ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาเร็ว... เคลมเร็ว สำหรับ “แนวคิดติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง จีพีเอส (GPS) รถยนต์ส่วนบุคคลและจักรยานยนต์” จากมันสมองของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปศึกษาแนวทาง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อย่างหนัก จนสามารถกล่าวได้ว่า ล้มเลิกตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลยก็ไม่ผิดไปจากความจริงเท่าใดนัก
กล่าวสำหรับ แนวคิดติด GPS รถยนต์ส่วนบุคคลและจักรยานยนต์ การติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถส่วนบุคคล นอกเหนือจากรถสาธารณะ 4 ประเภทที่ถูกบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ รถรับจ้าง รถบรรทุก รถตู้โดยสาร และรถโดยสารขนาดใหญ่ “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม” เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่ง เพราะสามารถควบคุมความเร็วรถและตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ ซึ่งการตั้งด่านสกัดจับนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ดังนั้น ได้มอบหมายให้ ขบ. ทำการศึกษาทั้ง ราคาอุปกรณ์ GPS รวมถึงค่าบริการรายเดือน สำหรับอุปกรณ์ GPS ปัจจุบันลดลงจากหลักหมื่นอยู่ในราคาหลัก ส่วนค่าบริการเดือนจะอยู่ 300 บาท โดยมีแนวคิดว่าจะเริ่มจากรถใหม่ก่อนส่วนรถเก่าก็จะมีมาตรการค่อยๆ บังคับใช้ต่อไป
“หากเราติด GPS กับรถได้ครบทุกประเภท เราจะกำกับดูแลการใช้รถใช้ถนนได้หมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ทำแบบนี้ ไม่มีอะไรเป็นของฟรีในโลก แต่เรากำลังชั่งน้ำหนักว่า สิ่งที่จะนำมาใช้จะเกิดประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ขอหารือกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน หากจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้คงต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน หรือถ้าเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาเป็นปี แต่เราต้องกล้านับ 1 คาดว่าภายใน 1 ปี จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องนี้” ศักดิ์สยามให้เหตุผล
และเมื่อเกิดคำถามว่า การจะบังคับให้รถส่วนบุคคลติดตั้ง GPS ติดตามการเดินทางของรถเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ นายศักดิ์สยาม ตอบว่าให้ไปดูกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลฉบับอื่นๆ ซึ่งตนเองเห็นว่าประโยชน์มีมาก อย่างน้อยการก่ออาชญากรรมจะลดลง เช่น การขโมยรถ การกำกับความเร็วรถจาก GPS ก็ช่วยรถลดปัญหาอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ ได้มอบให้ ขบ. ศึกษาระเบียบกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบรถที่ทำผิดกฎหมายด้วย เช่น การแจ้งเบาะแสจนนำตัวผู้กระทำความผิดกฎจราจรมาลงโทษตามกฎหมายจะได้รับแบ่งสินบนนำจับให้ด้วย เช่น การถ่ายภาพ รูป หรือเหตุการณ์ เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุ และจะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องให้ไปพิจารณารายละเอียดว่า จะจัดแบ่งค่าสินบนนำจับให้ประชาชนในสัดส่วนเท่าไรต่อไป หลังโยนหินถามทาง กลายเป็นประเด็นร้อนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ขับขี่โดยใช่เหตุ
ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า กรณีการติด GPS ในรถโดยสารสาธารณะนั้น รัฐมีเหตุผลฟังได้เพราะต้องควบคุมความปลอดภัยให้กับผู้ที่โดยสารรถเหล่านั้น เช่น รถประจำทาง รถตู้ รถแท็กซี่ แต่กรณีรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะไปคล้ายกับนิยายเรื่อง “1984” ซึ่งเขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ เล่าเรื่องประเทศสมมติแห่งหนึ่งที่รัฐบาลมีกลไกเรียกว่า “บิ๊กบราเธอร์” คอยสอดส่องพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนอยู่ตลอดเวลา โดยการติด GPS ที่รถยนต์ส่วนบุคคลจะทำให้รัฐบาลย่อมรู้ได้ว่าใครเดินทางไปไหนอย่างไร ประชาชนย่อมไม่สบายใจ
ทั้งนี้ ในบางประเทศอาจทำได้เพราะเป็นเผด็จการเต็มที่ แต่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ยังมีวิธีอื่นที่จะป้องกันอาชญากรรม เช่น การข่าว ซึ่งหมายถึงการคัดกรองผู้ต้องสงสัยกลุ่มหนึ่งก่อน เป็นกลุ่มที่มีประวัติ ตนเชื่อว่าหากประเทศไทยมี 70 ล้านคน คนกลุ่มนี้คงมีไม่ถึง 1 ล้านคน และหากเป็นกรณีล่อแหลมจริงๆ ค่อยขอหมายศาลเพื่อใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าติดตาม และปัจจุบันก็มีกฎหมายทำนองนี้อยู่แล้ว อนึ่ง แนวคิดของ รมว.คมนาคม อาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังที่ในต่างประเทศก็เคยมีการยื่นขอให้ศาลสูงตีความเช่นกัน
สุดท้าย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แสดงอาการหัวเสียเล็กน้อยหลังถูกผู้สื่อข่าวยื่นไมค์ถามความคืบหน้า ซึ่งยอมถอยแต่โดยดี
“จะมาถามรื้อฟื้นอีกทำไม เรื่องที่เฟดไปแล้วก็ให้ผ่านไป ถ้ายังไปพูดอีกก็จะหาว่าผมตลบตะแลง ไม่เอา ผมไม่พูดแล้ว และต่อจากนี้ไปผมจะไม่แถลงข่าวอะไรแล้ว จะให้โฆษกกระทรวงฯ ถามไปยังผู้สื่อข่าวก่อนว่าจะมีคำถามอะไร ให้ส่งมาให้ผมจะตอบและพิมพ์ให้ เพราะตอนนี้ผมกลัวมาก ไม่เอาแล้ว ยอม ไม่ไหว”
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงแนวคิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อระบบ GPS Tracking ให้ครอบคลุมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลว่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สามารถเข้าถึงการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ การใช้ความเร็ว การแสดงสถานที่ของรถยนต์เพื่อลดการก่ออาชญากรรม และการฝ่าฝืนการกระทำผิดกฎจราจร
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากำหนดนโยบายให้รถส่วนบุคคลติดตั้งระบบ GPS Tracking กรมการขนส่งฯ จะทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะแนวทางความเป็นไปได้และผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน อาทิ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารราชการ ไปจนถึงการกำหนดการบังคับใช้ในข้อกฎหมายให้อยู่ในกฎกระทรวงหรือกฎหมายใด
อีกทั้งยังต้องพิจารณาปัจจัยด้านราคาค่าอุปกรณ์การติดตั้งและค่าบริการ ซึ่งการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากระบบ GPS Tracking ใช้กับรถส่วนบุคคลดังกล่าว จะมุ่งเน้นประโยชน์ด้านความปลอดภัยเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการโจรกรรมอีกด้วย โดยการดำเนินมาตรการนี้จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน รวมถึงจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี ก่อนได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการต่อไป
นายจิรุตม์ ระบุว่า การศึกษาการติดตั้ง GPS Tracking รถทุกประเภทนั้น กรมการขนส่งทางบกจะต้องมีการหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคการผลิตตั้งแต่ต้นทางจากโรงงาน เพื่อพิจารณาแนวทางกำหนดให้มีการติดตั้ง GPS กับรถใหม่ที่ผลิตจากโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้ไม่สร้างผลกระทบกับประชาชน รวมทั้ง เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อมุ่งทำความเข้าใจและพัฒนามาตรการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าหากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ การติดตั้งระบบ GPS Tracking จะมาสามารถติดตามการเดินรถแบบ Real - time ทั้งพิกัด ความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ ตลอดจนพฤติกรรมการขับขี่
ชัดเจนแล้วว่า การเชื่อมต่อระบบ GPS Tracking ให้ครอบคลุมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล กรมการขนส่งทางบกจะนำไปศึกษาความเป็นไปได้ภายในกรอบเวลา 1 ปี ส่วนศึกษาแล้วจะ “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง” คือล้มโครงการไปแบบเงียบๆ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
แต่เชื่อเถอะว่า...มันจบแล้วครับนาย.