xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผิด ไม่ เป็น ปั่นอีเวนต์ “อยู่ ไม่ เป็น” ปลุกม็อบ? “ธนาธร” เคว้ง “สาวก” ไม่รับมุก หุ้นสื่อตายเดี่ยว เงินกู้ (อาจ) ตายหมู่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เหนือความคาดหมาย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดหรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อมวลชนใน บริษัท วี ลัค มีเดีย จำกัด ขณะเป็นผู้สมัคร ส.ส. เข้าข่ายมี “ลักษณะต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) 

ผลปรากฏว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง วินิจฉัยว่า “มีความผิดจริง” ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามในวันที่เลือกตั้ง ส่งผลให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ “ธนาธร” สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.62 อันเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ส่งผลให้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ว่างลง และให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ลำดับถัดไปขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่า จากการสอบสวนพยานหลักฐานแล้วเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวอยู่ในวันที่ 6 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. หักล้าง “ข้อโต้แย้ง” ของ “ธนาธร” ที่ยืนยันว่า มีการโอนหุ้นไปก่อนหน้านั้นแล้ว หรือเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62

ส่วนข้อโต้แย้งทางเทคนิคที่ว่า กระบวนการไต่สวนของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการนำไปฟ้องร้อง กกต.ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อนวันตัดสินไม่นานนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ลงความเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการยื่นคำร้องนี้ของ กกต.ชอบแล้ว

“จุดตาย” ในคดีนี้ก็มาจาก “ความย้อนแย้ง” กันเองในคำให้การของพยานฝ่าย “เฮียทอน” เอง ตลอดจนมีการเปรียบเทียบพฤติการณ์โอนหุ้น หรือการนำเช็คค่าหุ้นเข้าบัญชีที่พบว่า “ผิดปกติ” จากทุกครั้งที่ผ่านๆมา

“ข้อโต้แย้งของนายธนาธร ที่ว่า ได้ขายและโอนหุ้นให้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาใน วันที่ 8 ม.ค.62 นั้น ศาลเห็นว่าทุกครั้งที่ บ.วีลัคฯ โอนหุ้น จะมีการทำหนังสือแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนกรุงเทพมหานคร แบบบอจ.5 โดยเร็วทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นครั้งนี้ กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วแต่อย่างใด มีการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. กลับส่งในวันที่ 21 มี.ค. ถือว่าผิดปกติ ทั้งที่สำเนาดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลงสมัคร ส.ส. ของนายธนาธร และผิดปกติจากทุกครั้งที่ผ่านมา” คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้เช่นนั้น

ขณะที่ “ไม้เด็ด” ของฝ่าย “ธนาธร” ที่ว่า บ.วีลัค มีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการปิดกิจการนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยึด “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า การที่บัญญัติลักษณะต้องห้ามกรณีถือครองหุ้นสื่อมวลชน มาใช้เป็นเหตุการณ์สิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.นั้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนอาศัยความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของ เผยแพร่ข้อมูลความสารที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ หรือครอบงำสื่อมวลชนไม่ให้เป็นกลางในการเลือกตั้ง

ซึ่งกรณีของ บ.วีลัค มีเดีย จำกัด เคยมีการดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่ทางผู้ถูกร้องพยายามกล่าวอ้างว่า เป็นเพียงนิตยสารที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง หรือเพียงแค่รับจ้างพิมพ์วารสารให้กับสายการบินเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยึดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์ ที่ได้กำหนดไว้ว่า สื่อมวลชนให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สื่ออื่น หนังสือพิมพ์ ในราชอาณาจักร

โดยเฉพาะประเด็น “เตรียมเลิกกิจการ” นั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บ.วีลัค มีเดีย ได้แจ้งการยกเลิกกิจการ ดังนั้นจึงถือว่า บ.วีลัค มีเดีย ยังเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ที่ “ธนาธร” เป็นเบอร์ 1 ของพรรคอนาคตใหม่ 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา
ถือเป็นคำวินิจฉัยว่ากันตามตัวบทกฎหมายบนหลัก “นิติศาสตร์” แบบตรงเป๊ะ มิได้ใช้ “ข้อสันนิษฐาน” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังที่ “ธนาธร” กล่าวอ้างเอาไว้ประการใด

ที่สำคัญคือตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยแท้ ในการวางมาตรการเพื่อ “ป้องกัน” หากเกิดกรณีนักการเมืองเป็นเจ้าของหรือครอบงำสื่อ อันเป็น “บรรทัดฐาน” ที่ทำให้ ส.ส.-ส.ว.กว่าร้อยชีวิต ที่ถูกร้องกรณีถือหุ้นสื่อ หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน

น่าสนใจว่าภายหลังจากที่ถูกวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. “ธนาธร” ที่ย่อมไม่เห็นด้วย ก็ยังได้เน้นย้ำว่า บ.วีลัค มีเดีย ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง จนถูกหยิบไปวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ ว่า “เถียงฉอดๆ”

เอาเข้าจริงก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินไม่นาน ทางพรรคอนาคตใหม่เองก็เบี่ยงประเด็นจากที่แสดงความมั่นใจว่า มีการโอนหุ้นก่อนการสมัครเลือกตั้ง มาเป็นเรื่อง “อิทธิพลสื่อ” ต่อการเลือกตั้ง มีความพยายามเทียบเคียงกรณีของ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเดิมเป็นผู้บริหารของสื่อในเครือเนชั่น มัลติมีเดีย อยู่

เหมือนเป็น “คำสารภาพ” ที่สะท้อนถึงอาการ “แก้ตัวไม่ออก” ในประเด็นการโอนหุ้นหลังการรับสมัคร ส.ส.นั่นเอง

แม้ว่า “เฮียเอก” จะถูกตัดสินใน “ทางลบ” ตามที่คาด แต่ก็ยังดีที่คำวินิจฉัยครั้งนี้ไม่ได้เลยไปถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือ “สุดซอย” ไปถึง “ยุบพรรค” อย่างที่ “สายฮาร์ดคอร์” ว่าไว้ และบรรดา “สาวกพ่อฟ้า” ตลอดรวมถึง “ทีม IO” ของพรรคพยายามปั่นให้เกิดกระแส

มองในแง่ดี ความชัดเจนในสถานะของ “ธนาธร” ก็ทำให้เสียงของพรรคอนาคตใหม่กลับมามีเสียงเต็ม 80 เสียง และเสียงของ 7 พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กลับมาเต็มทั้ง 244 เสียง หลังจากที่ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา จะถูกลบออกไป 1 เสียงของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในยามที่มีการลงมติในที่ประชุมสภาฯ

ทั้งนี้ ส.ส.ส้มหล่น ได้แก่ มานพ คีรีภูวดล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 51 ของพรรคอนาคตใหม่ จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนหัวหน้าพรรค ซึ่ง “มานพ” เป็นอีกหนึ่งผู้แทนชาติพันธุ์ มีพื้นเพจากชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ

ส่วนผลพวง “เฉพาะตัว” ของ “เฮียทอน” ที่ตามมาจากคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา “ในเบื้องต้น” ก็มีเพียงการหลุดจาก ส.ส. ที่อาจพูดได้ว่า “อกหักซ้ำสอง” หลังก้าวไม่ถึงดวงดาวในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างที่เจ้าตัวตั้งใจไว้แล้ว เพียงแค่ก้าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ ส.ส. ก็ยังเข้าไปได้เพียง “ครึ่งก้าว” ในวันปฏิญาณตนรับตำแหน่ง โดยที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนฯ ในสภาฯ เลย

อย่างไรก็ดี “ธนาธร” ก็ยังมีสถานะอื่นๆ อยู่ ทั้งการเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อ (แคนดิเดต) นายกรัฐมนตรีของพรรค รวมไปถึงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งชื่อไปในโควตาของ “คนนอก” ไม่ใช่ในฐานะ ส.ส. เนื่องจากขณะที่พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อนั้น อยู่ในระหว่างการพูดสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว

และสำคัญที่สุดคือบทบาท “หัวหอก” ในการทิ่มแทง “รัฐบาลประยุทธ์” ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปั่นกระแสผ่านอีเวนต์ “อยู่ ไม่ เป็น” ที่คิกออฟไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนการตัดสินคดีหุ้นสื่อไม่กี่วัน แม้เนื้อหาในวันนั้นจะ “ไม่หวือหวา” วกเวียนอยู่กับการแก้ต่างข้อกล่าวหา “ชังชาติ” พร้อมทั้ง “คร่ำครวญ” เหตุที่ “ธนาธร” และพรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญคดีความมากถึง 25 คดี เพราะต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จนถูกใส่ร้ายกล่าวหาต่างๆ นานา และโยงมาถึงคดีหุ้นสื่อของ “ธนาธร”

แม้อีเวนต์ “อยู่ ไม่ เป็น” จะดูแป้กๆ ปั่นกระแสไม่ขึ้น แต่ใครต่อใครก็รู้ว่า “ธนาธร” และพรรคอนาคตใหม่ กำลัง “คิดอะไรอยู่”

จนถูกตั้งแง่ว่า มีนอกมีในหวัง “ปลุกม็อบ” ล่วงหน้าหรือไม่

ตามติดมาด้วยการวางคิวแบบตั้งใจ ไม่มีบังเอิญ หลังการฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เดาทางออกว่าออกมา “เป็นลบ” เป็นแน่ “อดีต ส.ส.เอก” ก็เดินทางลงพื้นที่ย่านสยามสแควร์ เพื่อร่วมรณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายใต้แคมเปญ “ท.ทหารทันสมัย” ทันที

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการรณรงค์ ไม่ใช่การปลุกระดม แต่ทั้งหมดขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง พร้อมยังยืนยันในเจตนารมณ์การลงพื้นที่ เพราะนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารเท่านั้น” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่าไว้

เดาไม่ยากว่า เหตุที่วางโปรแกรมลงพื้นที่ “สยาม” ที่เหมือนเป็น “สนามเหย้า” ของ “เฮียทอน” ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” มาแล้วเมื่อช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เพื่อที่ต้องการสร้างภาพได้รับกำลังใจจากแฟนคลับล้นหลาม หลังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา

แต่น่าเสียดายที่ “ติ่งอนาคตใหม่” ดูจะไม่รับมุก “สาวกพ่อของฟ้า” ร่อยหรอ ไม่พีคอย่างเคย เพราะคาดว่า แฟนคลับเน้นแสดงพลังผ่าน “#” หรือ “แฮชแท็ก” ในสังคมออนไลน์มากกว่า



บรรดากองเชียร์ของนายธนาธรที่เดินทางมาให้กำลังใจ


หาได้กรีธาทัพในทำนอง “ลงถนน” อุ่นหนาฝาคั่งตามสคริปต์ที่วางไว้ จนว่ากันว่า “พ่อของฟ้า” ออกอาการ “เคว้ง” ไม่น้อย

กระแสจุดไม่ติดว่าแย่แล้ว “อาฟเตอร์ช็อก” ต่อจากนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะ กกต.ในฐานะเจ้าภาพคดีหุ้นสื่อ ก็มี “ไฟต์บังคับ” จำต้องเดินกระบวนการต่อตามกฎหมาย ในส่วนของ “คดีอาญา” ตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

เรื่องนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.บอกว่าว่า หลังจากนี้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คงดำเนินการสอบสวนกรณีคำร้องที่มีผู้กล่าวหาว่า นายธนาธร ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) กรณีผู้ใดรู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต่อไป

“ตามหลักการทั่วไปแล้ว คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คงจะต้องนำผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ไปพิจารณาประกอบในสำนวนด้วย เพราะมีการวินิจฉัยว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติ”

ที่ว่าน่าเป็นห่วงเพราะ “มาตรา 151” ได้ระบุบทลงโทษไว้ด้วยว่า “ผู้สมัครรับเลือกตั้งรู้ตัวว่า ไม่มีสิทธิแล้วยังสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่น - 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี”

 ว่ากันว่าการดำเนินการเอาผิดในเรื่องนี้น่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะก่อนหน้านี้ กกต.เคยเปิดเผยว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้ทำสำนวนคดีอาญา คู่ขนานมาโดยตลอด รอแค่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเติมเต็มให้สมบูรณ์เท่านั้น

จากบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และโดยเฉพาะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีนั้น ก็เท่ากับเป็นการปิดฉากทางการเมืองของ “ธนาธร” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดีผลพวงจากคดีนี้ยังตีกรอบ “ความผิดเฉพาะตัว” ไม่กระทบกับพรรคอนาคตใหม่เท่าไรนัก

แต่แม้จะรอดการยุบพรรคจากกรณี “เสี่ยเอก” ถือครองหุ้นสื่อไปได้ ก็ไม่ใช่ทางโล่ง เพราะยังเหลืออีกคดีที่มีความสำคัญไม่ยิ่งยวดไปกว่ากันอย่างคดีปล่อยกู้ให้ พรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท

เผอิญ สำนักงาน กกต. เพิ่งเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า กกต.ได้ประชุมพิจารณาสํานวนการสืบสวน กรณีมีผู้กล่าวหาว่า “ธนาธร” ได้ให้พรรคกู้ยืมเงินของตนเอง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ตามมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยได้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10,000,000 บาท ต่อพรรคการเมืองต่อปี

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ขอใช้สิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัย และถ้าเมื่อใดก็ตามศาลฯนำคำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมาเผยแพร่ ก็จะใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอน

มานพ คีรีภูวดล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 51 ของพรรคอนาคตใหม่ จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนหัวหน้าพรรค
พร้อมระบุว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของสํานักงาน กกต. และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคําร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ได้ดําเนินการเป็นไปตามกระบวนการ และขั้นตอนที่กฎหมายกําหนดทุกประการแล้ว มติของ กกต. พิจารณาแล้ว

“เพื่อให้การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ ชัดเจนและเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีมติเป็น “เอกฉันท์” ให้พรรคอนาคตใหม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม”

โดยที่ผ่านมา “ผู้สันทัดกรณี” ให้น้ำหนักคดีปล่อยกู้พรรคมากกว่าคดีถือหุ้นสื่อเสียด้วย เพราะเมื่อตีความกันตามข้อกฎหมายเป๊ะๆ ก็ได้ว่า การกระทำนอกเหนือจากสิ่งที่กำหนดนั่นคือ “ผิด”  ซึ่งเรื่องกู้เงินไม่ถูกบัญญัติอยู่ใน “รายได้พรรคการเมือง” ในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันแต่ประการใด

ว่ากันว่า ข้อหานี้ฉกาจฉกรรจ์กว่าข้อหาหุ้นสื่อของ “เฮียเอก” เยอะ เพราะหากมีการชี้ว่าเงินกู้ที่ “เสี่ยใหญ่ไทยซัมมิท” ในฐานะเจ้าของพรรค ให้ยืม “เงินทุน” แก่พรรคในการทำศึกเลือกตั้งที่ผ่านมา ดีไม่ดี “แทงจำหน่าย” สิ้นสภาพทั้งพรรคได้เลย
นี่ยังไม่รวมคำร้องที่พรรคอนาคตใหม่ถูกกล่าวหาว่า “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

เอาเข้าจริงมูลเหตุของคดีปล่อยกู้พรรค ก็เริ่มมาจากคำให้สัมภาษณ์ของ “ธนาธร” รวมทั้ง “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เองที่ไปโพนทะนาทั่วว่า เลือกตั้งรอบนี้พรรคเป็นหนี้หัวหน้าพรรคอยู่ แม้จะจำนวนเงินแต่ละครั้งที่เล่าจะไม่เท่ากัน แต่ก็สรุปได้ว่า มีการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นจริง

พอเกิดเรื่อง “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็เคยสวมบท “เนติบริกรน้อย” ชี้แจงในทำนอง “ผิด ไม่ เป็น” ว่า การกู้ยืมเงินดังกล่าวสามารถทำได้ หลายพรรคการเมืองก็ปรากฏยอดหนี้เงินกู้บัญชีของพรรค แต่เหมือนลืมดูว่า ที่พรรคการเมืองอื่นกู้เงินนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับเก่า เมื่อพลิกบัญชีของพรรคการเมืองอื่นๆที่ร่วมสู้ศึกเลือกตั้งหนนี้ ก็ไม่มีพรรคไหนที่มีการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการหาเสียงแต่อย่างใด

รวมทั้งยังอ้างว่า เงินกู้ยืมดังกล่าวไม่ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมืองเสียด้วย จนหลงนึกย้อนไปถึงวลีเด็ดของ “นักการเมืองดัง” เคยอ้างว่าพฤติกรรมของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯแดนไกล ว่า “ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม” อย่างไรอย่างนั้น

การแก้ตัวโดยหยิบโยงกฎหมายเก่า หรือตะแบงข้างๆ คูๆ ไม่ยอมรับคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรม ถือว่าสะท้อนพฤติกรรมของ “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ ได้เป็นอย่างดี

ว่าพรรคนี้ไม่ได้ “อยู่ ไม่ เป็น” อย่างที่อ้าง แต่ติดนิสัย “ผิด ไม่ เป็น” มากกว่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น