xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขาลงตี๋กร่าง “ธนาธร” “อนาคตใหม่” แพ้ที่สามพรานแค่ยกแรก คนเอือม-กระแสเสื่อม-พรรคส่อแพแตก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จูนอารมณ์ไม่ถูกกันเลยทีเดียว

รายของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่คงเตรียมสคริปต์ประกาศชัยชนะ พร้อมตั้งท่าบลัฟรัฐบาลเต็มเหนี่ยว แต่จู่ๆก็เทคิวแถลงข่าว โยนให้ “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค รับหน้าเสื่อออกมารับสภาพ “ผู้แพ้” แทน

ส่วน “ตี๋เอก” ไม่รู้ไป “หัวร้อน” ที่ไหนหรือเปล่า

หลัง คณะกรรมการเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 5 จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 23 ต.ค. อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า “เสี่ยเตี้ย” เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 37,675 คะแนน เข้าป้ายเป็นอันดับ 1 คั่วตำแหน่ง “ว่าที่ ส.ส.” ทิ้งห่าง “เฮียป๋วย” ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 28,216 คะแนน ร่วมหมื่นคะแนน ขณะที่อันดับ 3 เป็นรองแชมป์งวดก่อน  “ส.จ.สุรชัย” สุรชัย อนุตธโต จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 13,061 คะแนน

ส่วนที่เหลือ อันดับ 4 พรรคเสรีรวมไทย 2,261 คะแนน อันดับ 5 พรรคไทยศรีวิไลย์ 467 คะแนน อันดับ 6 พรรคเพื่อชีวิตใหม่ 226 คะแนน และอันดับ 7 พรรคพลังสังคม 154 คะแนน

จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 143,542 คน มาใช้สิทธิ 91,043 คน หรือร้อยละ 63 ของผู้มีสิทธิ์ แบ่งเป็นบัตรดี 87,424 บัตรเสีย 1,623 บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,996 บัตร

ส่งผลให้ “อนาคตใหม่” ในฐานะเจ้าของเก้าอี้เดิมไม่สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ หลังจากที่ “เจ๊อุ๊” จุมพิตา จันทรขจร อดีต ส.ส.เขต 5 จ.นครปฐม เคราะห์ร้ายประสบอุบัติเหตุหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.ไม่นาน จนไม่สามารถทำหน้าที่ ส.ส.ได้ และต้องลาออก เปิดทางให้มีการเลือกตั้งซ่อม โดยส่งคู่ชีวิตอย่าง “เฮียป๋วย - ไพรัฏฐโชติก์” ลงรักษาที่นั่งแทน

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อครั้งเลือกตั้ง 24 มี.ค. พรรคอนาคตใหม่ สร้างปรากฎการณ์ “ล้มช้าง” ที่ “เมืองส้มโอหวาน” ไว้อย่างแสบสันต์ คว้า 2 จาก 5 ที่นั่งไปอย่างเหลือเชื่อ และเกือบฟาดได้อีก 1 เก้าอี้ ที่เขต 1 ที่สูสีถึงขนาดต้องนับคะแนนกันใหม่ ปรากฏว่า ผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ พ่ายให้กับ “เสธ.แก้ว” พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้น

ขณะที่เขต 5 ซึ่ง “เจ๊อุ๊” ได้ 34,164 คะแนน สามารถโค่นผู้สมัครบิ๊กเนมจากพรรคประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ รวมไปถึง “เสี่ยเตี้ย” บิ๊กบราเทอร์สแห่งบ้านใหญ่นครปฐม ลงได้อย่างราบคาบ

ถึงขนาดที่ “เสี่ยเตี้ย” ได้แค่ 12,279 คะแนน เข้าป้ายเป็นอันดับ 4 เลยทีเดียว

แต่เวลาผ่านไปแค่ 7 เดือน ก็ต้องมีคำถามว่าเหตุใดคะแนนถึงกลับตาลปัตรได้เพียงนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคอนาคตใหม่ ที่กระหยิ่มยิ้มย่องภูมิใจผลงานในสภาผู้แทนราษฎรของตัวเองมาตลอด แล้วทำไมถึงเสียท่าให้กับ “เสือเฒ่า เมืองส้มโอหวาน” ไปได้

แถมยังมาโดน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ที “บลัฟกลับ” อย่างแสบสันต์ด้วยว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่ทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องแสดงความยินดีกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ เป็นการตัดสินจากประชาชนและเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

 “ธนาธร” ผยองเกินเหตุ เงื่อนปมแห่งความพ่ายแพ้
“ยอมรับผลความพ่ายแพ้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะนี้ได้ทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้ว ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ลงคะแนนเลือกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจากการเช็คคะแนน พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าวันที่ 24 มีนาคม เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันพุธไม่ใช่วันอาทิตย์เหมือนครั้งที่แล้ว ดังนั้นผลคะแนนจึงอาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจนัก เพราะฐานคะแนนสำคัญของพรรคอนาคตใหม่คือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งวันนี้ไม่ได้หยุดงาน ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งในวันพุธ อาจมีนัยยะต่อผลคะแนน”

คือคำแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ของ “ปิยบุตร” ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมแทรก “ข้อแก้ต่าง” ของความพ่ายแพ้ด้วยว่า “เลือกตั้งวันพุธไม่ใช่วันอาทิตย์” ทำให้ฐานคะแนนสำคัญของ “ค่ายสีส้ม” อย่าง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ เนื่องจากแม้จะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ อ.สามพราน หรือใกล้เคียงหลายแห่งไม่ได้หยุดงาน

ถือเป็น “ข้ออ้าง” ที่แถข้างๆ คูๆ เพราะจากตัวเลขสุดท้าย ที่ผู้ชนะได้ไป 37,675 คะแนน แม้ว่าฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่มาใช้สิทธิ์กันพร้อมหน้าพร้อมตา ก็ใช่ว่าจะชนะได้ เพราะคะแนนที่พรรคอนาคตใหม่ทำได้ 34,164 คะแนน ของ“เจ๊อุ๊” เมื่อ 24 มี.ค. ก็ยังคงพ่ายแพ้อยู่ดี

พิจารณาปัจจัยที่ทำให้กระแสความนิยมที่เคยฟีเวอร์ของ “ธนาธร” และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในพื้นที่ จ.นครปฐม มี “แม่ทัพใหญ่” อย่าง “เจ๊เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เจ้าของปั๊มน้ำมันยี่ห้อดัง แห่งสวนตะไคร้นครปฐม ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “เสื้อแดงตัวแม่” ร่วมกิจกรรมต้านเผด็จการทหาร และอยู่ในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มาตลอด จนได้เข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ งวดนี้ด้วย ถึงตกลงฮวบฮาบอย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งๆที่ “ค่ายสีส้ม” ดูจะ “เอาจริง” ที่สุดในบรรดาพรรคที่ส่งผู้สมัคร มีการระดม ส.ส.และทีมงานจากทั่วประเทศลงพื้นที่อย่างแข็งขัน ใช้กลยุทธ์เรียกเรตติ้ง โดยปล่อยคิว “ธนาธร” หรือ “ปิยบุตร” กระทั่ง ิ และ “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนคลับ “พ่อของฟ้า” ตลอดฤดูกาลหาเสียง

พร้อมๆ กับโหมประโคมมอตโต้ประมาณว่า เลือกตั้งซ่อมเขตสามพราน จะเป็น “โดมิโน” เปลี่ยนขั้วรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้ หรือมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากนอกสภา

ทว่า มอตโต้ที่ว่าก็ถูกจับได้ไล่ทันว่าเป็นเพียงวาทกรรม “ตีกิน” ด้วยชาวบ้านต่างรู้ว่าเพียง 1 ที่นั่ง ส.ส. ไม่อาจเป็น “โดมิโน” เปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ ที่สำคัญที่นั่งนั้นก็เป็นของพรรคอนาคตใหม่อยู่แต่เดิม ครั้นชนะคว้าชัยได้ก็เพียง “เท่าทุน” ไม่ได้กำรี้กำไรถึงขั้นพลิกขั้ว หรือล้มรัฐบาล
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เต็มที่ก็ขยายความเป็น “ตัวแทนฝ่ายค้าน” สร้างกระแส “ไม่เอารัฐบาล” เตรียมบลัฟ “ทีมลุงตู่” เต็มที่ เหมือนเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อมเขต 8 จ.เชียงใหม่ ที่ทางพรรคเพื่อไทยโดนใบส้ม จนต้องเทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ ส่งให้ ศรีนวล คำลือ สร้างสถิติได้เป็น ส.ส.ที่ได้คะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 แล้วพรรคอนาคตใหม่เอาไปปั่นกระแส “ชังรัฐบาล” ได้เป็นเดือน

ขณะที่ความสำเร็จของ “แม่ศรีนวล” กลับไม่แวะมาให้เครดิต “ค่ายเพื่อไทย” เพื่อนร่วมฝ่ายค้านที่ผู้สมัครถูกใบส้ม และไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมได้ จนต้องเทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ตลอดจนบทบาทการทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ผ่าน พรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ได้ให้เกียรติความเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทยเท่าที่ควร

เรียกได้ว่า “ขบเหลี่ยม” กันมาโดยตลอด จนว่ากันว่า “เลือกซ่อมสามพราน” หนนี้ “ค่ายสีแดง” สับ “เกียร์ว่าง” ไม่คิดช่วย “ค่ายสีส้ม” ด้วยซ้ำ

และไม่แปลกที่ก่อนการเลือกตั้ง ซูเปอร์สตาร์ของ “ค่ายสีแดง” อย่าง “เสี่ยหนุ่ม” วัน อยู่บำรุง ส.ส.บางบอน เจ้าของครอบครัวใจถึงพึ่งได้ ถึงได้ประกาศสนับสนุน “เสี่ยเตี้ย” ที่ 2 ครอบครัวมักจี่กันมาอย่างยาวนาน โดยไม่แคร์ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเมื่อรู้ผลการเลือกตั้งแล้ว “ติ่งเพื่อไทย” กระทั่ง ส.ส.เพื่อไทย บางคนก็แชร์ข่าวการนับคะแนนที่สรุปว่า “เสี่ยเตี้ย” อดีตคนของพรรคเพื่อไทยเข้าวิน กันอย่างกว้างขวาง มีนัยในเชิง “แสดงความยินดี” ด้วยซ้ำ

เหมือนแสดงความสะใจ ใน “ความผยองพองขน” ของ “พรรคตี๋เอก” กลายๆ

หรืออีกนัยก็เป็นการตบหน้าเรียกสติ “ธนาธร” ให้ฟื้นจากความหลงระเริงในกระแส “ฟ้ารักพ่อ” ที่ว่ากันว่าทำให้ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่นำ ส.ส.เข้าสภาฯได้มากกว่า 80 ชีวิต ว่าแท้จริงแล้วเป็น “อานิสงส์ผลบุญ” จากกลยุทธ์ “แตกแบงค์พัน” ของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยหวังปั้น “พรรคไทยรักษาชาติ” มาทดแทนนเขตที่เว้นว่างไว้ แต่เกิด “ผิดแผน” เสียก่อน

จนคะแนนของ “เพื่อไทย - ไทยรักษาชาติ” มากองที่ “อนาคตใหม่” และได้คะแนนท่วมท้นเกินความคาดหมาย

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าคู่ต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช่ “ค่ายพลังประชารัฐ” เป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลที่ส่งลงพร้อมกัน 2 พรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา จน “ค่ายเฮียเอก” ไม่สามารถยกระดับการต่อสู้ว่าจะเป็นการวัดกระแสความนิยม “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ได้เต็มปากเต็มคำ

จนอาจพูดได้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่แยบยลของ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีคะแนนเป็นที่ 3 ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงชิงชัย ด้วยรู้ว่าจะเป็นเป้าให้คู่แข่งอย่างพรรคอนาคตใหม่ถล่ม

สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คู่แข่งของ “เฮียป๋วย อนาคตใหม่” ไม่ใช่เลเวลไก่กา แต่เป็นระดับ “บิ๊กบราเทอร์สบ้านใหญ่นครปฐม” ที่จำต้อง “แก้หน้า” หลัง “ตระกูลสะสมทรัพย์” เกือบ “สูญพันธุ์” เจอกวาดลง “แม่น้ำท่าจีน” เกือบเกลี้ยงจังหวัด

ยิ่งเมื่อได้โอกาส “ล้างตา” แบบ “เลี่ยมทองฝังเพชร” ขนาดนี้ มังกรการเมืองอย่าง “เสี่ยเตี้ย-เผดิมชัย” มีหรือจะปล่อยให้หลุดมือ ถึงในทางข่าวกระแสจะดูเงียบๆไร้การเคลื่อนไหว ไม่มีแม้กระทั่งการจัดเวทีปราศรัยใหญ่

แต่ “ในระดับพื้นที่” แล้ว มีการสั่งการปูพรมเต็มอัตราศึกเพื่อ “กู้ศักดิ์ศรี” คืนมาให้ได้

คำเฉลย “สูตรลับ” อยู่ใน “ระหว่างบรรทัด” ของการสัมภาษณ์หลังทราบผลการเลือกตั้งซ่อม ทั้ง “มาดามหนูนากัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ระบุถึงสาเหตุที่ทางแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้มาช่วยลงพื้นที่หาเสียงนั้น ก็เพราะ “ช่วงที่ผ่านมาทางพรรคถามท่านเผดิมชัยมาตลอดว่า จะให้มาช่วยเดินหาเสียงหรือปราศรัยไหม แต่ก็มีวิธีการแบบของท่าน โดยการเดินเคาะประตูบ้านทุกบ้าน”

และตัว “เผดิมชัย” ที่กล่าวด้วยความปลื้มปริ่มน้ำตาคลอถึงยุทธวิธีการหาเสียงว่า “ยุทธวิธีของผมคือเข้าพบประชาชนเป็นกลุ่มย่อย ผ่านการเคาะประตูบ้าน โดยยึดคอนเซ็ปต์ว่าทุกคนที่อยู่นครปฐมคือครอบครัวเดียวกัน คือครอบครัวนครปฐม ไม่ว่าจะมาจากภูมิภาคไหน ทุกคนอยู่ร่มใบเดียวกันผม ร่มที่จะกันแดด ร่มที่จะกันฝน ผมใช้ยุทธศาสตร์นี้ทุกหมู่บ้าน และพูดคุยเพื่อความสบายใจไม่ให้เกิดความแตกแยก และสร้างความอบอุ่นให้กับ จ.นครปฐม”

เรียกได้เจอเจอความเขี้ยวลากดินของ “การเมืองเก่า” ก็ทำเอา “การเมือง (ที่ว่า) ใหม่” ของพรรคอนาคตใหม่ ไปไม่เป็นเหมือนกัน

ติดหล่มการเมือง คนเอือม-กระแสเสื่อม
ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 1 สมัยประชุม บวกกับการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วง 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา บทบาทของ พรรคอนาคตใหม่ มีค่อนข้างสูงในเวทีสภาฯ แม้ว่า “ธนาธร” หัวหน้าพรรค จะยังไม่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เลยก็ตาม

อย่างน้อยก็มี “ป๊อก ปิยบุตร-ทิม พิธา-ช่อ พรรณิการ์” เป็นหัวหอกเซเลบของพรรค ร่วมกับทีมนโยบาย-มืออภิปราย ที่สร้างชื่อขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็วหลายราย

แต่เมื่อพิเคราะห์ลงลึกไปแล้ว ประเด็นที่ “คนอนาคตใหม่” อภิปรายปากเปียกปากแฉะและพยายามเล่นเป็นกระแส ก็ยังวนเวียนอยู่กับ “ประเด็นทางเทคนิค-การเมือง” เป็นส่วนใหญ่ หาได้น้อยที่จะให้น้ำหนักกับความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

หรือเต็มที่ก็หยิบโยงมารวมกันน้ำขุ่นๆ ประเภท “เศรษฐกิจไม่ดี ต้องแก้รัฐธรรมนูญ”

นำมาซึ่ง “ความเอือมระอา” ที่ประชาชนมีต่อพรรคอนาคตใหม่ รวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย จนอาจใช้ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 5 จ.นครปฐม เป็น “ตัวชี้วัด” การทำหน้าที่ของ “พรรครัฐบาล - พรรคฝ่ายค้าน” ได้เช่นกัน

ในส่วนของพรรครัฐบาล ปรากฏว่า คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงจาก 18,970 คะแนน เหลือเพียง 13,061 คะแนน ซึ่งคะแนนที่ขาดหายไปกว่า 5,000 คะแนนนั้น ก็ประเมินได้ว่าถูกเทไปลงให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคอย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา ของ “เผดิมชัย” ผู้ชนะ ที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 3 เท่าตัว ที่ 37,675 คะแนน

แน่นอนว่า พรรคอนาคตใหม่ จากที่เคยได้ 34,164 คะแนน เหลือเพียง 28,882 คะแนน ห่างไปกว่า 6,000 คะแนน เป็นทิศทางเดียวกับ พรรคเสรีรวมไทย ของ “บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ส่งผู้สมัครลงเช่นเดียวกัน จากเดิมได้ 6,010 คะแนน เหลือเพียง 2,261 คะแนน
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ช่อ-พรรณิการ์ วาณิช
ซึ่งตัวของ “เสรีพิศุทธิ์” ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ดูจะ “จับจด” กับ “ประเด็นทางเทคนิค-การเมือง” จนไม่เป็นอันทำหน้าที่ อย่างในการอภิปรายร่างงบประมาณปี 2563 ก็ยัง “แผ่นเสียงตกร่อง” ย้อนกลับไปถึงประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน” พร้อมยังไม่ขอร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2563 เนื่องจากไม่ยอมรับสถานภาพของรัฐบาล

ด้วยทิศทางของ 2 พรรคการเมืองว่า เล่นคีย์เดียวกันมาตลอด โดยเฉพาะประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน” ที่เอาล่อเอาเถิดอยู่ร่วม 2 เดือน ก็อาจพออนุมานได้ว่า คะแนนที่ลดลงของพรรคฝ่ายค้านมาจากปัจจัยอะไร

ในขณะที่ “ฝ่ายค้านอิสระ” อย่าง พรรคไทยศรีวิไลย์ ของ “เสี่ยเต้” มงคลกิตต์ สุขสินธรานนท์ ที่แม้จะ “หลุดโลก” ไปบ้าง แต่เหมือนชาวบ้านจะชอบใจและเทเสียงให้ 467 เสียง จากเดิมที่เคยได้ 394 เสียง

หรือขนาดอันดับบ๊วยอย่าง พรรคพลังสังคม ที่ได้ 154 คะแนน ก็มากขึ้นจากเดิมที่เคยได้ 121 เสียง

เป็นทิศทางของ 2 พรรคเล็กที่สวนทางกับ 2 พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเห็นได้ชัด

อาการ “ติดหล่มการเมือง” ของพรรคอนาคตใหม่ ดูจะเข้าขั้น “เสพติด” รุนแรง บางกรณีเหมือนจะไม่ควรเป็นประเด็น ก็ยังหาแง่มุมมาขยายความให้เกิด “ความไม่สบายใจ” ในสังคม อย่างกรณีการเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอมายังสภาผู้แทนราษฎร

ที่ถูกมองว่าเป็นประเด็น “ละเอียดอ่อน” จนไม่น่าหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นแต่ประการใด

แต่ “จารย์ป๊อก - ปิยบุตร” ก็ใช้สิทธิ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อภิปรายในสภาฯ แสดงความไม่เห็นด้วยใน “แง่มุมกฎหมาย” เนื่องจากมองว่าไม่เข้า “เหตุจำเป็นเร่งด่วน” ที่รัฐบาลต้องตรากฎหมายเป็น “พ.ร.ก.” ว่า อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 2 ที่ ระบุว่า การตราตามวรรค 1 ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อ ครม. เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

ก่อนที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติเสียงข้างมาก 374 ต่อ 70 คะแนน เห็นชอบพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ซึ่ง “70 เสียง” ที่ลงมติ "ไม่เห็นด้วย" นั้นก็เป็น ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด

อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดง “ความไม่เห็นด้วย” ใน "แง่มุมกฎหมาย" แต่ในเชิง “สัญญะ” ก็มี “เครื่องหมายคำถาม” ติดอยู่เช่นกัน เมื่อขมวดรวมกับ “จุดยืนเดิมๆ” ของ “คนอนาคตใหม่”

ตามติดมาด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่พรรคอนาคตใหม่สร้างเสียงฮือฮา ด้วยการเสนอชื่อ “ธนาธร” ร่วมเป็น 1 ใน 64 กมธ. และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าพรรคอนาคตใหม่สบช่องที่จะ “เปิดพื้นที่” ให้ “ธนาธร” เข้าไปโลดแล่นในเวทีสภา หลังถูก “แบนชั่วคราว” จากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอคำวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการถือหุ้นสื่อมวลชน จนยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.มาตั้งแต่ต้น

แต่แล้วก็ถูกจับได้ไล่ทันอีกว่าเป็นความพยายาม “ลักไก่” ที่จะยัดชื่อ “ธนาธร” เข้ามาเป็น กมธ.ของสภาฯ ในขณะที่ “สถานภาพ” ยังไม่ชัดเจน

กล่าวคือมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดการตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาฯว่า สภาฯ มีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็น ส.ส.หรือมิได้เป็น ส.ส.ตั้งเป็น กมธ.วิสามัญเพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาฯทราบตามระยะเวลาที่กําหนด

อ่านดูแล้วเหมือนเปิดกว้างว่า สามารถตั้ง ส.ส. หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้

ทว่ากรณีของ “เสี่ยเอก วีลัค” ถือว่าเป็น ส.ส.ที่ถูกคำสั่งศาลให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จึงไม่สามารถใช้สถานะ “คนนอก” ได้

จึงมีการตั้งคำถามว่า การที่ “ธนาธร” เข้ามาเป็น กมธ.ในฐานะ ส.ส.ที่ถูกยุติการปฏิบัติหน้าที่สามารถทำได้หรือไม่ และหากเจ้าตัวมีการเสนอความเห็น หรือสงวนความเห็น ตลอดจนร่วมลงมติใดๆ ก็อาจส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เป็น “โมฆะ” ได้

เป็นประเด็นคำถามที่ถูกโยนกลับไปยังพรรคอนาคตใหม่ว่าเหตุที่ “ลักไก่” ใช้ชื่อ “ธนาธร” เข้าร่วมเป็น กมธ.เพียงต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมือง หรือมีนัยซ่อนเร้น “ล้มกระดาน” ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนประเทศหรือไม่

 ธุรกิจท่าจะแย่ - พรรคก็ (ส่อ) แพแตก
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหมือนจะมี “ข่าวเกือบดี” ของ “ธนาธร” ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมีคำวินิจฉัย “ยกคำร้อง” กรณีที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยแถลงข่าวว่า เมื่อเป็นนักการเมืองจะโอนหุ้นของบริษัทในเครือไทยซัมมิท ทั้งหมดให้ “บลายด์ทรัสต์” เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน ว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 73 (5) ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือเป็นการเข้าข่ายหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง หรือไม่

โดย กกต.มองว่าเป็นเพียงแค่ “การหาเสียง” เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้ร้องอย่าง “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ยังไม่ยอมง่ายๆ โดยได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อ กกต. โดยยกประเด็นที่ว่า “เสี่ยเอก” ไม่ได้โอนหุ้นเข้า “บลายด์ทรัสต์” จริง พร้อมแนบ “หลักฐานใหม่” ว่าในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏว่า “ธนาธร” ก็ยังไม่ได้โอนหุ้นแต่อย่างใด ทั้งที่สถานะถือว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว
เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 37,675 คะแนน เข้าป้ายเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 5 จ.นครปฐม
ขณะที่ “ธนาธร” เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วยตัวเองถึงหน่วยเลือกตั้ง
จาก “ข่าวเกือบดี” ก็มาถึง “ข่าวไม่สู้ดี” เมื่อในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ประกาศ บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด เรื่อง กำหนดหยุดการทำงานใน วันที่ 26 ต.ค.- 25 ธ.ค.62 ลงวันที่ 21 ต.ค.62 โดยระบุว่า ในช่วงดังกล่าวลูกค้าของบริษัทฯ หยุดการผลิตชั่วคราวและมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาในปริมาณลดลง ทางบริษัทฯ พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องหยุดการทำงานชั่วคราวบางส่วน ใน วันที่ 26 ต.ค.- 25 ธ.ค.62 หรือ 2 เดือนเต็ม โดยบริษัทฯ จะดำเนินการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานทุกระดับ ในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ อีกทั้งยังมีประกาศก่อนหน้านั้นว่า จะระงับการลงทุนที่ของบประมาณประจำปี 2562 ทั้งหมดด้วย 

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แม้ว่า “เสี่ยเอก” จะอยู่ในฐานะ “อดีตผู้บริหารเครือไทยซัมมิท” หลังเข้าสู่การเมืองแล้วก็ตาม แต่เมื่อบริษัทในเครือ “ไทยซัมมิท” ที่ว่ากันว่าไม่เคยง้อ “ผู้มีอำนาจ” ออกอาการไม่สู้ดีนัก ก็หนีไม่พ้นถูกโยงมาถึงตัว “เสี่ยเอก” ผู้เคยประกาศว่า “ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน” ด้วย

จนเจอแซะไปว่า “ทางการเมืองไม่ค่อยดี ทางบ้านก็ท่าจะแย่” ได้เหมือนกัน

ที่ว่าทางการเมืองไม่ดีนั้น ไม่ใช่แค่ผลการเลือกตั้งซ่อมที่สามพรานไม่เป็นใจ ยังมี “อาฟเตอร์ช็อก” จากการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ใน 2 วาระสำคัญ ที่ปรากฏว่ามี “ลูกพรรค” โหวตสวน “มติพรรค” จนอาจเข้าทำนอง “น้ำผึ้งหยดเดียว” เสียแล้ว

เป็นเรื่องเม้าท์เขย่าตึกไทยซัมมิท ที่ทำการ “ค่ายสีส้ม” ว่าภายในพรรคขณะนี้เกิดอาการร้าวลึก ยากที่จะกลับมาประสานกัน จากทั้งการลงมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ “มติพรรค” ให้ลงคะแนน “ไม่เห็นด้วย” ปรากฏว่ามี ส.ส. 4 ราย ที่ “ลงสวน” กับทิศทางของพรรค

ได้แก่ “ทนายนู้ด”กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี, “เฮียรึก”จารึก ศรีอ่อน และ “สารวัตรต๊อก” พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ขณะที่ “แม่ศรีนวล”ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ลงมติ “งดออกเสียง” รวมทั้งอีก 3 รายที่ “ไม่ลงคะแนน - ขาดประชุม”

จากนั้นอีก 2 วัน อุณหภูมิยิ่งร้อนฉ่า ในการลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่มี “เสียงแหกคอก” จาก ส.ส.อนาคตใหม่ หลุดไป “เห็นด้วย”กับฝ่ายรัฐบาล ด้วย 1 เสียง แล้วดันเป็น “ทนายนู้ด พัทยา” เจ้าเก่า ที่โหวตสวนทางกับต้นสังกัดอีกคำรบ จนถูกตราหน้าว่าเป็น “งูเห่าสีส้ม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เมื่อเช็ก “ปลายทาง” กลับไร้สัญญาณการทุ่มซื้อในการลงมติร่างงบประมาณ ด้วยมองว่า “ผ่านฉลุย” ไม่จำเป็นต้องใช้ “งูเห่า” เป็นตัวช่วย

ก็เลยมีคำถามว่า แล้ว “ส.ส.นกแล” ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่ากันว่าได้อานิสงส์ “พ่อฟ้าฟีเวอร์” ถึงกล้า “แข็งข้อ” กับต้นสังกัด

ปรากฏว่ามูลเหตุมาจาก “ปัญหาภายใน” ทั้งส่วนของ ส.ส.เมืองจันท์ ที่ขัดแย้งเรื่องการส่ง-ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะที่ “กวินนาถ” ก็แถลงชี้แจงว่า การลงมติไม่ตรงกับแนวทางพรรค เพื่อต้องการเปิดพื้นที่การทำงานในเขตเลือกตั้ง หรือย่าง “แม่ศรีนวล” ที่งดออกเสียงร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ก็ระบุว่าไม่ได้เป็นงูเห่า หากแต่ลงมติตาม “มติพรรคเดิม” ที่มีการประชุม

เมื่อผนังเหล็กเริ่มมีรอยร้าว ปัญหาที่ซุกไว้ ก็เริ่มพรั่งพรูออกมาทันที เมื่อมีเสียงบ่นผสมโรงจาก “ส.ส.อนาคตใหม่บางส่วน” โดยเฉพาะพวกพรรษาสูงๆ เคยทำงานการเมืองมาก่อน ที่ไม่พอใจการบริหารงานภายใต้การนำของ “เสี่ยเอก” ที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ภายในพรรค โดยให้ความสำคัญกับ “ชนชั้นสูง” หรือ “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” ในพรรค มากกว่า “ส.ส.เขต” ที่เป็นได้แค่ “ตัวประกอบ”

การเสนอความคิดเห็นภายในพรรค ทำได้ยาก เพราะที่สุดก็เป็นการตัดสินใจ ของ “ธนาธร”หรือ “ปิยบุตร” จนเข้าข่าย “เผด็จการ” ไปทุกขณะ

มีการยกกรณีร่าง พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลฯ ที่มีความพยายามเสนอให้รอมชอม ลงมติ “เห็นด้วย” หรือ “งดออกเสียง” ไว้ก่อน โดยใช้การอภิปรายสะท้อนแง่มุมทางกฎหมายบันทึกไว้เท่านั้น

หากแต่ก็เป็น “ธนาธร -ปิยบุตร”ที่ขอร้องแกมบังคับ ให้ส.ส.แสดงจุดยืนของพรรค ซึ่งจะพูดให้ถูกก็คือ จุดยืนของ “2 คีย์แมน” ที่อยู่เหนือ “เสียงส่วนใหญ่” นั่นเอง

เผอิญมีข่าวมาสอดรับพอดิบพอดีว่า หากพรรคอนาคตใหม่ “มีอันเป็นไป” อย่างที่ “เซียนการเมือง” คาดการณ์ไว้ จากกรณี “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อมวลชนในวันที่ 20 พ.ย.62 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนั้น ก็จะมี “คนค่ายสีส้ม” อย่างน้อย 2 กลุ่ม พร้อมจะตีจากไปตั้งพรรคใหม่ หรือหาต้นสังกัดใหม่ ตัดขาดจากการเป็น “ลิ่วล้อธนาธร” โดยทันที

ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่ม ส.ส.ลูกเมียน้อย” ที่ต้องการปลดพันธนาการออกจาก “ธนาธร” เพื่อไปทำหน้าที่ “ผู้แทนราษฎร” ขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่มากกว่าประเด็นด้านการเมืองที่พรรควางแนวทางไว้ ส่วนอีกพวกก็ “ส.ส.เซเลบริตี้” ที่ชักสนุกกับการทำหน้าที่ผู้แทนฯในสภา ที่อยากชิ่งหนีให้พ้นเงา“ธนาธร” เช่นกัน

เข้าทำนอง “ไม่มีมูล สุนัขไม่อุจจาระ” เมื่อจู่ๆ นิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ อ้างว่าเพื่อรับผิดชอบกรณี “ไม่ลงคะแนน” ร่าง พ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลฯ เพื่อเป็นบรรทัดฐานการทำงานต่อไป

ซึ่งในทางการเมืองไม่ได้มองว่าเป็นการ “แสดงสปิริต” แต่ถูกมองว่าหวัง “เอาตัวรอด” ไม่รับผิดชอบความเป็นไปของพรรคในฐานะกรรมการบริหาร ซึ่งก็หมายรวมถึงชะตากรรมของ “เสี่ยเอก” ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ด้วย

ในช่วงที่มรสุมหลายลูกที่ประดังเข้าใส่ “ธนาธร” ไม่หยุดหย่อน ก็ประจวบเหมาะกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตากรณีถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร” ในวันที่ 20 พ.ย.นี้

“ผู้สันทัดกรณี” วิเคราะห์รูปการณ์คดี ประกอบกับคำชี้แจงของ “เสี่ยเอก” ที่พกอาการ “อัลไซเมอร์” เข้าไปในวันที่ศาลนัดไต่สวน จนตอบข้อสงสัยแทบไม่ได้ อ้างเพียง “จำไม่ได้-ไม่ทราบจริงๆ” แล้ว พร้อมแง้มดูอัตราต่อรองจาก “เจ้าของโต๊ะ” แล้ว บอกคำเดียวว่า “อาการหนัก” น่ากลัวจะ “ชะตาขาด” เอาง่ายๆ

อย่างไรก็ดี “ธนาธร” ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นขาลงของพรรคแต่อย่างไร พร้อมประกาศว่า “อย่าลืมว่าพรรคอนาคตใหม่เข้ามาด้วยระยะเวลาที่สั้นขนาดนี้ ทำให้เราไม่สามารถคัดกรองบุคลากรที่มีความคิดความฝันเหมือนกับพรรค ดังนั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์คนที่จะเดินไปต่อกับพรรค ถือเป็นเหล็กเนื้อดีที่ไม่มีสนิม ต่อให้เขาซื้อพวกเราทั้งหมด แต่เขาซื้อปิยบุตรกับซื้อธนาธรไม่ได้ แม้ว่าจะเหลือแค่เราสองคน เราก็จะเดินหน้าต่อและทำงานการเมืองเพื่อให้ได้สังคมตามที่เราฝันไว้”

และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงถือหางข้าง “เสี่ยใหญ่ไทยซัมมิท” ซักคน.


กำลังโหลดความคิดเห็น