ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูท่าจะมีรายการเปิดวอร์สกัด “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” หวนคืนรังเก่ายึดอำนาจ ปตท. เต็มเหนี่ยว ล่าสุด ชมรมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ขุดเรื่องเก่า ร้องป.ป.ช. กล่าวโทษ “ไพรินทร์” สมัยอดีตประธานบอร์ดไออาร์พีซี ยกหนี้ 227 ล้าน ให้คลังทั้งที่บริษัทขาดทุนยับ
งานนี้จับตาขุมกำลังที่หนุนอยู่เบื้องหลังจะสามารถส่งให้ “ไพรินทร์” ขึ้นแท่น “ประธานบอร์ด ปตท.” คนใหม่ เพื่อคุมการสรรหา “ซีอีโอคนใหม่” วางคนในคาถาสืบทอดอำนาจสำเร็จเสร็จสมปรารถนาหรือไม่
เป็นที่รู้กันดีว่า อาณาจักร ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานแห่งชาติในคราบบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าตลาดอันดับหนึ่ง มีกำไรแต่ละปีนับแสนล้าน และมีแผนการลงทุนมหาศาล ดูจากผลประกอบการปี 2561 ปตท. มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 2,336,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 340,433 ล้านบาท คิดเป็น 17.1% มีกำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 119,684 ล้านบาท คิดเป็น 11.5 % โดยมีสินทรัพย์ จำนวน 2,381,174.76 ล้านบาท สินทรัพย์หมุนเวียน 743,477.85 ล้านบาท
ขณะที่แผนการลงทุนในปี 2562-2566 ปตท.มีแผนการลงทุน จำนวน 167,114 ล้านบาท แบ่งเป็น ในปี 2562 จำนวน 70,501 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 46,181 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 23,798 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 17,184 ล้านบาท และปี 2566 จำนวน 9,450 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 5 ปี เช่น คลังรับก๊าซ LNG มูลค่า 34,680 ล้านบาท, ท่อส่งก๊าซฯ 27,527 ล้านบาท, ธุรกิจก๊าซฯ 10,908 ล้านบาท, ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 11,779 ล้านบาท, โครงการ EECi 15,695 ล้านบาท และการลงทุนของบริษัทในเครือที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 66,525 ล้านบาท
ความยิ่งใหญ่ของ ปตท. ทั้งบทบาทในแง่การเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานแห่งชาติคุมทิศทางและเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ ทั้งความเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน (Market Cap.) เป็นอันดับ 1 ในปี 2019 โดย PTT มี Market Cap. เท่ากับ 1,392,446 ล้านบาท
นั่นทำให้ศึกช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็น “ประธานบอร์ด” และ “ซีอีโอ” เป็นที่สนใจอย่างยิ่งในทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยน ไม่เพียงแต่ในแวดวงพลังงาน ตลาดหุ้น เท่านั้น แต่ยังต้องทอดสายตาไปดูว่า “การเมือง” จะเอาวางตัวใครไว้ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด ประธานบอร์ด หรือผู้บริหารระดับสูงสุดของรัฐวิสาหกิจใหญ่ มักเป็นคนที่ “นักการเมือง” ที่กำกับดูแล หรือ “รัฐบาล” เปิดไฟเขียวหรือส่งเข้ามาคุมแทบทั้งนั้น
กล่าวสำหรับความฮือฮาของการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ซีอีโอ ปตท. คนใหม่ ที่จะมาแทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอคนปัจจุบัน ซึ่งจะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2563 หลังจากดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561 เริ่มเป็นกระแสตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เมื่อบอร์ด ปตท.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน เพื่อมาพิจารณาคุณสมบัติและคัดเลือกซีอีโอ ปตท.คนใหม่ ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 4-26 พฤศจิกายน 2562
เป็นความฮือฮาระคนน่าสงสัยไปพร้อมๆ กัน นั่นก็คือ หนึ่ง คณะกรรมการสรรหาที่ตั้งขึ้นมารอบนี้ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อแต่อย่างใด ผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องทำให้โปร่งใสทุกปี
สอง ในการประชุมคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้แต่งตั้ง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. เป็นกรรมการและกรรมบริหารความเสี่ยงองค์กร แทนนายณัฐชาติ จารุจินดา กรรมการที่ครบวาระ
สาม การแต่งตั้ง นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นกรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ตามโควตาของกระทรวงพลังงาน แทน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 เพื่อไปเป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกด้วย
และ สี่ รายชื่อบอร์ดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ หลังจากส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบตามที่เสนอแล้ว จะมีการประชุมบอร์ด ปตท. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งประธานบอร์ดคนใหม่ เข้ามาแทนที่นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ที่นั่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอิสระ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกระแสข่าวปล่อยออกมาว่า คนที่จะขึ้นนั่งแท่นประธานบอร์ดคนใหม่ก็คือ นายไพรินทร์ นั่นเอง
หากการเดินหมากเป็นไปตามแผนก็หมายความว่า นายไพรินทร์ จะนั่งอยู่ในฐานะประธานบอร์ด ในระหว่างที่มีการสรรหาซีอีโอ ปตท. คนใหม่ แทนนายชาญศิลป์ เมื่อประกอบเข้ากับคณะกรรมการสรรหา ที่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะ ก็อาจเท่ากับว่าเป็นการปิดประตูล็อกห้องทำให้การสรรหาซีอีโอ ปตท. รอบนี้ อยู่ในวงจำกัดเพียงไม่กี่คน และคาดหมายล่วงหน้าได้ว่ากระแสหวยล็อคซีอีโอคนใหม่เป็นคนในคาถาหรือกลุ่มก๊วนเดียวกันกับ “สายไพรินทร์” มีโอกาสเป็นไปได้สูง
มาดูตัวเต็ง 3 คน ที่ปรากฏชื่อท้าชิงตำแหน่งซีอีโอ ปตท. คราวนี้ มีใครบ้าง 1.นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี เขาคนนี้เพิ่งขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นี่เอง พร้อมเป้าหมายทำให้ไออาร์พีซี เป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชียภายในปี 2563 แต่วันนี้เขาขอลงสนามแข่งชิงซีอีโอ ปตท. ตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
นายนพดล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ผ่านธุรกิจที่สำคัญของ ปตท. มามากกว่า 29 ปี ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติด้านสายงานระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและสายงานก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศด้านการค้าน้ำมันดิบต่างประเทศและบริหารความเสี่ยง รวมทั้งบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และบริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย (ปิโตรนาส) และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในช่วงที่บริษัทเตรียมจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
2.นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยออยส์ จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และเคยเข้ามาท้าชิงเก้าอี้ซีอีโอ ปตท. มาแล้ว
นายวิรัตน์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จาก Pennsylvania State University สหรัฐอเมริกา เข้าอบรมในหลักสูตร Advanced Management Program (AMP) ของ Harvard Business School, สหรัฐฯ และ AMP ของ INSEAD Business School ฝรั่งเศส เขาเริ่มต้นประสบการณ์ทำงานกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ เชลล์ (ประเทศไทย) และมีประสบการณ์บริหารงานด้านวาณิชธนกิจกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งก่อนเข้าร่วมงานกับกลุ่ม ปตท.เมื่อปี 2548
โดยนั่งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดสายงานการเงินและบัญชี (CFO) ในบริษัท Flagship ต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ก่อนจะย้ายมาดูแลธุรกิจของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2557 จากนั้นในปี 2559 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ รับผิดชอบดูแลธุรกิจต้นน้ำของกลุ่ม ปตท. ซึ่งรวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตของ ปตท.สผ. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ PTT Global LNG ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ ไทยออยล์ในปัจจุบัน
และ 3.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ขึ้นเป็นผู้บริหาร ปตท. เมื่อปี 2553-54 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ปตท. จากนั้น ปี 2554-2557 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ ปตท. และเดือนกันยายน 2557 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ปตท.
ถัดมาระหว่างเดือนตุลาคม 2557 - 30 กันยายน 2558 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ ปตท. ต่อมา เดือนตุลาคม 2558-30 กันยายน 2560 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. และนับจากเดือนตุลาคม 2560 จวบจนปัจจุบัน เป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายอีกตำแหน่งหนึ่ง
นายอรรถพล เป็นวิศวกรที่มีความสามารถด้านมาร์เก็ตติ้งจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2561 และเป็นคีย์แมนสำคัญที่วางกลยุทธ์ให้สถานีบริการน้ำมันต่อยอดพัฒนาธุรกิจอื่น หรือ Non-Oil Business
ทั้งสามคนที่ท้าชิงต่างมีจุดแข็งด้วยกันทั้งสิ้น แต่หากนายไพรินทร์ ได้นั่งเป็นประธานบอร์ด ปตท. ตามคาดแล้ว แว่วว่า หวยซีอีโอ ปตท.คนใหม่ อาจไปออกที่นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างมีโอกาสพลิกล็อก เมื่อเกมสกัดนายไพรินทร์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท. เริ่มเข้มข้นขึ้น โดยนายอุทัย ท้าวอินทร์ เลขาธิการชมรมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบบุคคลและนิติบุคคล ดังต่อไปนี้
1.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 2.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 3.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัทปีพ.ศ.2557 ทั้งหมด 4.บริษัท ซินเนอจีโซลูชั่น และกรรมการผู้มีอำนาจ 5.บริษัท โพลีเมอร์อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จำกัด และกรรมการผู้มีอำนาจ และ 6.บริษัท โพลีเมอร์เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด และกรรมการผู้มีอำนาจ ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กรณีบริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) ขาดทุน 5,235 ล้านบาท เมื่อปี 2557 แต่ยกหนี้ จำนวน 224 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง ทำให้ ปตท.และบริษัท IRPC ได้รับความเสียหายกว่า 318 ล้านบาท
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้บริหารแผน (กระทรวงการคลัง) คืนเงินส่วนที่เป็นค่าจ้างของ บริษัท ซินเนอจีโซลูชั่น จำกัด จำนวน 224 ล้านบาท พร้อม ดอกเบี้ย 7.5% คืนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น IRPC เนื่องจากบริษัท ซินเนอจีโซลูชั่นฯ มีการเรียกเก็บเงินที่ไม่สุจริตโดยเรียกเก็บย้อนหลังก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท และเรียกเก็บเงินมากเกินความเป็นจริง โดยบริษัทดังกล่าวมี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ในฐานะเจ้านายเก่าของ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ต่อมา นายไพรินทร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง CEO ปตท. และเป็นประธานบอร์ด IRPC ได้ยกหนี้ จำนวน 224 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลัง ทั้งที่ในปี 2557 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ขาดทุนมากถึง 5,235 ล้านบาท จึงอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ซินเนอจีโซลูชั่น จำกัด ทั้งยังอาจเป็นการละเว้นไม่ดำเนินคดีกับ บริษัท ซินเนอจีโซลูชั่น จำกัด ทำให้ ปตท. และ IRPC ได้รับความเสียหายรวมดอกเบี้ยแล้วกว่า 318 ล้านบาท
การสร้างกระแสเตะสกัด “ก๊วนไพรินทร์” คุกรุ่นขึ้นพร้อมกับกระแสที่ว่ามี “ผู้ใหญ่” ในทำเนียบรัฐบาล หนุนหลังนายไพรินทร์ คัมแบ็ก ปตท. รอดูกันต่อไปอีกไม่นานก็จะได้รู้ว่าท้ายที่สุดใครจะเข้าวิน