xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด “ปูนใหญ่” ไฟเขียว “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” เข้าตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปูนซิเมนต์ไทยอนุมัติให้ "เอสซีจี แพคเกจจิ้ง" เสนอขายหุ้น IPO เพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และด้วยระดับต้นทุนที่ต่ำ ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ขยายธุรกิจ ปรับโครงสร้างการเงิน ใช้เป็นทุนหมุนเวียน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 234 (8/2562) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ว่า ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และอนุมัติการนำหุ้นสามัญของ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นที่จะเสนอขายข้างต้นเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน โดย SCGP จะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนข้างต้นเพื่อใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ SCGP ทั้งนี้ บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้มีอานาจควบคุมของ SCGP และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เช่นเดิม โดยบริษัทฯ จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของทุนชาระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน

สำหรับ SCGP มีทุนจดทะเบียน 1,563,000,000 บาท และทุนชำระแล้ว 1,563,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 156,300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และมี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ 154,794,133 หุ้น หรือ 99.04% ส่วนผลประกอบการของ SCGP ระหว่างปี 2559-2561 มีรายได้ 74,542 ล้านบาท 81,455 ล้านบาท และ 87,255 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 3,851 ล้านบาท 5,374 ล้านบาท และ 6,826 ล้านบาท ตามลำดับ และงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มีรายได้ 41,529 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 43,773 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,884 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,362 ล้านบาท

การนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นการเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับ SCGP ให้สามารถระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และด้วยระดับต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจในเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตที่เป็นไปตามปกติของธุรกิจ (Organic Growth) และการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Inorganic Growth) และ SCGP จะได้รับเงินทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ มีโครงสร้างการบริหารธุรกิจที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ SCGP ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ SCGP มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เร่งเสริมสร้างรูปแบบธุรกิจแบบครบวงจร (Packaging Solution) ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้แข็งแกร่งเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยใช้กลยุทธ์การขยายกิจการแนวดิ่ง (Vertical integration) และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างฐานลูกค้า สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และขยายตลาดให้กว้างขึ้น เร่งการเติบโตของธุรกิจด้วยการขยายการลงทุนและการควบรวมกิจการ และการประสานกำลัง (Synergy) ภายในธุรกิจของ SCGP รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโจทย์ที่หลากหลายของลูกค้าด้วยบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร


กำลังโหลดความคิดเห็น