xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง? ปตท. กำไรวูบหนักกว่า30% มีแค่ PTTEP ยืนหนึ่งโตพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลดำเนินงานของยักษ์ใหญ่ ปตท. ยุค ชาญศิลป์ ตรีนุชกร นั่งเป็นซีอีโอ ยังไม่ออกจากโหมดรุ่งริ่ง จนต้องตั้งคำถามกันว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง มองข้ามช็อตไปถึงปีหน้าฟ้าใหม่จะฟื้นแน่หรือไม่ จะถึงเวลาเก็บเกี่ยวดอกผลจากเม็ดเงินลงทุนจริงหรือไม่ เมื่อโลกกำลังมุ่งเบนเข็มก้าวไปให้พ้นจากยุคพลังงานฟอสซิล

ขาลงธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม เป็นภารกิจท้าทาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สาย “สิงห์แดง” คนแรก ที่ฝ่ากระแสเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้กว่าปีแล้ว และได้เห็นผลงานจากผลดำเนินงานกันแล้ว อีกไม่นานถึงกลางปีหน้าก็พ้นวาระ แบบมาเร็วไปเร็วกว่าใคร จากปกติอยู่กันตามวาระ 4 ปี แต่ซีอีโอ ชาญศิลป์ มา สิงหาคม 2561 แล้ว พฤษภาคม 2563 ก็จะไปแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาเริ่มกระบวนการสรรหาซีอีโอ ปตท. คนใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานของ ปตท. ยุค ซีอีโอชาญศิลป์ ไม่เป็นที่น่าประทับใจนักลงทุนเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับยุคซีอีโอคนก่อนซึ่งทำกำไรอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านบาทเมื่อปี 2561 โดยนายชาญศิลป์ยอมรับว่า กำไรทั้งปี 2562 นี้จะต่ำกว่าแผนและต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งตัวเลขผลดำเนินงานสะท้อนออกมาแล้วว่าเป็นเช่นนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ปรากฏว่า มีกำไรสุทธิจำนวน 20,254 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 33.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำกำไรได้ 30,328 ล้านบาท ผลกำไรดิ่งลงดังคาดซึ่งประเมินล่วงหน้าได้จากผลดำเนินงานของบริษัทลูก ปตท. ที่ประกาศก่อนหน้าทั้งรายได้และกำไรร่วงระนาว

สำหรับสาเหตุที่กำไรไตรมาส 3/2562 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ลดลง รวมถึงค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อ บริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 538,436.28 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 606,979.95 ล้านบาท ลดลง 68,542 ล้านบาท หรือ 11.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายที่ลดลงหลักจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนขายและการให้บริการ ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 479,218.10 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 521,695.27 ล้านบาท

ตัวเลขในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 75,504 ล้านบาท ซึ่งลดลง 24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 100,145 ล้านบาท เนื่องจาก EBITDA ที่ลดลง และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจาก GPSC และ PTTEP

ด้านสินทรัพย์รวมของปตท. และบริษัทย่อย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 2,419,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จาก ณ 31 ธันวาคม 2561 โดยหลักมาจากที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW ของ GPSC และการเข้าซื้อกิจการ Murphy ของ PTTEP

ขณะที่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1,130,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% ซึ่งเป็นหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 650,474 ล้านบาท โดยหลักๆ จากเงินกู้ยืมเพื่อเข้าซื้อกิจการ GLOW ของ GPSC การกู้ยืมเงินและการออกหุ้นกู้ของ บมจ. พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (GC) และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,289,102 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากการจ่ายเงินปันผล และผลกระทบจากการแปลงค่างบการเงินของ PTTEP ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

หากดูจากผลการดำเนินงานที่ทยอยประกาศผลของบริษัทลูกในเครือ ปตท. 5 แห่ง ประกอบด้วย PTTGC, PTTEP, GPSC, TOP และ IRPC ปรากฏว่า มีกำไรทั้งสิ้น 12,571 ล้านบาท ลดลง 59.72% จากไตรมาส 3 ปีก่อน และลดลง 30.31% จากไตรมาส 2 ที่มีกำไรสุทธิ 18,041 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจาก IRPC และ TOP พลิกกลับมาขาดทุน ส่วน PTTGC มีกำไรเพียง 2,663 ล้านบาท ต่ำลง 79.18% จากไตรมาส 3 ของปีก่อน แต่ฟื้นตัว 21% จากไตรมาส 2 ที่มีกำไรสุทธิ 2,202 ล้านบาท

กล่าวโดยภาพรวม 9 เดือนของปีนี้ ทั้งกลุ่ม ปตท. เหลือกำไรสุทธิ 55,038 ล้านบาท ลดลง 39.23% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 90,576 ล้านบาท

หากเจาะลงไปรายบริษัท อย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ผลประกอบการไตรมาส 3/2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,663.33 ล้านบาท ลดลง 79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,792.58 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 105,154 ล้านบาท ลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากผลกระทบของสงครามการค้าเป็นหลัก

ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ ปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำโดยเฉพาะสไตรีนโมโนเมอร์ และการลดลงของระดับสินค้าคงเหลือของเบนซีนในจีนอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ราคาผลิตภัณฑ์โอลีเอทิลีนได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีแนวโน้มลดลงตลอดไตรมาส

ส่วนการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ รวม 11,308 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 69 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36,008.03 ล้านบาท
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของโลกจะยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC ที่เพิ่้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แถลงด้วยความเชื่อมั่นว่าปี 2563 บริษัทจะกำไรเพิ่มขึ้นจากปีนี้ โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 11% และอีก 3 โครงการปิโตรเคมีใหม่ที่จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่อง ทั้งบริษัทยังเตรียมงบลงทุนในช่วง 5 ปี (2563-2567) ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่และซื้อกิจการอีกด้วย

สำหรับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/2562 ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิ 1,320.73 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,560.20 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 54,264 ล้านบาท ลดลง 21% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และมีการใช้น้ำมันดิบเข้ากลั่นอยู่ที่ 193,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 5%

ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทขาดทุนสุทธิ 660.88 ล้านบาท ลดลง 107% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,361.70 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 166,240 ล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ

ทางด้าน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP แจ้งว่า ไตรมาส 3/2562 มีผลขาดทุนสุทธิ 682.61 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,558.35 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายลดลง เพราะการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. ถึงปลายเดือนก.ค. 2562 ราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง รวมถึงบริษัทมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน จำนวน 1,373 ล้านบาท

ส่วนงวด 9 เดือน 2562 มีกำไรสุทธิ 4,292.61 ล้านบาท ลดลง 71.3 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,960.99 ล้านบาท เพราะรายได้จากการขายลดลง อยู่ที่ 265,916 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 288,893 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายและราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบและการหยุดซ่อม

ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม จะมีเพียงแต่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เท่านั้นที่ฟันกำไรพุ่ง โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2562 มีรายได้รวม 4,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 143,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 3,960 ล้านดอลลาร์ หรือ 127,434 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2561

ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญมาจากปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่ม ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในแหล่งบงกช ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อกลางปี 2561 และการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2562 ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 1,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 37,182 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 27,372 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการของไตรมาส 3 ปี 2562 นั้น ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 11,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับ 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 10,401 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการมาเลเซียเช่นเดียวกัน

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าที่ ปตท. ได้ขยายพรมแดนเข้าไปลงทุนนั้น นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ไตรมาส 3/2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 19,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,565 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 189% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ที่มีส่วนสำคัญต่อการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นของ GPSC เต็มไตรมาสอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 893 ล้านบาท ลดลง 6 ล้านบาท คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักทั้งจากราคาขายไฟฟ้าที่ลดลงของโรงไฟฟ้าเอ็กโค่-วัน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,873 ล้านบาท

รายได้และกำไรของกลุ่มปตท.ที่หัวทิ่มลง การส่งเม็ดเงินรายได้เข้ารัฐก็ย่อมลดลง แต่ราคาน้ำมันและก๊าซฯที่ประชาชนแบกรับไม่แน่ว่าจะลดลงตามหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น