xs
xsm
sm
md
lg

GPSC โตสุดโต่งแม้เพิ่มทุน มีลุ้นทะลุเป้า 8 พันเมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่” (GPSC) เติบโตสุดโต่งราคาหุ้นพุ่งเกือบ 80% จากต้นปี แม้เพิ่งเพิ่มทุน 7.4 หมื่นล้าน วงการเชื่อนักลงทุนมั่นใจในศักยภาพ อีกทั้งมีข่าวดีจากโครงการใหม่ทยอย COD ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการคว้างานในต่างประเทศ โอกาสสร้างกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 8 พันเมกะวัตต์ไม่ใช่เรื่องฝัน แต่เตือนราคาสูงจัดในช่วงเดือนตุลาคม 2562

ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ปรับตัวแรงมาก จากราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวระดับ 70 บาท/หุ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนมาอยู่ที่ระดับ 93 บาท/หุ้น เมื่อ 24 ต.ค. เพิ่มขึ้น 23 บาท/หุ้น หรือ 32.85% และจากต้นปีที่ระดับ 52.34 บาท/หุ้น ถือว่าเพิ่มขึ้น 40.66 บาท/หุ้น หรือ 77.68% เรียกได้ว่าใครที่ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้นปีมีแต่กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับต้นทุนที่เข้าซื้อ แต่โดยรวมนั่นเพราะนักลงทุนเชื่อมั่น และเห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการระดมทุนเพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจไปเป็นจำนวนมาก (เข้าซื้อหุ้น บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW) ก็ตาม

สิ่งที่ช่วยตอกย้ำความน่าสนใจต่อหุ้น GPSC คือมุมมองของนักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าผลดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 3/62 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเพิ่มทุนไร้ปัญหาหลังศักยภาพโดดเด่น ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ GPSC เพิ่งประกาศความสำเร็จผลการเปิดจองหุ้นสามัญเพิ่มทุนมูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท ระหว่าง 30 กันยายน ถึง 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับจากผู้ถือหุ้นเดิมในการเข้าจองสิทธิ์และชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเป็นที่เรียบร้อยตามจำนวนที่ขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 1,321 ล้านหุ้น ถือเป็นความสำเร็จในการออกหุ้นเพิ่มทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จดทะเบียน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทได้เป็นอย่างดี

นั่นทำให้บริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทอีกจำนวน 1.32 หมื่นล้านบาทเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีทุนชำระแล้วเปลี่ยนแปลงจากเดิม 1.49 หมื่นล้านบาท เป็น 2.81 หมื่นล้านบาท ส่วนวงเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำไปปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อการชำระหนี้ระยะสั้น (Bridge loan) คืนให้แก่สถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ที่บริษัทใช้ในการเข้าซื้อกิจการของ GLOW และเพื่อเป็นการรักษาระดับอัตราส่วนทางการเงินให้เทียบเคียงได้กับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 1 เท่า ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดิม 3.9 เท่า ส่งผลให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการลงทุนในโครงการปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"เรามั่นใจว่าภายหลังการเพิ่มทุนจะส่งผลให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่เป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เดินหน้าไปตามแผนงาน และการควบรวมกิจการกับ GLOW จะทำให้บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผล สำหรับผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในปี 2563" "ชวลิต ทิพพาวนิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้การเพิ่มทุนจะได้เงินประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นในการซื้อ GLOW จำนวน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินจาก PTT, PTTGC จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท และจากสถาบันการเงินอีก 9.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหลังจากที่ได้ปรับโครงสร้างเงินทุนด้วยการเพิ่มทุน 7.4 หมื่นล้านบาท จะนำไปชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นส่วนหนี้ที่เหลือ 6 หมื่นล้านบาท บริษัทจะทยอยชำระด้วยการออกหุ้นกู้วงเงิน 3-3.5 หมื่นล้านบาท และมีกระแสเงินสดจาก GPSC และ GLOW ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในปี 2562 ลดลงเหลือระดับ 1 เท่า ตามนโยบายของบริษัท

ล่าสุด "ทริส เรทติ้ง" มีมุมมองต่อการขายหุ้นเพิ่มทุนของ GPSC ว่า บริษัทออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) วงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทเพื่อไปชำระคืนเงินกู้นั้น ทำให้ "ทริส" ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ GPSC ที่ระดับ “AA-” พร้อมกับจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และหุ้นกู้สำรองที่ระดับ “AA-” เพื่อสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม ปตท. ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสำคัญของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทลูกที่รับผิดชอบด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของกลุ่ม ปตท. และยังคำนึงถึงระดับเงินกู้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ พลังงาน อีกด้วย

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีอยู่จะดำเนินงานไปด้วยความเรียบร้อยและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามประมาณการ นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถลดอัตราส่วนการก่อหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้ตามแผนที่วางไว้

ไม่เพียงเท่านี้ อันดับเครดิตของ GPSC อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากการรวมธุรกิจกับ บริษัท โกลว์ พลังงาน ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตามที่วางแผนไว้ และในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้หรือโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่มีเป้าหมายที่ท้าทายและเป็นไปได้

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ GPSC ต่อจากนี้คือ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตของกลุ่ม โดยในส่วนของธุรกิจพลังงานทดแทนจะลงทุนให้มีกำลังผลิตรวมทั้งกลุ่ม 8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น แบตเตอรี่, สมาร์ทซิตี้, สมาร์ทกริด เป็นต้น

"เป้าหมายการลงทุนพลังงานทดแทน 8 พันเมกะวัตต์ ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่สูงมาก ดังนั้นต้องทำการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งไปสู่เป้าหมายที่กลุ่ม ปตท.วางไว้ในการจะเติบโตอย่างยั่งยืนตามเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ของโลกและช่วยลดภาวะโลกร้อน ลด CO2 รวมทั้งเป็นการสอดรับกับแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ที่จะเพิ่มเป็น 18% ใน 5 ปี" นายชวลิตกล่าว

และจากเป้าหมายดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในวงเงิน 7.4 หมื่นล้านบาทที่ผ่านมาเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทให้มีฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการขยายการลงทุนในอนาคต เพื่อตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตไฟฟ้าในไทยภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งจะมุ่งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 1. การเติบโตพร้อมกลุ่ม ปตท. 2. การขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ และ 3. การพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยวางกรอบการลงทุนรองรับแผน 5 ปี (ปี 63-67) ภายใต้วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนการดำเนินงานของบริษัทภายหลังรวมกิจการ GLOW นั้น บริษัทรายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน (Synergy) ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต ต้นทุน บุคลากร และการขยายโครงข่ายการให้บริการ โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ประกอบการในโครงการ EEC ซึ่งบริษัทคาดเมื่อรวมกับ GLOW จะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถจ่ายปันผลที่ดีขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาส 4/62 บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้และกู้เงินระยะยาวไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อมาทดแทนเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งคาดจะช่วยลดภาระหนี้ต่อทุน (D/E) เหลือ 1 เท่า จาก 2.5 เท่าขณะนี้

ส่องศักยภาพ GPSC ปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,986 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายโครงการที่จะเริ่ม COD ในปีนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 (NL1PC) ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยอง แห่งที่ 4 (CUP-4) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ปี 2564 และปี 2566 ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU (Energy Recovery Unit) ตามลำดับ รวมถึงยังมีอีก 3 โครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2563 ปี 2564 และปี 2566 ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร กำลังส่วนขยาย (NNEG Expansion) 60 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF 9.9 เมกะวัตต์ และหน่วยผลิตไฟฟ้าในโครงการขยายกำลังกลั่นของไทยออยล์ หรือ ERU (Energy Recovery Unit) 250 เมกะวัตต์ ตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้น GPSC ยังมีแผนลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพี ทดแทนสัญญาเดิมที่หมดอายุ 600 เมกะวัตต์ จากสัญญาเดิม 900 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าระบบปี 2565-2568

อีกหลายปัจจัยทยอยสนับสนุน

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการนำก๊าซฯ จากแหล่งปิโตรเลียมต่อยอดผลิตไฟฟ้า (Gas to Power) ที่พม่า ขณะนี้บริษัทกำลังรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลพม่าที่ต้องเห็นชอบและออกใบอนุญาตในโครงการดังกล่าว หลังจากได้ยื่นรายละเอียดโครงการลงทุนให้รัฐบาลพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเร็วๆ นี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง GPSC กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) และยังไม่ได้มีการสรุปสัดส่วนการถือหุ้นเพราะต้องการความชัดเจนจากทางรัฐบาลพม่าก่อน เบื้องต้นสัดส่วนการลงทุนอาจแตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 โครงการหลัก คือ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M3 ไปยังโรงไฟฟ้าบริเวณเมืองย่างกุ้ง อีกส่วนคือโครงการโรงไฟฟ้า คาดว่าสัดส่วนการลงทุนจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 นี้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน พบว่าราคาหุ้น GPSC ยังปรับตัวล่วงหน้ารอรับแผนส่งเสริมรถยนต์ EV ของรัฐบาลด้วย โดยเรื่องดังกล่าวเริ่มจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ผลักดันการใช้ EV ในอนาคต โดยเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมผลักดันมาตรการส่งเสริม EV คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ โดย GPSC มีแผนลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนร่วมกับพันธมิตร 24M Technology ที่จะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

ล่าสุดการวิจัยนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุนนั้น บริษัทจะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบขึ้นที่เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับบริษัท 24M ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำโรงงานต้นแบบ 2 ปี โดยกลุ่ม ปตท.จะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะหาพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งพันธมิตรร่วมทุนและพื้นที่จัดตั้งโรงงานภายในสิ้นปีนี้

ทิศทางธุรกิจ GPSC ในอนาคต

นักวิเคราะห์คาดการณ์ถึงแนวโน้มธุรกิจของ GPSC ว่า การเข้าซื้อกิจการของ GLOW จะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยในการซื้อกิจการ GLOW ทำให้ต้นทุนทางการเงินในไตรมาส 2/62 เพิ่มขึ้นเป็น 1,610 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,089% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 332% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สิ่งที่น่าสนใจคือ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,766 เมกะวัตต์ เตรียมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,026 เมกะวัตต์ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตสูงสุดอันดับ 3 ของประเทศ อีกทั้งบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายโครงการที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ดังนั้น จึงมีมุมมองเป็นบวกต่อ GPSC เพราะมองว่าจะมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่ดีมาก มีความหลากหลายในประเภทของธุรกิจไฟฟ้า กระจายความเสี่ยงได้ดี นอกจากนี้ แผนการลดหนี้ลดต้นทุนการเงินของ GPSC จะนำมาซึ่งกำไรที่ดีขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศขณะนี้ เทียบกับผลประกอบการในปัจจุบัน พบว่าเรื่องดังกล่าวทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของหุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมถึง GPSC ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 16.54 เท่า ขณะที่เงินปันผลตอบแทนของหลายบริษัทอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจึงถือว่าค่อนข้างแพง โดยอีกเหตุผลที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าทำให้ราคาหุ้นโรงไฟฟ้าปรับตัวสูงมากนั้นมาจากการโยกย้ายเงินลงทุนมายังกลุ่มหุ้น Defensive เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงหลายๆ อย่าง เช่น สงครามการค้า ซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยก็กลับมาเป็นขาลงอีกครั้ง ขณะที่หุ้นโรงไฟฟ้าซึ่งเป็น defensive stock จะไม่ถูกกดดันมากนักเมื่อเทียบกับตลาด



กำลังโหลดความคิดเห็น