหรับโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ มาจากนโยบายของรัฐบาลคสช. เมื่อปี 2558 ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำ สำหรับประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิต เสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยรัฐใช้ชื่อโครงการว่า“Chao Phraya For All”หรือ “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน”ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้อยู่ในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่กำกับดูและกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็น “แลนด์มาร์ค”อีกแห่งของประเทศ

โครงการนี้ แบ่งออกเป็น 4 ช่วงย่อย จากสะพานพระราม7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความยาวข้างละ 7 กม. รวม 14 กม. เบื้องต้น มีรายงานว่า หน่วยงานเห็นชอบร่วมกันที่จะก่อสร้าง ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ สะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน สามเสน ระยะทาง 2.99 กม. และช่วงที่ 3 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.20 กม.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางสจล. ได้สรุปผลสำรวจ (โฟกัสกรุ๊ป) ว่า มีประชาชนเห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการ ประมาณ 75%มีเพียง 25% ที่ไม่เห็นด้วย จึงเสนอให้เดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไปได้

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหว ของกลุ่มมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อม สมัชชาแม่น้ำ และ Friends of the Riverเปิดเวทีเสวนา "แม่น้ำเจ้าพระยาที่รัก มารักก่อนที่จะสายไป My Chaophraya" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีความเห็นว่า เป็นเรื่องเสี่ยงที่จะทำลายคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา หากทางเลียบแม่น้ำเกิดขึ้น จึงไม่เห็นด้วยกับ กระบวนการคิด และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผิดพลาด โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศน์แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีระบบน้ำขึ้น น้ำลง พื้นที่ริมฝั่งมีคุณค่า มีชุมชน อาชีพที่ผูกพันกับแม่น้ำ หากเดินหน้าโครงการจะสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป

หลังจากนั้นข่าวคราวของโครงการนี้ก็เงียบหายไป และมาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อเพจเฟซบุ๊ก "เฟรนด์ออฟเดอะริเวอร์" ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ทางเลียบในแม่น้ำเจ้าพระยามาแน่ ! เพียงรอครม.อนุมัติเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น