xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

HAPPY ENDING ซีพีเซ็นรถไฟ 3 สนามบิน สถานีต่อไป “เมืองการบินอู่ตะเภา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันประวัติศาสตร์- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวราวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประไทย และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 562
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ดีลเมกะโปรเจกต์ แสนล้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็ลงตัว โดยการลงนามในสัญญามีขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม2562 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี

ถือเป็นงานใหญ่ระดับตำนานตามคำเปรียบเปรยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นตำนานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่นเดียวกันกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นตำนานของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ในการลงนามสัญญาโครงการดังกล่าวจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ หนึ่ง การลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ในการดำเนินโครงการนี้

และ สอง พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งบันทึกนี้เพื่อเป็นข้อตกลงให้ สกพอ.เป็นหน่วยงานกลางในการชำระเงินลงทุนก่อสร้างให้เอกชน รวมทั้งช่วยเหลือการบริหารจัดการโครงการร่วมกับเอกชน

พล.อ.ประยุทธ์ สุดแสนจะยินดีกับความก้าวหน้าของโครงการนี้หลังทำงานขับเคลื่อนมากว่าสองปี การลงนามในสัญญาถือเป็นการนับหนึ่งในการเริ่มก่อสร้าง ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมทั้ง 3 สนามบิน แต่ยังเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศทั้งทางบก รถไฟความเร็วสูง ทางอากาศ รวมถึงท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด

นายกรัฐมนตรี บอกว่า ทั้งหมดคือช่วยกันสร้างอาชีพและวางอนาคตประเทศที่เป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศร่วมกัน โดยมีอิตาลีมาร่วมด้วยในส่วนของการเดินรถ ตามสัญญาการร่วมทุน Public Private Partnership หรือ PPP ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ของเราที่มีกฎหมายกำกับควบคุมทุกตัว ขอให้เชื่อมั่นไว้วางใจว่าเราเดินหน้ามาถึงจุดนี้ได้ ถือว่าเดินมาก้าวหนึ่งแล้ว ขอให้ทุกคนสนับสนุนให้เดินไปสู่ก้าวที่สองให้ได้

ส่วนการก่อสร้างคาดทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญา โดยได้หาทางออกไว้แล้วในกรณีที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อย่างกรณีการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิมที่กีดขวางในเส้นทางการก่อสร้าง ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ในฐานะความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าภาพในการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลงานนี้ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ปัญหายังไม่จบ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้สานต่อในการเรื่องการลงนามสัญญาก่อสร้าง

“.... สิ่งสำคัญเมื่อสำเร็จจะเกิดผลหลายอย่างทั้งผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ การเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยทุกสถานีที่รถไฟจอดล้วนมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางและเปิดพื้นที่เชื่อมต่อพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศการขนส่งสินค้า เกี่ยวข้องการโลจิสติกส์ของไทย ตลอดจนรถไฟรางคู่ เครื่องบินก็จะมาจอดยังพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ต้องห่วง เชื่อว่ารัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้” พล.อ.ประยุทธ์ วาดหวัง

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) โดยร่วมกับพันธมิตรจัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public - Private - Partnership หรือ PPP ภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้างและซัปพลายเออร์ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากเอกอัครราชทูต 3 ประเทศ ประกอบด้วย นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการประวัติศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในครั้งนี้” นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท และจะเพิ่มทุนเป็น 25,000 ล้านบาท เมื่อเริ่มเดินรถ โดยมีจำนวนหุ้น 40 ล้านหุ้น มีสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 70% ไชน่า เรลเวย์ คอนสตั๊คชั่น ลิมิเต็ด 10% บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 10% บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 5% และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 5%

ส่วนคณะกรรมการบริษัท 9 คน อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทยฯ นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง เป็นต้น

บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ จะทำหน้าที่ออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง ติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง เดินรถและบำรุงรักษา รวมทั้งพัฒนาพื้นที่มักกะสัน-ศรีราชา และพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานี โดยภารกิจแรกจะสำรวจพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับ ร.ฟ.ท. และรับโอนแอร์พอร์ต เรลลิงก์

นอกจากนั้น บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ เป็นเอสพีวีของภาคเอกชน จะทำหน้าร่วมกับเอสพีวีภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ของภาครัฐในการกำกับดูแลและทำหน้าที่บริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตลอดอายุโครงการ 50 ปี โดยคณะกรรมการบริหารสัญญา 5 คน จะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร.ฟ.ท., สกพอ., ผู้แทนกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มการประกวดราคาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ กลุ่ม CPH และกลุ่มบีเอสอาร์ โดยกลุ่ม CPH ชนะประมูลหลังจากยื่นขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐต่ำสุด คือ 117,226 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 119,425 ล้านบาท ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ได้ใช้เวลาเจรจากับกลุ่ม CPH ในเงื่อนไขต่างๆ เป็นเวลา 9 เดือน ก่อนได้ข้อสรุปสุดท้ายจนกระทั่งนำมาสู่การลงนามในสัญญาในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ตามเป้าหมาย เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท หวังผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

สำหรับประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้น ก่อนหน้านี้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวถึงกรณีที่บอร์ดอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เคาะแผนส่งมอบพื้นที่ที่ปรับใหม่ล่าสุดว่า ตามแผนใหม่ได้ให้ฝ่ายบริหารการรถไฟฯ ต้องไปทำหนังสือสัญญาแนบท้ายโครงการเพื่อความชัดเจน โดยส่งมอบพื้นที่เป็น 3 เฟสดังนี้

1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กม. เป็นพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์เดิม ส่งมอบได้ทันทีหลังลงนามสัญญา แต่กลุ่ม CPH ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ล่วงหน้า 10,671 ล้านบาทก่อน

2. สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. เดิมจะส่งมอบภายใน 2 ปี จะเร่งส่งมอบใน 1 ปี 3 เดือน

3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. เดิมส่งมอบภายใน 4 ปี (เกือบเท่าสัญญาก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 220 กม.ที่ระบุให้สร้างเสร็จภายใน 5 ปี) จะเร่งรัดให้ได้ใน 2 ปี 3 เดือน คาดว่า รถไฟความเร็วสูงสายแรกที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง คือ สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566 หรือต้นปี 2567 ถือเป็นหัวใจ ของโครงการนี้ ส่วน สถานีพญาไท-ดอนเมือง จะเสร็จในปี 2567-2568

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินมีแนวเส้นทางเชื่อมโยง เริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองวิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อผ่านสถานีมักกะสันเลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทราสถานที่ชลบุรีสถานีศรีราชาสถานีพัทยาและเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้ายรวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากโครงการรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งแล้ว ณ เวลานี้ กลุ่มซีพีและพันธมิตร ยังกลับมามีลุ้นในการชิง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก(ผู้ถูกฟ้อง) ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี (ผู้ฟ้อง) เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป

หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งออกมา กระบวนการคัดเลือกก็เริ่มดำเนินการต่อ โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ระบุว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดซอง 2 (ด้านเทคนิค) ของกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการประเมินต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 80%

หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงจะพิจารณาเปิดซองราคาหรือซอง 3 ผลตอบแทนรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรอศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในวันที่ 4 พฤศจิกายน หรือวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ว่าศาลจะตัดสินว่าการส่งเอกสารบางส่วนของกลุ่มซีพีที่ล่าช้าจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลต่อหรือไม่ จากนั้น เมื่อศาลฯ มีคำตัดสินแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะตัดสินคัดเลือกผู้ชนะประมูล เสนอต่อ กพอ. โดยคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ประมาณเดือนมกราคม 2563

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กองทัพเรือ จัดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 21 มี.ค.62 โดยมี 3 กลุ่มยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ,บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งมีพันธมิตรสนามบินนาริตะเข้าร่วม

กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF , บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในกลุ่มบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และ GMR Airport Limited จากอินเดีย

และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และ 5. Orient Success International Limited

การปักหมุดในโครงการอีอีซีที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทย ได้เริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว แต่ต้องไม่ลืมเรื่องลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วยดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเน้นย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น