ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ก่อนการประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” 22 ตุลาคม 2562 เสียงอันหนักแหน่นเรื่องการแบน 3 สารเคมีอันตรายคือ “พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส” เริ่มแผ่วบางลงจาก “ผู้มีอำนาจตัดสินใจ” จนสังคมชักไม่แน่ใจว่า การแบนจะประสบความสำเร็จ
แม้ “ฝ่ายหนุนให้แบน” จะมีเสียงอันมั่นคงจาก “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ“น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “ฝ่ายพันธมิตรสารเคมี” ก็มีเสียงที่ดังและเคลื่อนไหวกดดันอย่างมีพลังอยู่ไม่น้อย กระทั่งคาดการณ์ว่า อาจไม่มีวาระดังกล่าวบรรจุอยู่ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคม หรือหรือเลวร้ายถึงขั้น “ไม่แบน” เลยก็ว่าได้
ตัวละครใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาเป็นระลอก เช่น นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย(FSA) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยสมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย
พวกเขาขู่จะฟ้อง “ศาลปกครอง” และ “แบนพรรคประชาธิปัตย์”
ขณะที่ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ทำท่าว่าจะกลับไป “แทงกั๊ก” อีกรอบหลังการจากตัวแทน FSA เข้าพบ โดยให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนตัวพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลทุกด้าน แต่การตัดสินใจจะแบนสารเคมีดังกล่าวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และในภาวะปัจจุบันคงไม่เหมาะสมที่จะให้ความเห็นใดๆได้ เพราะแม้แต่ยืนอยู่ตรงกลางขณะนี้ยังถือว่าผิด หากพูดอะไรออกไปเวลานี้ จะเป็นการชี้นำต่อการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย”
อย่างไรก็ดี ในที่สุด “ชัยชนะก็ตกเป็นของประชาชน” เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ “แบน” สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการลงมติแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของสารเคมี
กล่าวคือ พาราควอต มีมติเห็นควรให้ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จำนวน 20 คน เห็นควรให้ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2564 จำนวน 1 คน เห็นควรให้จำกัดการใช้ 5 คน
คลอร์ไพริฟอส มีมติเห็นควรให้ยกเลิกการใช้ 22 คน เห็นควรให้จำกัดการใช้ 4 คน
ไกลโฟเซต มีมติเห็นควรให้ยกเลิกการใช้ 19 คน เห็นควรให้จำกัดการใช้ 7 คน
ทันทีที่ผลออกมา “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความยินดีว่า “ขอกราบขอบพระคุณและน้อมคารวะต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเฉพาะผู้ที่ลงมติแบนการใช้สารพิษด้วยจิตสำนึกที่รักและห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสุขภาพของพี่น้องประชาชน ประวัติศาสตร์จะจารึกวีรกรรมที่ท่านทำเพื่อแผ่นดินเกิดในวันนี้เยี่ยงวีรบุรุษของชาติ ขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ประเทศของเรายังมีข้าราชการและนักวิชาการที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมหลงเหลืออยู่ในบ้านของเรา”
นายภานุวัฒน์ ตรียางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมประชุม รวม 26 คน จาก 29 คน ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ครอบครอง) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยมอบให้ กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน พ.ย.นี้
ขณะเดียวกันคณะกรรมการ ได้ขอให้ กรมวิชาการเกษตร ไปพิจารณาระยะเวลาและความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่ายเป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีทั้งหมด 29 คน ประกอบด้วย 1.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 2.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 4.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 5.ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 6.เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 7.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 8.อธิบดีกรมการขนส่งทางบก 9.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 10.อธิบดีกรมการค้าภายใน 11.อธิบดีกรมประมง 12.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 13.อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 14.ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 15.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฎหมาย 16.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเคมี 17.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ 18.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 19.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 20.ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 21.ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายท้องถิ่น 22.ผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 23.ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 1) 24.ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 2)25.อธิบดีกรมการแพทย์ 26.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 27.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 28.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 29.อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
สำหรับบอร์ดวัตถุอันตรายที่ไม่เข้าประชุม 3 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 คน
แน่นอน ผลที่เกิดขึ้นย่อมไปเป็นที่พอใจของ “กลุ่มพันธมิตรสารเคมี” ซึ่งได้ยกขบวนกันมาเฝ้าติดตามการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย บริเวณสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังทราบผล ปฏิกิริยาของพวกเขาเต็มไปด้วยความผิดหวังและประกาศเดินหน้าต่อสู้เต็มที่
“รู้สึกผิดหวังกับมติดังกล่าว แต่ก็ทำใจมาแล้ว หลังจากนี้กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางไปศาลปกครองในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวต่อมติดังกล่าว รวมถึงการยื่นถอดถอนมติกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารดังกล่าวเพราะมีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จรวมถึงดำเนินการยื่นฟ้องเอาผิดตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด โดยจะแยกฟ้องทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง กลุ่มเอ็นจีโอ รวมถึงบอร์ดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ”นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง หัวหอกของฝ่ายสนับสนุนสารเคมีคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวประกาศแนวทางการต่อสู้ของพวกเขา
เช่นเดียวกับ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ที่งัดข้อมูลออกมาสู้ว่า การประกาศแบน พาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการผลิตสำคัญที่ทำให้เกษตรอุตสาหกรรมของประเทศเจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือกับมูลค่าความเสียหาย ทั้งในแง่รายได้เกษตรกร 2.5 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรกรจำเป็นต้องขอให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชยส่วนต่างค่าแรงงาน 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมหาแรงงานคนมาช่วยถอนหญ้า หากหาไม่ได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาถอนหญ้าให้เกษตรกร 60 ล้านไร่ให้เสร็จภายใน 30 วัน รวมทั้งยกเลิกหนี้สินปัจจุบันของครอบครัวเกษตรกรทุกคนที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร และรัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกรเมื่อเทียบกับค่าสารเคมีพาราควอต
นอกจากนั้นยังมีแรงกดดันจาก “สหรัฐอเมริกา” ดังที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า “ก่อนเดินทางมาจีนมีเจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็นที่สนามบิน ระบุว่า สถานทูตสหรัฐฯ บอกว่าหากแบนไกลโฟเซตจะมีผลเสีย ขอให้มีตัวนี้อยู่ เพราะยังหาตัวอื่นมาทดแทนไม่ได้”
ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ไบโอไทยได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศห้ามนำเข้าไกลโฟเซต นาย Sonny Perdue รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามว่า การแบนไกลโฟเซต “ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการผลิตทางการเกษตรทั่วโลก” แต่รัฐบาลเวียดนามตอบโต้กลับอย่างรวดเร็วว่า “การตัดสินใจของเวียดนามเป็นไปตามกฎหมายภายในของเวียดนาม ระเบียบระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจของเรา”
...ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า “สงครามพาราควอตยังไม่จบง่ายๆ” อย่างแน่นอน ทั้งการต่อสู้ในรูปของ “ม็อบ” และการต่อสู้ในเชิง “กฎหมาย” ที่พวกเขาประกาศเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง และอีกสารพัดการฟ้องที่จะตามมา ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ดังที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลได้ว่าเอาไว้
ส่วนจะ “แพ้” หรือ “ชนะ” ถ้าให้ฟันธง โอกาสที่จะสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจะฟื้นคืนชีพคงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ “การบังคับใช้กฎหมาย” ของภาครัฐที่จะต้องดำเนินนับจากนี้ว่าจะมี Action Plan ออกมาอย่างไร จะดำเนินแบบ “ม้วนเดียวจบ” เป็นเพียงแค่การแบนในทาง “ทฤษฎี” แต่ในทางปฏิบัติอาจ “หลับตาข้างหนึ่ง” เพื่อให้การระบายสต๊อกสารเคมีหมดไป หรือแม้กระทั่งทำเป็น “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” โดยปล่อยให้ใช้กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ต่อไป ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
แน่นอน หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งก็คือ “กรมวิชาการเกษตร” ในยุคที่มีอธิบดีชื่อ “นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์” หรือที่คนในกระทรวงเรียกกันว่า “อธิบดีเปิ้ล” หญิงแกร่งที่มีคอนเนกชันในระดับ “ไม่ธรรมดา” ซึ่งก็คงต้องติดตามและให้กำลังใจในการทำงานเพราะมีภารกิจอันยิ่งใหญ่และสารพัดแรงกดดันรออยู่เบื้องหน้า
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องตระหนักนับจากนี้คือ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องรับภาระในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเกษตรกรที่แสดงความจำนงว่าจะใช้สาร 3 ชนิดนี้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องว่าหากมีต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนแบ่งเบาภาระจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้
เช่นเดียวกับ เรื่อง สารทดแทน ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องดำเนินการ แต่ความเห็นคือไม่น่ามุ่งเป้าไปที่การใช้สารทดแทน แต่ควรหาวิธีการทดแทน คือ 1.ใช้เครื่องมือกลและ เครื่องจักรกลทางการเกษตร 2.เรื่องการปลูกพืชคลุมดิน และ 3.การจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า อ้อย ข้าวโพด มีสารตัวเลือกทดแทนทั้งที่ต้นทุนถูกกว่าและแพงกว่า จึงไม่ต้องห่วงพืชสองชนิดนี้ ส่วน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผล กรณี ยาง มีการศึกษาโดยคณะทรัพยากรธรรมชาติฯ ม.สงขลาฯ ปรากฏว่าทางเลือกหลักที่เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืช 89 เปอร์เซ็นต์คือใช้เครื่องตัดหญ้าและรถแทรกเตอร์ แปลว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีตอนนี้มีค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับส่วนใหญ่ วิธีปรับตัวก็คือดูวิธีจากเกษตรกรส่วนใหญ่นั่นเอง ไม่จำเป็นต้องหาทางเลือกมากเพราะมีวิธีอยู่แล้ว
ด้าน ปาล์มน้ำมัน มีการศึกษาที่อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ 64 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้เครื่องตัดหญ้า ฉะนั้นการปรับตัวของเกษตรกร 2 พืชนี้ไม่มีปัญหา แต่บางแห่งอาจติดปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่เหมาะสม ตรงนี้ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น
ยกเว้นมันสำปะหลัง ที่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการกำจัดวัชพืช คิดรวมทั้งประเทศเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลสามารถชดเชยให้เกษตรกรได้ เพราะการที่เกษตรกรใช้สารอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะตัดสินใจเอง แต่เพราะรัฐบาลให้นำเข้า ลดภาษี ไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อุดหนุนให้ชาวบ้านใช้สารเคมีเอง ฉะนั้นเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องดูแล
“ถ้าไม่ใช้ พาราควอต - ไกลโฟเซต กำจัดหญ้า มีการแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนตแทน ซึ่งตัวนี้ก่อนนี้ราคาแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า แต่วันนี้ราคาลดลงแพงกว่า 2 เท่าแล้ว ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรฯ มาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการฯว่ามีคนมาเสนอว่าถ้าอำนวยความสะดวกเรื่องขึ้นทะเบียน สามารถทำให้กลูโฟซิเนต เหลือลิตรนึง 150 - 180 บาท ต่ำกว่าพาราควอตด้วยซ้ำ ฝ่ายคัดค้านการแบน มีการสร้างภาพว่าจะมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาแทน ซึ่งกลูโฟซิเนตนั้นเป็นผลิตผลจากบริษัทไบเออร์ ซึ่ง ถือไกลโฟเซตอยู่ เป็นกลุ่มทุนเดิมนั่นเอง”นายวิฑูรย์ให้ข้อมูล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยอมรับว่า การแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช แต่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการรองรับไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยให้กรมวิชาการเกษตรรวบรวมสารชีวภัณฑ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชได้ให้หาสารอื่นมาทดแทน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาปัญหาของเกษตรกรและหาแนวทางแก้ไขให้ ทั้งกรณีที่สารเคมีอื่นอาจมีราคาแพงกว่าหรือค่าแรงงานในการจัดการแปลง หากต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตใด ๆ แก่เกษตรกรต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อน
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กำลังเร่งขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ การผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้ตรงกับผลวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต การส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากการที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันจะทำให้ซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาถูกลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อทำเกษตรอัจฉริยะ (Precision Farmimg) จะสามารถเข้าไปสนับสนุนได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ จะเร่งขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายบังคับใช้เร็วที่สุด โดยขณะนี้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ซึ่งมี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน แล้วจะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะเดินหน้าทำเกษตรปลอดภัยเต็มรูปแบบในพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ พร้อมกับตรา พ.ร.บ.องค์กรเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเพื่อเป็นองค์กรทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำเกษตรในประเทศไทยให้ดำเนินตามศาสตร์พระราชาได้แก่ ทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินการผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ 10,000 กว่าแห่ง รวมทั้งร่วมกับยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเคมีไปเป็นเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โดยภายในปี 2562-2563 จะทำให้ได้ 5 ล้านไร่ และจะขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในอัตราร้อยละ 25 ในปีต่อ ๆ ไป
…ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า นี่คือจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของ “การปฏิวัติเกษตรกรรมแห่งสยามประเทศ” จากประเทศที่พึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบราคาถูก และพืชผักไม่ปลอดภัยไปสู่ “เกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ไปสู่ “เกษตรอินทรีย์” ที่เป็นย่างก้าวที่มีหมุดหมายเบื้องหน้าคือ ระบบอาหารและสุขภาพที่ปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศ
ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องมีบทบาทในการสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีเกษตรกรรมที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยที่เกษตรกรต้องไม่ใช่ผู้รับภาระต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ในอนาคต