ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ เผย 8 ประเด็นน่าสงสัย กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเด็กวัย 15 ขณะส่งมอบกระทงอาหารปลาพิมพ์ลายการ์ตูนการ์ฟิลด์ และรีลัคคุมะ สงสัยตำรวจมีส่วนร่วมหรือไม่
จากกรณีที่นายประจักษ์ โพธิ์ผล นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา เข้าจับกุมเยาวชนวัย 15 ปี ขณะส่งมอบกระทงอาหารปลาพิมพ์ลายการ์ตูนการ์ฟิลด์ และรีลัคคุมะ ซึ่งทำการล่อซื้อผ่านเฟซบุ๊ก โดยนายประจักษ์เรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท แต่ได้เจรจากันเหลือ 5,000 บาท นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักศึกษาวัย 22 ปี ถูกล่อซื้อกระทงจากขนมอาหารปลาลายการ์ตูนการ์ฟิลด์แล้วถูกจับกุมในลักษณะเดียวกัน โดยเรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท แต่ครอบครัวต่อรองเหลือ 10,000 บาท แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี
ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมายืนยันกรณีตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์สั่งเด็กหญิงทำกระทงลายการ์ตูนดังแล้วล่อซื้อ จับกุม เรียกค่ายอมความ ไม่ถือว่าผิด เหตุไม่มีเจตนาทำกระทงละเมิดลิขสิทธิ์แต่แรก เผยสามารถฟ้องกลับได้ พร้อมเตือนผู้รับจ้างผลิตต้องตรวจสอบก่อนสินค้าที่ให้ทำมีลิขสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ ส่วนเจ้าของสิทธิ์ก็ไม่ควรใช้ช่องโหว่ของกฎหมายกระทำการเช่นนี้
ล่าสุด วันนี้ (6 พ.ย.) เพจ “เตะผ่าหมาก-สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์” ของทนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ 8 ข้อ ดังนี้
1. นายประจักษ์ กับพวก ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบอำนาจช่วงเป็นหนังสือจากผู้ใด และมีอำนาจตามที่ดำเนินการต่างๆ ดังที่ปรากฏต่อสาธารณชนหรือไม่ (ตรวจดูถ้อยคำในหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่)
2. ร้อยเวรฯ ได้สอบปากคำนายประจักษ์ และลง ปจว.เกี่ยวกับคดีในวันเกิดเหตุหรือไม่
3. ตร.สืบสวนนอกเครื่องแบบหรือสายตรวจผู้ใดที่ร่วมไปกับนายประจักษ์เอาตัวน้องวัย 15 ปี มาโรงพัก
4. ตร.สืบสวนผู้ใดเป็นผู้พาน้องเข้าห้องมืดบนโรงพัก
5. ร้อยเวรฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 ในการสอบปากคำเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
6. สอบสหวิชาชีพหรือไม่ ที่มี พงส., อัยการ, นักสังคมสงเคราะห์, นักจิตวิทยา, ที่ปรึกษากฎหมายและบุคคลที่เด็กร้องขอ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 133 ทวิ, มาตรา 134/2, มาตรา 134/4 และ มาตรา 139 ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
7. กรณีนี้ถ้ามีการข่มขืนใจให้เด็กอายุ 15 ปีหาทรัพย์สินมาให้ สมมติถ้าเป็นความจริงก็จะผิดอาญาฐาน กรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 337 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
8. ส่วนตำรวจ สมมติถ้ามีส่วนร่วมในการข่มขืนใจ โทษสูงมากตาม ป.อ.มาตรา 148 ผู้ใดเป็น จพง.ใช่อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใด มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนหรือผู้อื่น โทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 5 แสนบาท หรือประหารชีวิต