xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ล่อซื้อ-ตบทรัพย์” รีดลิขสิทธิ์ แบบนี้ต้องเจอหลาย “กระทง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การละเมิด “ลิขสิทธิ์” หรือ “สิทธิบัตร” เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และนั่นหมายความว่า ผู้ใดที่กระทำการละเมิดย่อมต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษ “ทั้งจำทั้งปรับ”

นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่ “โลกทุนนิยม” ได้กำหนดเอาไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนโลกใบนี้

ทว่า โลกทุนนิยมก็มี “ความสามานย์” เหลือคณานับเช่นกัน โดยเฉพาะการอาศัยช่องว่างและช่องโหว่ทางกฎหมาย ไปรีดทรัพย์หรือตบทรัพย์ “ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์” ด้วย “ความไม่รู้” หรือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณี “เด็กหญิงวัย 15 ปี” ซึ่งถูกผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “ตัวแทนบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์” ดำเนินการล่อซื้อด้วยการสั่งทำ “กระทงอาหารปลาพิมพ์ลายการ์ตูนการ์ฟิลด์ และรีลัคคุมะ” กระทั่งนำไปสู่การจับกุม และเสียค่าปรับก้อนโต

นี่นับเป็น “ความโหดร้าย” ในความรู้สึกของผู้คนเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะผู้ถูกดำเนินคดีเป็น “เยาวชน” แถมการจับก็มิได้ดำเนินการตามรูปแบบปกติ หากแต่เป็น “การล่อซื้อแบบตั้งใจ” เพื่อนำไปสู่ “การจับกุม” และ “ค่าปรับ” ก้อนงาม ซึ่งไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้กับ “ผู้เกี่ยวข้อง” ในรูปลักษณ์ใดกันบ้าง

หลังจากเรื่องราวดังกล่าวเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย มีผู้เสียหายแสดงตัวเป็นจำนวนมาก ระบุโดนล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกัน โดยมี “ตัวละครสำคัญ” เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน เรียกว่า ยิ่งสืบยิ่งพบความเชื่อมโยงว่าทำมาหากินกันเป็น “ขบวนการ” กันเลยทีเดียว

ลอกคราบขบวนการล่อซื้อ “กระทง”
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยน้องเอ (นามสมมติ) วัย 15 ปี นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ต้องการหารายได้พิเศษโดยการประดิษฐ์กระทงลายดอกไม้-การ์ตูนจำหน่าย ประกาศขายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทว่า ต่อมาถูกล่อซื้อโดยกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็น “ตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์” เรียกเงินค่าปรับสูงถึง 50,000 บาท แลกกับการถอนแจ้งความ และข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายจะถูกจำคุก 2 ปี สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุยไกล่เกลี่ยให้เสียค่าปรับไปจำนวน 5,000 บาท

พฤติการณ์ของขบวนการตบทรัพย์ขบวนการนี้ มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เป็นการลวงให้กระทำความผิดด้วยการ“ล่อซื้อ” โดยออกอุบายทักแชทเฟซบุ๊กว่าต้องการ “สั่งซื้อการ์ตูน 30 ชิ้น” พร้อมทั้งเจาะจงสั่งลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ “ริลัคคุมะ” และ “แมวการ์ฟิลด์” มีการโอนเงินมัดจำ 200 บาท และมีการนัดแนะให้ไปส่งของบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา จากนั้นถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 6 -7 คน แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์เข้าล้อม นำมาสู่การจับกุมเด็กสาววัย 15 ปี ในฐานละเมิดลิขสิทธิ์


ต่อมา มีการนำตัวเยาวชน อายุ 15 ปี ไปที่ สภ.เมืองนครราชสีมา โดย น้องเอ เล่าเหตุการณ์บางช่วงบางตอนว่า “...เขาเรียกเงิน 50,000 ถึง 400,000 บาท แล้วก็พาไปห้องมืด เป็นห้องปิดตาย มีแค่ประตูหน้าประตูเดียว มีพี่ๆ ที่เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ 4 - 5 คน อยู่ในห้องเดียวกัน แล้วให้เซ็นรับสารภาพ แล้วเอาโทรศัพท์หนูไปคุยกับแม่และข่มขู่แม่...” ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง

กล่าวคือ ในการดำเนินคดีใดๆ กับ “เยาวชน” ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี จำต้องมี “สหวิชาชีพ” เข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนด้วยยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งมีขั้นตอนแตกต่างจากของผู้ใหญ่

ตัวละครสำคัญตัวแรกก็คือ “นายประจักษ์ โพธิผล” อายุ 56 ปีอ้างว่าเป็น “ตัวแทนลิขสิทธิ์” ผู้รับมอบอำนาจจาก “บริษัท พอส์ อิงค์ จำกัด” และ “บริษัท ซาน เอ็กซ์ จำกัด” ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรม ประเภทงานจิตกรรม ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

นายประจักษ์ นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ชุดจับกุมประกอบด้วย 1. ร.ต.อ. โมยิน ฉ่อกระโทก 2. ด.ต. สุทัศน์ เก่งวิริยกุล 3. ด.ต. กิตติพล พลเยี่ยม และ4.ด.ต หญิง ยุราพร ฐานกระโทก เข้าจับกุมเยาวชนวัย 15 ปี ขณะส่งมอบกระทงลายการ์ตูนรีลัคคุมะและการ์ฟิลด์

ทว่า ต่อมา “บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน)” ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนรีลัคคุมะ ออกหนังสือชี้แจงว่า “ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใด” และอยู่ระหว่างดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ทั้งนี้ นายประจักษ์ โพธิผล เป็นพนักงานของ “บริษัท เวอริเซ็ค จำกัด” ประกอบกิจการเกี่ยวกับการดูแลด้านการปราบปรามละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนรีลัคคุมะ (Rilakkuma) จากบริษัทซาน-เอ็กซ์ ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเปิดเผยว่า บริษัท ซาน-เอ็กซ์ ยกเลิกการแต่งตั้งบริษัท เวอริเซ็ค เป็นตัวแทนบริษัทไปแล้ว รวมทั้ง ได้แต่งตั้ง “บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน)” เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัทซาน-เอ็กซ์ ตั้งแต่ปี 2560

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ให้ข้อมูลว่า จากการสอบถามไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งรูปการ์ตูนการ์ฟิลด์เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท พอส์-อิงค์ จำกัด สหรัฐอเมริกา และรูปการ์ตูนรีลัคคุมะเป็นลิขสิทธิ์ ของบริษัทซาน-เอ็กซ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ทั้ง 2 บริษัทได้มอบให้บริษัท เวอริเซ็ค จำกัด โดยนายภควรรษก์ ศรีสำราญ เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ และนายภควรรษก์ได้มอบอำนาจให้ นายประจักษ์ โพธิผล เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ต่อ

ส่วนกรณีที่นายประจักษ์ดำเนินการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเรียกรับเงินดังกล่าวนั้น ผู้บริหาร บริษัท พอส์-อิงค์ ได้ยืนยันว่า ทางบริษัทไม่มีนโยบายในการที่จะให้ตัวแทนลิขสิทธิ์ออกไปเรียกรับค่าเสียหายแต่อย่างใด และหากพบการละเมิดลิขสิทธิ์รูปการ์ตูนดังกล่าวของบริษัทจริงให้มีการแจ้งต่อบริษัทก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกรณีการเข้าไปล่อซื้อกระทงลายรูปการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์จากเด็กหญิงอายุ 15 ปีนั้นทางบริษัทยืนยันว่านายประจักษ์ไม่ได้แจ้งให้ทางบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ทราบก่อน ถือเป็นการผิดกฎและข้อตกลงของทางบริษัทด้วย

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญมีความเชื่อมโยงกันคือ ผู้ใช้ชื่อว่า “นัน กิ่งเพชร” หรือชื่อจริงคือ “นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์” ซึ่งเป็น “ตัวการใหญ่” สั่งให้เด็กทำกระทงที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกว่าเป็น “โต้โผล่อซื้อจับกุมสินค้าละเมิด” มีพฤติกรรมข่มขู่กรรโชกทรัพย์ มีผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อถูกล่อซื้อจับกุมรีดทรัพย์

ข้อมูลเปิดเผยว่า “นายนัน” เคยทำงานเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ของ “บริษัท นิว สตาร์ มีเดีย” ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนวันพีช เฟซบุ๊กเพจ “หมายจับกับบรรจง” ของนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวี เปิดเผยข้อมูลตอนหนึ่งความว่า

“...ใบมอบอำนาจช่วงให้นายนันไปจับลิขสิทธิ์จะมีอายุ 1 เดือน และต่อให้แบบเดือนต่อเดือน ซึ่งไม่ได้ต่อให้มาหลายเดือนแล้ว ส่วนที่นายนันไปมีส่วนร่วมจับลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนอื่น เพราะบรรดาบริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์อื่นๆ ก็มักจะว่าจ้างฟรีแลนซ์เหล่านี้ทำงาน ไม่ได้เกี่ยวกับ นิวสตาร์มีเดีย เขาคงจะไปรับทำงานให้บริษัทอื่น ส่วนเรื่องเงินค่าปรับเวลาได้มา เงินเข้าบริษัทแม่ที่ต่างประเทศเท่าไหร่ เข้าบริษัทดูแลเท่าไหร่ ผู้รับมอบอำนาจช่วงเท่าไหร่ ขอไม่ให้รายละเอียด เพราะเดี๋ยวจะกระทบบริษัทอื่น...”

ทั้ง “นายประจักษ์” และ “นายนัน” มีความเชื่อมโยงกัน สะท้อนให้เห็นวิธีการ “ขบวนการรีดลิขสิทธิ์” ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายรังแกประชาชน “นายประจักษ์” แสดงตัวเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์แจ้งความดำเนินคดี “นายนัน” ทำการล่อซื้อโดยการล่อให้เหยื่อกระทำผิด จากนั้นทำการเรียกรับทรัพย์เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด กลุ่มผู้เสียหาย นำโดย ผู้ปกครองของ น้องเอ อายุ 15 ปี นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ให้ดำเนินคดีกับตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ในข้อหากรรโชกทรัพย์ และกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยมี พ.ต.อ.คเชนท์ เสตตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา พร้อมกลุ่มสหวิชาชีพ สภาทนายความ และยุติธรรมจังหวัด ร่วมให้การช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ผู้เสียหายจำนวนกว่า 22 ราย ซึ่งถูกตัวแทนลิขสิทธิ์ล่อซื้อในรูปแบบเดียวกันและถูกเรียกค่าเสียหายตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท นำหลักฐานเข้าแจ้งความเอาผิดกับตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์เช่นกัน โดยจะคัดแยกเป็นผู้ถูกจับกุมที่กระทำผิดจริงและผู้ถูกจับกุมที่เข้าข่ายถูกกรรโชกทรัพย์ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนลิขสิทธิ์

ขณะที่คำถามที่สำคัญก็คือ “ตำรวจ” รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการทำมาหากินในลักษณะนี้หรือไม่ เพราะตามกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่สามารถดำเนินการเองตามลำพังได้ และต้องมี “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” เข้าไปร่วมด้วยตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้

เยาวชนวัย 15 ปี กับกระทงที่ถูก “ว่าจ้าง” และ “ล่อซื้อ” ให้ผลิตเป็นลวดลายสินค้าที่ผิดลิขสิทธิ์
กรณี “เด็กวัย 15 ปี” สิ่งที่สังคมไม่เข้าใจก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความดำเนินคดีไปได้อย่างไร เพราะก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็น “เยาวชน” ซึ่งในการทำคดีจะต้องมี “สหวิชาชีพ” ร่วมด้วย หรือถ้าปฏิเสธว่าไม่รู้ก็แสดงว่า มิได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรที่สังคมจะสรุปว่า เจ้าหน้าที่น่าจะได้รับ “ส่วนแบ่ง” จากการจับกุมกับเขาด้วย

ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เตะผ่าหมาก-สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์” ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ 8 ข้อ ดังนี้

1. นายประจักษ์ กับพวก ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบอำนาจช่วงเป็นหนังสือจากผู้ใด และมีอำนาจตามที่ดำเนินการต่างๆ ดังที่ปรากฏต่อสาธารณชนหรือไม่ (ตรวจดูถ้อยคำในหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่)

2. ร้อยเวรฯ ได้สอบปากคำนายประจักษ์ และลง ปจว.เกี่ยวกับคดีในวันเกิดเหตุหรือไม่

3. ตร.สืบสวนนอกเครื่องแบบหรือสายตรวจผู้ใดที่ร่วมไปกับนายประจักษ์เอาตัวน้องวัย 15 ปี มาโรงพัก

4. ตร.สืบสวนผู้ใดเป็นผู้พาน้องเข้าห้องมืดบนโรงพัก

5. ร้อยเวรฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 ในการสอบปากคำเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี

6. สอบสหวิชาชีพหรือไม่ ที่มี พงส., อัยการ, นักสังคมสงเคราะห์, นักจิตวิทยา, ที่ปรึกษากฎหมายและบุคคลที่เด็กร้องขอ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 133 ทวิ, มาตรา 134/2, มาตรา 134/4 และ มาตรา 139 ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

7. กรณีนี้ถ้ามีการข่มขืนใจให้เด็กอายุ 15 ปีหาทรัพย์สินมาให้ สมมติถ้าเป็นความจริงก็จะผิดอาญาฐาน กรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 337 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

8. ส่วนตำรวจ สมมติถ้ามีส่วนร่วมในการข่มขืนใจ โทษสูงมากตาม ป.อ.มาตรา 148 ผู้ใดเป็น จพง.ใช่อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใด มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนหรือผู้อื่น โทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 5 แสนบาท หรือประหารชีวิต

อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งลงมากำกับดูแลด้วยตัวเอง ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้สอบถามและตรวจสอบข้อมูลกับ พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุแล้ว

“ตำรวจไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พร้อมดำเนินการตรวจสอบตามข้อสงสัยต่างๆ เช่น การพาผู้เสียหายไปข่มขู่ และเจรจาค่าเสียหายในห้องลับ ยืนยันตำรวจจะไม่ยอม ให้มิจฉาชีพมาหากินบนโรงพักเด็ดขาด ส่วนคดีจะดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย”รองวิระชัยรับประกันและรับปากจะตรวจสอบให้ถึงที่สุด

ล่อซื้อ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ความจริงต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “เด็กหญิงวัย 15 ปี” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เช่น กรณี ซาลาเปา-วุ้นที่ทำเป็นรูปโดราเอมอน เป็นต้น เพียงแต่คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจในทางกฎหมายและอ่อนไหวในความรู้สึกของสังคมไม่น้อย

หนึ่ง ด้วยเป็นเพราะผู้ที่ถูกจับเป็น “เยาวชน” ซึ่งเพียงแค่ต้องการหารายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้านหารายได้พิเศษด้วยการทำกระทงขายในช่วงเทศกาล คำนวณแล้วกำไรเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น มิใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

สอง ด้วยเพราะการจับกุมดำเนินการในลักษณะ “ล่อซื้อ” คือจงใจสั่งสินค้าที่มีลิขสิทธิ์เพื่อนำไปสู่การจับกุม

อย่างไรก็ดี กรณีการล่อซื้อกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ เกิดคำถามว่า “ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?” โดยเฉพาะผู้ถูกจับกุมเป็น “เยาวชน” แถมยังดำเนินการ “ล่อซื้อ” เพื่อให้กระทำความผิดอีกต่างหาก

ทั้งนี้ สังคมรับรู้ดีว่าการล่อซื้อเป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ซึ่งต่างจากการล่อซื้อด้วยการสั่งให้ทำกระทงลายการ์ตูนที่ติดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเป็นการหลอกล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดมาแต่แรก ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อซื้อ

น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการล่อซื้อจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทำเป็นกระทงรูปตัวการ์ตูนดัง มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นการสั่งให้ทำเพื่อล่อซื้อ ทั้งๆ ที่เด็กไม่มีเจตนาทำกระทงลิขสิทธิ์รูปตัวการ์ตูนดังออกมาจำหน่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และเข้าข่ายข่มขู่กรรโชกทรัพย์ให้ชดเชยค่าเสียหาย

“การขึ้นทะเบียนตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกรมฯ กำหนดให้บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ให้อำนาจเองอยู่แล้ว เพียงแต่ให้มาขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้กับกรมฯ มีอายุ 1 ปีต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ทุกปี ป้องกันหากเกิดปัญหาจะได้สามารถตรวจสอบประวัติและยืนยันตัวบุคคลที่มีอำนาจจริง อุดช่องโหว่ของคนคิดไม่ดีเข้ามาหาประโยชน์ตรงนี้ได้ ช่วยให้การทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวให้ความเห็น

สำหรับกฎหมายระบุชัดแนวทางการดำเนินคดี ระหว่าง “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทําความผิด” โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2557 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือเวียน ถึงรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ คณะที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาคอัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ฯลฯ ดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า

“...ในการจับกุมบางกรณีปรากฏว่าการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ใช่การแสวงหาพยานหลักฐานโดยการล่อซื้อ แต่เป็นการล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดมาแต่แรก ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ จึงต้องใช้ความระมัดระวังพิจารณาว่าการกระทำของเจ้าพนักงานเป็นการล่อซื้อหรือล่อให้กระทำความผิด...”

โดยมีการนำแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกามาใช้อ้างอิงเพื่อพิจารณาประกอบการพิจารณาสํานวนคดี “การล่อซื้อ” หรือ “ล่อให้กระทําความผิด” ดังนี้

1. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554 วินิจฉัยว่า ร. ผู้รับมอบอํานาจช่วงจากผู้เสียหาย ว่าจ้างจําเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นการก่อให้จําเลยทําซ้ำ ซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จําเลยมิได้กระทําความผิดโดยทํางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนําแผ่นซีดี และวีซีดีคาราโอเกะที่ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้อ อันจะถือเป็นการแสวงหา พยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจําเลยได้กระทําการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอํานาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จําเลยกระทําการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงาน จับจําเลยมาดําเนินคดี ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอํานาจร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่จําเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ ร. ว่าจ้างจําเลยให้ทําขึ้นและวีดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ บันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจําเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐาน ที่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลย ตามที่โจทก์ฟ้อง

นายประจักษ์ โพธิผล

 นัน กิ่งเพชร  หรือชื่อจริงคือ  นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์
2. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2562 การที่เจ้าพนักงานตํารวจใช้สายลับนําเงินไปล่อซื้อยาเสพติด ให้โทษจากจําเลย มีเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ผิดศีลธรรมและทํานองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หรือยัดเยียดความผิดให้จําเลย หากจําเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย เมื่อสายลับไป ซื้อยาเสพติดให้โทษจากจําเลย จําเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจําหน่ายให้กับสายลับ ความผิดย่อมไม่อาจ เกิดขึ้นได้ การกระทําของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจําเลย ไม่เป็นการแสวงหา พยานหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รับฟังลงโทษจําเลยได้ ไม่ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

3. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543 วินิจฉัยว่า การที่บริษัทไมโครซอฟท์จ้างนักสืบ เอกชนไปล่อซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยทําทีไปติดต่อซื้อคอมพิวเตอร์จากจําเลยโดยมีข้อตกลงว่าจําเลยต้อง แถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายแก่สายลับด้วย หลังจากจําเลยประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีการ ทําซ้ําโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายลงในฮาร์ดดีสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งมอบให้กับสายลับ ศาลเห็นว่าการกระทําของจําเลยเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของสายลับ มิใช่ทําขึ้นโดยผู้กระทํามีเจตนากระทําผิด อยู่แล้วก่อนการล่อซื้อเท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิด โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหาย โดยนิตินัยจึงไม่มีอํานาจฟ้องคดี

4. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2545 จําเลยมีพฤติการณ์กระทําละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรม คอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจําเลยมาดําเนินคดี มิใช่เป็นการก่อให้ จําเลยกระทําความผิด แต่เป็นการดําเนินการเพื่อจับกุมปราบปรามผู้กระทําความผิด เป็นการกระทําที่ชอบด้วย กฎหมาย โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอํานาจร้องทุกข์มีอํานาจฟ้อง และศาลมีอํานาจรับฟังพยานหลักฐาน ที่เกิดจากการล่อซื้อโดยชอบได้

5. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549 การที่ผู้เสียหายใช้ให้ อ. สั่งให้จําเลยซื้อแผ่นซีดี ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดให้ เพื่อที่จะได้หลักฐานในการ กระทําความผิดโดยไม่ปรากฏว่าจําเลยมี พฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อน และพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวทันที การที่ผู้เสียหายดําเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมจําเลยจึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้จูงใจหรือก่อให้จําเลย กระทําความผิด ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย



เหยื่อขบวนการล่อซื้อ-ตบทรัพย์สินค้าลิขสิทธิ์รวมตัวกันแจ้งความดำเนินคดี

พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ
นายโกศลวัฒน อินทุจันทร์ยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ภายหลังเกิดกระแสข่าวล่อซื้อกระทงละเมิดสิทธิ์ ระบุว่า ปัญหาประการแรก คือ ถ้าการจับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เจรจาตกลงจบกันที่สถานีตำรวจ สุดท้ายคดีไม่มาถึงอัยการ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องให้ไม่ได้ ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีการะบุไว้ชัดเจนแล้วว่า การล่อให้กระทำความผิดเท่ากับเป็นผู้ก่อให้เขากระทำความผิด จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีได้

กล่าวคือการล่อให้กระทำความผิดไม่ใช่การล่อซื้อ เช่น ถ้ากรณีปกติไม่ได้มีการผลิตขึ้นจำหน่าย แต่ไปสั่งให้เขาทำ แล้วก็เอาตำรวจไปจับ อย่างนี้ถือเป็นการล่อให้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการผลิตจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว ไปติดต่อขอซื้อถือเป็นการล่อซื้อที่ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เมื่อศาลเคยตัดสินแล้วว่าการล่อให้กระทำผิดเช่นนี้ ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีได้

ปัญหาประการต่อมา คือ การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามการชี้ให้จับของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เสียหายหรือตัวแทนลิขสิทธิ์ จนถึงขั้นมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องมีการดำเนินการสอบสวนโดยละเอียด เกิดคำถามได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจถูกต้องแล้วหรือไม่ ต้องติดตามสอบสวนให้ได้ความจริงโดยละเอียดว่ามีใครผิดบ้างนำมาลงโทษ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ไม่ใช้อ้างกฎหมายมาอ้างข่มเหงรังแกกัน

หากินง่ายๆ รายได้เป็นกอบเป็นกำ
ไม่เน้นดำเนินคดี เน้นเจรจาเรียกเงิน
กล่าวสำหรับขบวนการล่อซื้อสินค้าละเมิด ออกอุบายจับกุมสินค้าละเมิดฯ ประเภทต่างๆ มีผู้ตกเป็นเหยื่อออกมาเตือนเป็นอุทาหรณ์บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายขบวนการมิจฉาชีพ มีผู้ถูกล่อซื้อถูกจับกุมเรียกเงินปรับค่าลิขสิทธิ์มากมาย และแทบทั้งหมดจำต้องยอมจ่ายค่าปรับ เพราะเกรงกลัวไม่จ่ายต้องการให้มีการฟ้องร้องเป็นคดีความใหญ่โต

วิธีการทำงานคือ สอดส่องในโซเชียลมีเดี ยจากนั้นมีการทักอินบ็อกซ์สั่งทำสินค้าลวดลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ โอนเงินมัดจำให้ผู้เสียหายผลิตสินค้าตามออเดอร์ จากนั้นวันนัดรับสินค้าจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามารุมล้อม แสดงตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยบอกว่าเหยื่อถูกจับกุมในคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ และพาไปคุยที่โรงพักเพื่อเรียกเงินค่าปรับ ข่มขู่ความผิดรุนแรงตั้งแต่ติดคุกถึงขั้นประหาร ซึ่งร้อยทั้งร้อยเหยื่อยอมจ่ายให้เรื่องจบ

อดีตเครือข่ายล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ผู้หนึ่ง เปิดเผยผ่านสำนักข่าวไทยว่าทีมงานจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของบริษัทลิขสิทธิ์โดยตรง แต่เป็นการไปซื้อใบมอบอำนาจมาตระเวนจับกุม ซึ่งการซื้อใบมอบอำนาจจะเหมาเป็นภาค ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยหัวใจสำคัญคือ “ไม่เน้นดำเนินคดี เน้นเจรจาเรียกเงิน”

จะมีทีมงานตั้งแต่สืบค้นชี้เป้าสู่การจับกุม มีหัวหน้าทีมนำเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงใบอนุญาตเข้าจับกุมฐานละเมิดลิขสิทธิ์ กดดันให้ผู้ถูกจับกุมจ่ายเงินขั้นต่ำตั้งเป้า 50,000 บาท ใช้หลักจิตวิทยาสร้างความหวาดกลัว เป็นต้นว่า หากไม่ตอนนี้ต้องสู้คดีสูญเสียเงินหลายแสนบาท เร่งรัดให้เสร็จสิ้นทันทีไม่ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนที่ข่มขู่ เพราะหากคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หมายความว่าเกิดการสูญเสียรายได้ หากศาลสั่งปรับเงินจะถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง

อดีตเครือข่ายล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังเปิดเผยอีกว่าเคยจับกุมได้มากสูงสุด 10 รายต่อวัน และทั้งหมดยอมจ่ายค่าปรับเพราะเกรงกลัวไม่อยากให้เป็นคดีความ

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่าคดีจับลิขสิทธิ์นั้นปัจจุบันมีปัญหามากโดยเฉพาะพวกที่เรียกกันว่า “ตีกิน” คือ แกล้งจับแล้วเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อแลกกับให้ปล่อยตัว ซึ่งผู้กระทำคือคนที่ไม่สุจริตเรียกกันว่าพวก “นักบิน”

สำหรับลำดับขั้นตอนในการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจในการทำซ้ำดัดแปลง, โอนงาน, จำหน่ายหรืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้งานนั้นโดยมีค่าตอบแทน ฉะนั้น การที่มีคนไปทำงานลิขสิทธิ์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือทำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์วางขาย บริษัทจะสืบทราบส่งตัวแทนไปจับกุมดำเนินคดี ปัญหาคือตัวแทนที่ไปจับกุมมีใบมอบอำนาจแต่งตั้งจริงหรือไม่? ถ้ามี...ใบมอบนั้นหมดอายุหรือยัง? ใบมอบนั้นครอบคลุมถึงสินค้าที่ให้จับหรือไม่? เป็นเพียงมอบอำนาจเฉพาะหรือมอบทั่วไป หรือใบอำนาจนั้นปลอมหรือไม่?

ประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการตรวจสอบใบมอบนั้นว่าถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะหากไปถึงที่เกิดเหตุแล้วแทบไม่มีผู้ถูกจับกุมรายคดีละเมิดลิขสิทธิ์ขอดูใบมอบอำนาจแต่งตั้งตัวแทน หรือถ้าดูก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวอีกว่า ถ้าตัวแทนเป็นพวกนักบินอาจใช้ใบมอบปลอม เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม เมื่อจับผู้ค้ามาก็อาจผิดกักขังหน่วงเหนี่ยว กรรโชกทรัพย์ อาจผิดข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ข้อหารู้ว่าไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้น แต่เแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรือแจ้งเกินความจริง ส่วนตำรวจหากรู้อยู่แล้วว่าใบมอบปลอม แล้วยังฝืนไปกับตัวแทนเพื่อจับกุม มีความผิดฐานกลั่นแกล้งจับกุมบุคคลให้รับโทษทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางป้องกันการแอบอ้างหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ จากกรณีการล่อซื้อกระทงลายการ์ตูน ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญบริษัท เวอริเซ็ค จำกัด บริษัท แอนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ซึ่งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจจากเจ้าของงานลิขสิทธิ์ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้กำชับให้ผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงความเป็นธรรม และมอบอำนาจแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยนอกจากพิจารณาความรู้ด้านกฎหมายแล้ว ต้องเป็นผู้ไม่มีประวัติหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม

“ขอให้นำกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาเป็นบทเรียนและเป็นอุทาหรณ์ให้กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และกรณีผู้ผลิตสินค้า ควรพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนถึงความถูกต้อง โดยหากเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ควรขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการละเมิดต่อไป”นายวีรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

สุดท้าย คดีการล่อซื้อกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ เยาวชนวัย 15 ปี ต้องทำให้เป็น “คดีตัวอย่าง” สร้างบรรทัดฐานให้สังคมตระหนักและเข้าใจปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ อุดรอยรั่ว “แก๊งตบทรัพย์” ที่เข้ามาหากินในคราบ “ตัวแทนลิขสิทธิ์” ต้องดำเนินขั้นเด็ดขาดให้เป็นเยี่ยงอย่าง!


กำลังโหลดความคิดเห็น