xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเดปโป้สีแดง!เริ่มทดสอบระบบรถ กลางปี 63 รับมอบครบ 25 ขบวน ให้บริการ ม.ค. 64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟท.เปิดเดปโป้ รถไฟสายสีแดง”บางซื่อ” รับมอบรถ 2 ขบวนแรก “ศักดิ์สยาม”มั่นใจเปิดให้บริการต้นปี 2564 ค่าโดยสาร 14-47 บาท เป็นทางเลือกเดินทาง แก้ปัญหาจราจร เร่งสรุปตั้งบ.ลูกเดินรถ เสนอครม.ได้ปลายปีนี้ “วรวุฒิ”เผยปลายปี 63 ติดระบบอาณั

วันนี้ (1 พ.ย.) ณ อาคารปฏิบัติการหลัก ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง โครงการระบบรถไฟชนเมือง (สายสีแดง) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ไจก้า) ผู้บริหารกิจการค้าร่วม เอ็มเอชเอสซี (MHSC) เข้าร่วม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีต้อนรับรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะเริ่มทดสอบขบวนรถตามขั้นตอน เพื่อเปิดให้บริการในต้นปี 2564 ตามเป้าหมาย ซึ่งขบวนรถทั้งหมด 25 ขบวนจะเข้ามาครบประมาณกลางปี 2563

ซึ่งได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน47 บาท โดยรถไฟสายสีแดง จะมีรถทั้งสิ้น 25 ขบวน โดยมี 2 แบบคือ ขบวนละ 6 ตู้ และขบวนละ4 ตู้ ซึ่งสามารถต่อตู้ได้สูงสุดที่ขบวนละ12 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ตู้ละ 300 คน ดังนั้นหากต่อกัน 12 ตู้ จะรองรับได้สูงถึง 3,600 คนต่อขบวน จะเป็นระบบขนส่งที่เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนได้อย่างดี ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อขยายสายสีแดงไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งจะแก้ปัญหาจราจรในกทม.และปริมณฑลได้เป็นอย่างดี

สำหรับการจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดงนั้น ขณะนี้คณะทำงานที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งตนได้ให้ศึกษาหลายๆแนวทาง เพื่อเลือกแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรถไฟสายสีแดง เป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นต้องเลือกแนวทางที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และรัฐในฐานะผู้ดูแลมีภาระแค่ไหน ซึ่งต้องดูความพร้อมของรฟท.ในการบริหารโครงการด้วย ทั้งด้านบุคลากร เงินลงทุนต่างๆ นำมาเปรียบเทียบ เพื่อให้การบริหารโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนแนวทางการยกระดับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในปัจจุบัน ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสายสีแดงตามมติคนร.นั้นยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องนำมาเปรียบเทียบ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปลายปี 2562 และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

สำหรับการจัดระบบฟีดเดอร์ เข้าสู่สถานีรถไฟสายสีแดงนั้น ทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขส มก.) จะมีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างรถแลรางได้สะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

@กลางปี 63 ติดระบบอาณัติสัญญาณเสร็จ ทดสอบเสมือนจริงปลายปี

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท.ได้รับมอบรถไฟฟ้า จำนวน 10 ตู้ ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน โดยขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 โดยหลังจากรับมอบรถ จะเริ่มการทดสอบภายในโรงซ่อมบำรุงก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing ซึ่งระบบอาณัติสัญญาณ จะติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ประมาณกลางปี 2563 จะเป็นการทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ปลายปี 2563 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ภายในต้นปี 2564

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และช่วยเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายคมนาคมรูปแบบอื่นๆ ของประเทศ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและคล่องตัว ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการคมนาคมทางราง ที่สำคัญยังเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับระบบรางของไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตด้วย

ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และสถานีกลางบางซื่อ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ในส่วนของ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความก้าวหน้า 91.11 %
สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้า 62.40% โดยขบวนรถไฟที่นำเข้ามานี้อยู่ในสัญญาที่ 3 เป็นของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด

ประกอบไปด้วยขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin ด้านการออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงนั้นมีการคำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ดังนั้น ภายในขบวนรถจึงมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง และใช้ "กระจกสี" สำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ นับเป็นหนึ่งในแนวคิดการออกแบบที่ช่วยลดความร้อนภายในตู้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมีสามประตู และเพิ่มจำนวนที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น