xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นปูนใหญ่ดิ่งรับผลกำไรทรุด-วูบจากราคาปิดสิ้นปี 61 กว่า 23%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ราคาหุ้นปูนใหญ่ดิ่งหนัก หลังผู้บริหารยอมรับรายได้ปี 62 ทรุดจากปี 61 ประมาณ 8% ขณะที่ไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 35% ล่าสุดปิดที่ 356 บาท เฉียดราคาซื้อขายต่ำสุดประจำปีที่ 351 บาท และลดลงจากราคาปิด ณ สิ้นปี 61 กว่า 107 บาท หรือกว่า 23% ขณะที่โบรกเกอร์เสียงแตกมีทั้งแนะนำให้ขาย-ซื้อ-ถือ

หลังจากที่ผู้บริหารของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ได้ออกมายอมรับผลประกอบการประจำปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้จะลดลงจากปี 2561 ประมาณ 8% ที่มีรายได้รวมประมาณ 5.05 แสนล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว รวมถึงแนวโน้มราคาธุรกิจเคมีภัณฑ์อ่อนตัว

ประกอบกับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2562 บริษัทกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.47 พันล้านบาท หรือกำไรลดลง 35% เพราะมีการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (DTA) จำนวน 1,063 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง 983 ล้านบาท รวมถึงพิษสงครามการค้า ทำให้ปริมาณความต้องการสินค้า HDPE ลดลง

จากประเด็นดังกล่าวได้กดดันให้ราคาหุ้นวันนี้ (29 ต.ค.) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากถูกนักลงทุนเทขาย แม้นักลงทุนจะรับทราบและทยอยขายหุ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ โดยราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 352 บาท สูงสุดที่ 363 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 356 บาท ลดลง 3.00 บาท หรือ 0.84% มูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 1,392.83 ล้านบาท


เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นปี 28 ธ.ค. 62 จากราคาหุ้นปิดที่ 463 บาท พบราคาล่าสุดลดลงกว่า 107 บาท หรือ 23.11% ขณะที่ซื้อขายสูงสุดประจำปี 2562 อยู่ที่ 490 บาท ณ วันที่ 2 เม.ย. 2562 และแตะราคาต่ำสุดที่ 351 บาท ณ วันที่ 28 ต.ค. 2562

ฟิลลิป แนะนำ "ทยอยซื้อ" เป้าหมาย 400 บาท

บล.ฟิลลิป : ผลประกอบการไตรมาส 3/62 ที่ปรับตัวลดลงกว่าปีก่อนเกือบ 35% ยังดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากรายการพิเศษ (กลับรายการภาษีรอตัด, ตั้งด้อยค่า-โรงงานเซรามิก ตปท., กำไรคงคลัง) สุทธิเป็นรายจ่าย 1.6 พัน ลบ.) หากแต่กำไรปกติลดลงเพียง 10% ซึ่งเกิดจากผลดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีลดลงจาก Spread ที่ลดลง, ธุรกิจวัสดุก่อสร้างทรงตัว และธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพิ่มจากการซื้อกิจการใหม่ แต่มีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่ม ภาพรวมกำไรปกติถือว่าธุรกิจปิโตรเคมีดีกว่าที่คาด เนื่องจากผลดีจากการมีผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มช่วยหนุน Margin

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีมาก แต่ Spread ปิโตรเคมีน่าจะเข้าใกล้ระดับที่หลายโรงงานในภูมิภาคอาจไม่คุ้มการผลิต ทำให้ Supply ลดลง ขณะที่ Trade War กลับมาเจรจามากขึ้น ทำให้ภาพรวม Spread เริ่มมีเสถียรภาพ ขณะที่ธุรกิจวัสดุฯ ยังมีความหวังจากโครงการภาครัฐฯ มีโอกาสเติบโต ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีศักยภาพเติบโตจากการซื้อกิจการที่ผ่านมา และมีแผนระดมทุน IPO เพื่อขยายกิจการ ทำให้มองว่าภาพรวมกำไรน่าจะเข้าใกล้จุดต่ำสุดในปีหน้า และค่อยๆ ดีขึ้น โดยคาด 2 ธุรกิจหลักจะช่วยชดเชยธุรกิจปิโตรเคมีที่เริ่มมีเสถียรภาพ

บล.ฟิลลิปมีคำแนะนำ "ทยอยซื้อ" ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 400 บาท เนื่องจากแนวโน้มกำไรเริ่มมีเสถียรภาพ พร้อมกับ Upside จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะเป็นการกลับมาเติบโตในระยะยาว

บล.เคทีซีมิโก้ แนะ "Underperform"

ด้าน บล.เคทีซีมิโก้ : กำไรสุทธิไตรมาส 3/62 ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ จากรายการพิเศษ แต่กำไรจากผลการดำเนินงานปกติดีกว่าคาดเล็กน้อย และการนำ SCGP มา IPO และเข้า SET ระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนในอนาคตหนุนการเติบโตให้แก่ SCC ได้เร็วขึ้นด้วย SCGP มี EBITDA margin 17% ดีสุดใน 3 ธุรกิจหลัก น่าจะเป็นอีกเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับ SCC ในระยะกลาง-ยาว แต่ด้วยแนวโน้มส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์ไม่สดใสจากวัฏจักรขาลงของธุรกิจที่คาดต่อเนื่องถึง 4 ปี (ส่วนหนึ่งขึ้นกับสงครามการค้า) กดดันแนวโน้มกำไร คงคำแนะนำ “Underperform” ราคาเป้าหมาย 428 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำ "HOLD"

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง : กำไรสุทธิทรุดลงเหลือเพียง 6,204 ล้านบาท (ลดลงจากไตรมาส 2/62 ประมาณ 12% และลดลง 35% จากไตรมาส 3/61) ต่ำกว่าที่เราคาดหมายไว้ 7,550 ล้านบาท ถ้าหากบวกกลับรายการพิเศษ จะมีกำไรปกติ 8,029 ล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสก่อน 12% และลดลงจากปีก่อน 23%) มากกว่าคาด ทุกธุรกิจ เคมิคอลส์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และแพกเกจจิ้งล้วนปรับลดลง ปิโตรเคมีของโลกเข้าสู่วัฏจักรขาลงหนักขึ้นกระทบแนวโน้มกำไรในอนาคต ประเมินราคาเป้าหมาย 420 บาท บนฐาน Forward P/E+0.5SD เท่ากับ 13 เท่า แนะนำถือ รอปัจจัยลบผ่อนคลาย

ดีบีเอสฯ แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 417 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส : คงคำแนะนำซื้อ แต่ปรับราคาพื้นฐานเป็น 417 บาท (SOP) ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็น Catalyst คือการนำ SCGP เข้าจดทะเบียนใน SET, อุปสงค์ซีเมนต์ในประเทศเติบโตได้จากโครงการลงทุนภาครัฐและในต่างประเทศ (CLMV) ขยายตัวตามเศรษฐกิจที่กำลังโต, ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนสูงขึ้น และ Valuation จูงใจ ณ ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ปี 20F ที่ 12.8 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 14.2 เท่า คาด Dividend yield ปี 20F ไว้ที่ 3%

ทิสโก้แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 498 บาท

บล.ทิสโก้ : คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4/62 จะเพิ่มขึ้นจากเงินปันผล และไม่มีรายการค่าใช้จ่ายพิเศษ (ภาษี และการตัดจำหน่าย) แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนต่อรายได้ที่อ่อนแอลงจากธุรกิจเคมี QTD และส่วนต่างราคา HDPE-naphtha ที่ลดลง 17% QoQ QTD เป็นปัจจัยกดดัน และเป็นช่วง Low ของวัสดุก่อสร้างด้วย

ขณะที่แผนระดมทุนบริษัทโลกที่จะ IPO บริษัทลูก SCGP โดยหุ้นใหม่จะไม่เกินสัดส่วน 30% และผู้ถือหุ้น SCC จะได้สิทธิในการจองซื้อหุ้น IPO ก่อน โดยเราประเมินมูลค่าสำหรับปี 2020F อิง EV/EBITDA ที่ 8.7 เท่า คิดเป็นมูลค่า 1.51 แสนล้านบาท หรือ 126 บาทต่อหุ้นของ SCC เราแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 498 บาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ "ขาย"

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) : แนะนำ “ขาย” ราคาเป้าหมาย 340 บาท อิง SOTP SCC ประกาศกำไรสุทธิ 3Q19 อยู่ที่ 6,204 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 35% และลดลงจากไตรมาส 2/62 ประมาณ 12% QoQ ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด -10% และ -19% ตามลำดับ เป็นผลจากรายการพิเศษที่เป็นค่าใช้จ่ายราว 1,825 ล้านบาท ถ้าไม่รวมรายการดังกล่าวกำไรจะอยู่ที่ 8,029 ล้านบาท -35% YoY, -12% QoQ โดยธุรกิจปิโตรเคมียังอ่อนแอต่อเนื่อง โดยส่วนต่าง HDPE-Naphtha ลดลง 15% QoQ เหลือ 457 เหรียญสหรัฐต่อตัน และแนวโน้ม 4Q19E เราคาดว่าธุรกิจปิโตรเคมียังอ่อนแอต่อ ซึ่งปกติไตรมาส 4 จะเป็นช่วง .low season ของธุรกิจปิโตรเคมี และส่วนต่าง HDPE-Naphtha QTD เหลือเพียง 375 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้นแล้วทำให้เราประเมินกำไร 4Q19E จะอยู่ราว 7-8 พันล้านบาทเท่านั้น และมีโอกาสที่ตลาดจะต้องมีการปรับประมาณการกำไร 2019E ลง (consensus ประเมินที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ 9M19 มีกำไร 2.5 หมื่นล้านบาท) แต่เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2019Eที่ 32,931 ล้านบาท ซึ่งเราได้ปรับสมมติฐานส่วนต่างราคาที่ระดับต่ำไว้แล้ว

ขณะที่ราคาหุ้น 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลงไป 13% สะท้อนผลประกอบการที่อ่อนแอไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะยัง under perform ต่อไปเพราะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมี

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/62 ยังอ่อนแอตามธุรกิจปิโตรเคมี เราประเมินแนวโน้ม 4Q19E ธุรกิจปิโตรเคมียังอ่อนแอต่อ โดยปกติไตรมาส 4 จะเป็นช่วง .low season ของปิโตรเคมี และส่วนต่าง HDPE-Naphtha เหลือเพียง 375 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยผู้บริหารยังไม่สามารถประเมินได้ว่าส่วนต่างจะยังอยู่ในระดับต่อไปอีกนานแค่ไหน สำหรับเราประเมินว่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวไปอีกอย่างน้อย 6-9 เดือนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ถดถอยลง สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ ผู้บริหารยังคาดหวังโครงการลงทุนของรัฐบาล ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้นยังหดตัว สำหรับเราประเมินว่าจะยังไม่เห็นการเติบโตไปอีกอย่างน้อย 6-9 เดือนเช่นกัน เนื่องจากโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐนั้นเพิ่งผ่านช่วงประมูลและเซ็นสัญญาไปซึ่งจะต้องมีช่วงเวลาในการส่งมอบพื้นที่อีกนานพอสมควร ดังนั้นแล้วทำให้เราประเมินกำไร 4Q19E จะอยู่ราว 7-8 พันล้านบาท ซึ่งเราคาดว่าตลาดจะต้องมีการปรับประมาณการกำไร 2019E ลง (consensus ประเมินที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ 9M19 มีกำไร 2.5 หมื่นล้านบาท) แต่เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2019E/20E ที่ 32,931 ล้านบาท และ 33,256 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเราได้ปรับสมมติฐานส่วนต่างราคาที่ระดับต่ำไว้แล้ว

บล.เอเชีย เวลท์แนะนำ "ถือ" เป้าหมาย 345 บาท

บล.เอเชีย เวลท์ : แนะนำถือ ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 400 บาท เป็น 345 บาท ซัปพลาย HDPE เข้ามาหนักกว่าที่คาดไว้เดิม เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ SCC ในปี 2563 ลงจาก EPS เดิม 28 บาท เป็น 23 บาทเดิมเราคาดว่ามีซัปพลาย HDPE เข้ามาราว 1.6 ล้านตันในช่วง 2H62 แต่จากบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร SCC คาดว่าจะมีซัปพลายใหม่ของ HDPE เข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงกลางปี 2563 ถึง 5 ล้านตัน และดีมานด์ก็อ่อนแอจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงจากพิษสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน รวมถึงการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย แม้ล่าสุดอินเดียจะยกเลิกการ Ban จากต้นเดือน ต.ค. 62 ไปก่อนก็ตาม เราคาดว่ากำลังการผลิตที่ล้นตลาดมีผลกระทบต่อราคาและสเปรด แนวโน้มกำไรรายไตรมาสของ SCC คาดว่าอ่อนตัวจากฐานเดิมที่ราว 9.0-11.0 พันล้านบาทได้ค่อนข้างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น