xs
xsm
sm
md
lg

SCC โอดตลาดซีเมนต์-วัสดุก่อสร้างอาเซียนแข่งดุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปูนซิเมนต์ไทย” ชี้ตลาดซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในอาเซียนแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีกำลังผลิตเกินความต้องการถึง 50 ล้านตัน เชื่อ 5 ปีดีขึ้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่าบริษัทให้ความสนใจในเรื่องความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจ โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์ระยะยาวจะต้องเป็นธุรกิจที่แข่งขันได้ในตลาดโลก

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในตลาดอาเซียนจะมีการแข่งขันรุนแรง แต่บริษัทเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและเติบโตระยะยาว เนื่องจากอาเซียนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้น

นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดปูนซีเมนต์ในไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ติดลบมาตลอด โดยปีที่แล้วติดลบ 5% ขณะที่กำลังการผลิตปูนในประเทศเพิ่มขึ้น 7-8% ทำให้สภาพการแข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้น คงต้องใช้เวลาและรอการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

สำหรับตลาดอาเซียน ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่อินโดนีเซียมีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดียวกับไทย โดยอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ 60 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตสูงถึง 110 ล้านตัน สภาพการแข่งขันสูงมาก บริษัทฯ เองก็เพิ่งเริ่มเปิดโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เมื่อปี 2560 จึงใช้กลยุทธ์ตัดราคาขายต่ำกว่าผู้ผลิตรายใหญ่ 2 รายค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันได้มีการขยับราคาขายขึ้นมาใกล้เคียงคู่แข่ง และล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจีนจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซีย บริษัทคงต้องจับตาและเร่งสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจ โดยเห็นว่าอีก 5 ปี ตลาดซีเมนต์อินโดนีเซียน่าจะดีขึ้น

เช่นเดียวกับตลาดเซรามิกที่อินโดนีเซียก็มีกำลังการผลิตเกินความต้องการใช้ถึง 50% และยังมีเซรามิกจากจีนเข้ามาจำหน่ายอีก 20% ทำให้ราคากระเบื้องเซรามิกลดลงทุกปี ดังนั้น บริษัทฯ จึงประสบปัญหาการขาดทุนในธุรกิจซีเมนต์ และเซรามิกที่อินโดนีเซีย

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมายเป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐฯ นั้น นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวกระทบต่อบริษัทฯ ไม่มาก เพราะบริษัทไม่ได้ผลิตสินค้าเหล่านี้

ขณะที่กระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง อย่างในกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่จะได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงในส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากแต่ก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีมาประกอบการศึกษาและนำมาใช้เพื่อให้มีการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น