ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง กรณี “ลูกค้านั่งแช่ร้านกาแฟ” ตั้งแต่เช้าจรดเย็นซื้อกาแฟเพียงแก้วเดียว 40บาท แถมพ่วงปลั๊กต่อโน้ตบุ๊กและใช้พัดลมของทางร้าน จนทำเอาเจ้าของร้านอดรนทนไม่ไหว ต้องขอให้ลูกค้าออกจากร้าน ท้ายที่สุด กลายมาเป็นประเด็นประดรามาในโซเชียลมีเดีย
กรณีดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากลูกค้าเลือกใช้พื้นที่บริการให้เหมาะสม อย่าง Co - working space (โค - เวิร์กกิงสเปซ) พื้นที่ทำงานร่วมที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดในเมือง
Co - working space ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วมกัน ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก สำหรับในเมืองไทยเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เพราะการทำงานในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องขลุกตัวอยู่ในออฟฟิศเพียงอย่างเดียว ด้วยเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ทำให้ทุกคนทำงานที่ไหนก็ได้
แนวคิดการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันอย่าง Co - Working Space จึงมีกระแสตอบรับที่ดีต่อเนื่อง อีกทั้ง ด้วยปัจจัยการขยายตัวของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมากกว่า 10,000 รายในปัจจุบัน มูลค่าตลาดรวมกว่า 30,000 ล้านบาท
กล่าวสำหรับ Co - working space เป็นพื้นที่ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบหลายขนาด จะมาคนเดียวจะมาเป็นกลุ่ม พื้นที่แห่งนี้สามารถรองรับได้ตามความต้องการ สามารถเลือกเช่าแบบรายวัน/รายเดือน/รายปี ตามข้อตกลงของพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย อัตราค่าบริการไต่ระดับตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไป ตามรูปแบบการใช้งาน สนนราคาตั้งแต่ 200 - 300 บาทต่อคนต่อวัน หากเป็นรูปแบบราคาเริ่มต้นประมาณ 20,000 - 50,000 บาทต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับนาดของพื้นที่และทำเลที่ตั้ง
จุดเด่น Co-working Office เป็นรูปแบบบริการทันสมัย เข้าใจไลฟ์สไตล์พนักงานยุคมิลเลนเนียมที่ต้องการความคล่องตัว มีบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย สามารถเช่าระยะสั้นได้จึงเหมาะกับบริษัทสตาร์ทอัพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าตกแต่ง ค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าบริหารจัดการ ค่าส่วนกลาง ค่าทำความสะอาด ฯลฯ รวมทั้งจุดขายที่สามารถเลือกใช้บริการได้หลายสาขา
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ทั้งกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจขนาดย่อม กลุ่มนักศึกษา ที่ต้องการสถานที่ทำงานที่สะดวกสะบายราคาไม่แพง Co - working space มีความยืดหยุ่นสูงรองรับคนทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน ซึ่งบางแห่งเปิด 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์สำนักงานพร้อมให้บริการครบวงจร รวมทั้ง อาหาร ขนม เครื่องดื่ม
จากการสำรวจของ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ พบว่า ปัจจุบันมี Co-working Office มากถึง 70 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จากผู้ประกอบการประมาณ 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการชาวต่างชาติ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ รีจัส (Regus) นอกจากนี้ มีแบรนด์ต่างชาติที่พร้อมจะขยายพื้นที่ให้บริการ Co-working Office เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เช่น วีเวิร์ค จัสโค และสเปสเซส เป็นต้น
โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มองหาพื้นที่เช่าในอาคารสำนักงานเกรดเอ บนทำเลศักยภาพ เดินทางเข้าถึงสะดวก ตามแนวรถไฟฟ้าบนดิน และรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยขนาดพื้นที่ที่ต้องการ คือประมาณ 2,000 - 4,000 ตร.ม. หรืออาจมากถึง 8,000 ตร.ม. ในบางอาคาร
“อาคารสำนักงานให้เช่าตามแนวรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วมเป็นอย่างมาก โดยมีการขอเช่าพื้นที่ในอาคารเดียวกว่า 7,000 - 8,000 ตร.ม.” นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ กล่าว
กล่าวสำหรับสถิติการขยายตัวของธุรกิจ Co - working space นั้น พบว่าในปี 2561 เติบโตจากปี 2560 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ บนพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วน 2.6 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดสำนักงานให้เช่าแบบดั้งเดิม และปี 2562 แนวโน้มผู้ประกอบการหลายรายขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มอีก 30,000 ตารางเมตร เติบโต 40 เปอร์เซ็นต์
การเติบโต Co-working space ในเมืองไทยช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและเทศ ทำให้มีอัตราการการแข่งขันกันสูง เช่น เรื่องโลเกชันที่ต้องตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะโซน CBD (Central Business District) ในกรุงเทพฯ ย่านศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าทั้ง BTS MRT
อ้างอิงรายงานของวิจัยกรุงศรีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พบว่า อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupanty Rate) ในโซน CBD ของกรุงเทพฯ เฉลี่ยที่ 92.4 เปอร์เซ็นต์ ดีมานด์ในกรุงเทพฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องจนไปถึง 200,000 - 250,000 ตารางเมตรต่อปี ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเติบโตของธุรกิจสายไอทีและอีคอมเมิร์ซ
อนึ่ง วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ว่าตลาดอาคารสำนักงานในประเทศไทยมีความน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจาก 1.ประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางภูมิภาคที่สามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน 2. อัตราค่าเช่าสำนักงานไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง 3.มาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ และ 4. สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบัน Co-Working Space มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นทิศทางของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานแบบไม่มีอะไรมาผูกมัด เช่น เวลาเข้างาน สถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ โดยผู้ให้บริการมีทั้งบริษัทของคนไทยและบริษัทจากต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจให้บริการแบบแชร์พื้นที่ในการทำงานพร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน เช่น Habba, Ma:D ย่านเอกมัย, Too Fast Too Sleep ที่มีหลายสาขาทั้งย่านหัวลำโพง ย่านศาลายา ย่านเกษตรศาสตร์, Launchpad ย่านสาทร เป็นต้น
ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของ Co-Working Space ย้อนกลับไปในปี 2548 แบรด นิวเบิร์ก (Brad Neuberg) ได้ก่อตั้ง Co-working Space แห่งแรกขึ้นมาในเมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า “The Hat Factory” เป็นศูนย์รวมสำหรับลูกค้าประจำพร้อมกับให้นิยามคำศัพท์ใหม่ คำว่า Co-working มีความหมายว่าการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน จากนั้นเกิดกระแสนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ฟรีแลนซ์ก่อนได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ขอบคุณภาพประกอบจาก hubbathailand และ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่