ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่างที่ได้เห็นกันแล้วว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในเฟสแรกนั้นมีเสียงตอบรับอย่างคึกคัก ดูจากการยอมอดตาหลับขับตานอนเพื่อมาลงทะเบียนตอนเที่ยงคืนกว่าจะได้ก็ปาเข้าไปตีหนึ่งตีสองแล้วเช้ามืดยังต้องไปทำงานอีก เพื่อมีเงินพันใส่ “เป๋าตัง” ให้ ชิม ช้อป ใช้ โดยไม่ต้องลงแรงอะไรมาก และยอดคนลงทะเบียนก็ทะลุ 10 ล้านคนตามเป้า ขณะที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการทะลุเพดานเกินคาดหมาย
ดังนั้น หลังจบเฟสแรกไปไม่นาน เฟสสองก็ตามมาติดๆ ซึ่งตอนแรกทางขุนคลัง นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง ก็เพลมๆ ว่าจะไม่ใส่เงินพันให้ใน “เป๋าตัง” กระเป๋าแรกแล้ว จะเน้นให้ประชาชนควักเงินออกมาจับจ่ายแล้วรัฐบาลจะคืนเงินกลับไปให้คล้ายๆ กับการได้ส่วนลด 15-20% จากการชิม ช้อป ดีกว่า
แต่พอเอาเข้าจริง ทางคลังก็ยืนตามแบบเดิมคือ ใส่เงินพันให้ในกระเป๋าแรก ส่วนกระเป๋าที่สองก็มีโปรโมชั่นคืนแคชแบ็คให้อย่างจุใจ แถมเงื่อนไขก็ไม่ต้องถ่างตารอลงทะเบียนตอนเที่ยงคืนแล้ว โดยร่นเวลามาเป็นช่วงเช้าและช่วงเย็นแทน เพียงแต่จำนวนที่เปิดรับรอบนี้ลดน้อยลงเหลือเพียง 3 ล้านรายเท่านั้น
ทั้งยังไม่ต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเดินทางไปญี่ปุ่น กลับมาเคาะ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็พร้อมเปิดไฟเขียวให้เดินหน้า ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ไปได้เลย พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกระบุงที่ออกมาพร้อมๆ กัน
ตามที่ น.ส.ไตรสุรี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ในระยะที่ 2 ซึ่งตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ หรือมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 2 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจำนวน 3 ล้านคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 กำหนดให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน และขยายมาตรการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ผู้ลงทะเบียนทั้ง 3 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก โดยรัฐบาลจากสนับสนุนวงเงินซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ คนละ 1,000 บาท
นอกจากนี้ หากผู้ลงทะเบียนเติมเงินสำหรับการใช้จ่าย หรือที่เรียกว่ากระเป๋าตังค์ที่ 2 จะได้รับเงินชดเชย หรือแคชแบ็ก ในอัตราร้อนละ 15 ตามวงเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท และเพิ่มเติมหากใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000-50,000 บาท จะได้รับแคชแบ็กร้อยละ 20 หรือรวมๆ แล้วได้รับแคชแบ็กประมาณ 8,500 บาท ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาทที่ใช้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการนี้จะนำมาจากงบกลางจำนวน 2,000 ล้านบาท และงบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อีก 1,000 ล้านบาท
รายละเอียดในการลงทะเบียนรอบสองนี้ ตามที่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้ข้อมูลคือ การเปิดรับสิทธิลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เวลา 06.00 น. กำหนดจำนวนผู้รับสิทธิ 5 แสนคน รอบที่ 2 เวลา 18.00 น. กำหนดจำนวนผู้รับสิทธิอีก 5 แสนคน
ขั้นตอนการเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ด้วยแอปของทุกธนาคาร โดยเข้าไปที่แอปเป๋าตังค์ เลือกกดสัญลักษณ์รูป QR Code (เติมเงิน G-Wallet ) ด้านบนมุมซ้าย ต่อมาทำการบันทึกรูปภาพ QR Code ลงในโทรศัพท์ หลังจากนั้นเข้าแอปธนาคารและกดเลือกสแกน QR Code จากรูปภาพที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ และใส่จำนวนเงินที่ต้องการเติมเงิน
นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเงินง่ายๆ ผ่านตู้ ATM ของ 5 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ส่วนวิธีการชำระเงินเพื่อรับสิทธิเงินคืน 15-20% โดยเข้าแอปเป๋าตังค์ กดที่เมนูใช้สิทธิรับเงินคืน 15-20% และเลือกใช้จ่ายร้านค้าถุงเงิน หลังจากนั้น จะได้ QR Code เพื่อให้ร้านค้าใช้แอปถุงเงินสแกน โดยผู้รับสิทธิต้องตรวจสอบยอดเงินที่ต้องชำระ และกดยืนยันการชำระเงิน ในส่วนของการรับเงินคืนนั้นจะได้รับเงินคืนภายในเดือนถัดไปหลังจากการเสร็จสิ้นการใช้สิทธิของมาตรการ
นอกจากนั้น ในส่วนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเฟสที่ 2 ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิจะเหมือนเฟสที่ 1 โดยลงทะเบียนผ่าน WWW.ชิมช้อปใช้.com กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว พร้อมเลือกจังหวัดที่ประสงค์จะเดินทางไปใช้สิทธิ โดยไม่ใช่จังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นภายใน 3 วันธนาคารจะส่ง SMS เพื่อให้โหลดแอปเป๋าตัง เพื่อรับสิทธิ 1,000 บาท ผ่านกระเป๋า G- Wallet1 และผู้ได้รับสิทธิสามารถเติมเงินในกระเป๋า G- Wallet 2 ใช้จ่ายในร้านที่ร่วมโครงการชิมช้อปใช้ ได้ทุกจังหวัด ที่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน เพื่อรับสิทธิเงินคืน
มาตรการชิม ช้อป ใช้ จะว่าคึกคักก็ใช่ แต่เอาเข้าจริงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวาดหวังไว้ โดยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2562 มียอดการใช้จ่ายผ่าน G- Wallet ทั้งสิ้นจำนวน 8,892.40 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านค้าประเภทชิม 14.5% ร้านค้าประเภทช้อป 55.6% ร้านค้าประเภทใช้ 1.4% และร้านค้าประเภททั่วไปอีก 28.5% ซึ่งจากยอดการใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิ 1,000 บาท จากกระเป๋าช่องที่ 1 แต่กระเป๋าช่องที่ 2 ยังคงมีไม่มากนัก โดยสรุปยอดการใช้จ่าย ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2562 ในส่วนกระเป๋าที่สองนั้น มีเพียง 139.6 ล้านบาท เท่านั้น เรียกว่าพลาดเป้าอย่างแรง
โจทย์ของชิมช้อปใช้เฟสสองคือทำอย่างไรให้ประชาชนยอมดึงเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่าย และการใช้จ่ายต้องกระจายในพื้นที่ที่ควรมีการช่วยเหลือหรือกระตุ้น เช่น พื้นที่ในจังหวัดที่เล็กกว่าเมืองรอง โจทย์ข้อนี้ ทำให้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และทีมงานกระทรวงคลัง คิดค้นหาแนวทางดูข้อดีข้อเสียต่างๆ กระทั่งนำมาสู่ข้อสรุปตามมาตรการที่ผ่านการเห็นชอบของ ครม.ข้างต้น คือ อัดโปรฯแคชแบ็คให้มากขึ้น
ที่น่าสนใจคือในเฟส 2 ได้กำหนดให้เครือของโรงแรมต่างๆ เช่น โรงแรมในเครือดุสิตธานี โรงแรมในเครือเอราวัณ โรงแรมในเครือเซนทรัล และโรงแรมในเครืออนันตรา สามารถเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 2 เพื่อให้บริการด้านที่พักในจุดท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ นายลวรณ คาดการณ์ว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งรัฐบาลหวังใช้กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศนั้นคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากโครงการนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 6 หมื่นล้าน เป็นการอุดหนุนจากรัฐ 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายจากประชาชนในกระเป๋า 2 เพื่อขอรับเงินแคชแบ็คคืน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ในส่วนนี้ตามโครงการเฟสแรก ประมาณ 3 ล้านราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 13,500 บาท หวังส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 0.2-0.3% จากเป้าหมาย 3%
แต่เอาเข้าจริงก็พลาดเป้าในกระเป๋าตังที่สองอย่างว่า และ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก็ออกมาบอกว่า ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ สศค. จะประกาศปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2562 ลง เนื่องจากตัวเลขการส่งออกล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศยังคงติดลบที่ -2.1% ซึ่งติดลบกว่าที่ สศค. เคยประมาณการไว้
สำหรับประมาณการของ สศค. เดิม คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-3.2% ชะลอตัวกว่าปี 2561 ที่ขยายตัวได้ 4.1% โดยคาดการณ์ส่งออกติดลบเพียง 0.9% โดยมีช่วงคาดการณ์ไว้ที่ลบ 1.1- ลบ 0.7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากดูจากจำนวนร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกแล้วต้องบอกว่าทะลุเป้าเกินคาดหมายอย่างมาก โดยกรมบัญชีกลาง เปิดเผยตัวเลขหลังจากปิดรับลงทะเบียนร้านค้าเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 พบว่า มีจำนวนมากถึง 97,655 ร้านค้า แบ่งเป็นร้านค้าที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 14,587 ร้านค้า และร้านค้าที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 83,068 ร้านค้า ซึ่งเป็นร้านค้าใหม่ที่ Walk in เข้ามาลงทะเบียน โดยไม่นับรวมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีแอปถุงเงินเดิมอยู่แล้วจำนวนมากกกว่า 50,000 ร้านค้า
การแห่เข้ามาลงทะเบียนเป็นร้านค้าในโครงการฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบนี้ จะทำให้การใช้จ่ายกระจายออกไปยังพื้นที่รอบนอกทั่วประเทศ ลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการใช้จ่ายกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ และโมเดิร์นเทรดหรือผู้ค้ารายใหญ่ได้ประโยชน์หลักจากมาตรการนี้ ซึ่งเคยมีเสียงวิจารณ์อื้ออึงอย่างมากในช่วงที่เปิดตัว ชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายของปีนี้ นอกจาก ชิม ช้อป ใช้ แล้ว ยังมีมาตรการลดภาระให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมจดทะบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีผลถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ถึง 24 ธันวาคม 2563 มีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,00 ล้านบาท และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมสัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562
เข้าร่วมมหกรรม ชิม ช้อป ใช้ ให้คึกคักส่งท้ายปีกันไป เงินจะได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วหมุนกลับมาเข้าเป๋าตังใหม่อีกครั้ง