xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “เด็กคลั่งเกม” ถึงเวลาคุม “นักแคสสายดาร์ก” ผู้ใหญ่ (ตี๋แว่น) ก็คลั่งไม่แพ้กัน!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มาลีสวยมาก นักแคสเกมสายดาร์กชื่อดัง โดยปัจจุบันชาแนลยูทูป มาลีสวยมาก มีผู้ติดตามกว่า 9 แสนคน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้อนแรงสุดในโซเชียลฯ สำหรับ 2 ประเด็นหัวร้อน ตั้งแต่ กรณี “เด็กชายหัวร้อน” เล่นเกมสติหลุดคลุมคลั่งขู่ทำร้ายเพื่อนเล่นเกมและแม่ โยงถึงนักแคสเกมสายดาร์กขวัญใจเด็กน้อย “มาลีสวยมาก” ที่เป็นชนวนสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และกรณี “หนุ่มแว่นหัวร้อน” ผู้ขับขี่รถเก๋งเฉี่ยวชนกับรถกระบะ สติแตกกร่างออกอาการ “รวยจนขาดสติ” ด่ากราดด้วยบุคลิกของ “พวกชังชาติ” แถมยังเลยเถิดไปถึงการจาบจ้วงสถาบัน

เริ่มที่กรณีสังคมออนไลน์แชร์คลิปวิดิโอ “เด็กชายหัวร้อน” สติแตกอาละวาดควบคุมตัวเองไม่ได้ หลังโดนเพื่อนในเกมรุมแกล้ง กระทั่ง “แม่ กับ อาม่า” ห้ามปรามให้หยุดเล่นแต่ก็ไม่ฟัง สุดท้ายเด็กชายหยิบมีดอีโต้มาขู่เพื่อนในเกมและขู่ทำร้ายร่างกายผู้เป็นแม่

ทำให้สังคมไทยต้องหันมาตระหนักถึงพฤติกรรม “เด็กติดเกม” ภัยเงียบซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง เพราะมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า ปัจจุบันเด็กไทยกว่า 2 ล้านคนมีความเสี่ยงติดเกม และจำนวนกว่า 10,000 คนมีภาวะติดเกม

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุในปี 2560 ว่า “เกมเป็นต้นตอปัญหาจิตเวชเด็กรุ่นใหม่” ส่งผลกระทบให้เด็กสมาธิสั้น อีกทั้งบางคนใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายพ่อแม่ พยายามฆ่าเพื่อน ทำลายข้าวของ ฯลฯ

สำหรับกรณีสังคมคลิป “เด็กชายวัยมัธยมต้น” ออกอาการหัวร้อนแสดงพฤติกรรมรุนแรงหลังถูกกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์ ซึ่งเพื่อนในเกมอัดคลิปจากเว็บแคมมาเผยแพร่นั้น เป็นประเด็นกระตุ้นให้สังคมไทยหันมาใส่ใจประเด็นปัญหาติดเกมในเด็ก และพฤติกรรมของ “นักแคสเกม” หรือ “สตรีมเมอร์” แล้วแต่จะเรียก ลักษณะคล้ายกับการรีวิวเกม

โดยเฉพาะนักแคสเกมที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวโดยตรง ซึ่งใช้นามแฝงว่า “มาลีสวยมาก” หรือ “นายอิทธิเดช รามมินิจ” อายุ 22 ปี นักแคสเกมชื่อดังขวัญใจเด็กน้อย เจ้าของยูทูบชาแนล มาลี' สวยมาก ที่มีผู้ติดตามกว่า 9 แสนคน

ทั้งนี้ เด็กชายคนดังกล่าวเอ่ยชื่อของ “มาลีสวยมาก” ในคลิป จนทำให้คนเข้าใจว่าเป็นตัวการทำให้เด็กคลุ้มคลั่ง ตามข้อมูลเปิดเผยว่า เด็กชายคนดังกล่าวเป็น “ลูกแคลน” (เซิฟเวอร์ในเกมที่สามารถแอดหรือเพิ่มคนเข้าได้) โดยมี “มาลีสวยมาก” นักแคสเกมเป็นผู้ดูแล เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเด็กชายโดนยั่วยุกลั่นแกล้งในเกม WARZ พ่ายแพ้ติดต่อกันหลายครั้ง ทั้งนี้ มีข้อมูลเปิดเผยด้วยว่าเด็กชายมีอาการป่วยทางจิตเวช

พฤติกรรมของ “นักแคสเกม” ยั่วยุสร้างคอนเทนต์รุนแรง ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นิยมพูดคำหยาบคาย ทะลึ่งลามก ด่าทอ เหยียด สำหรับ “มาลีสวยมาก” มีลีลาการพากย์เกมน้ำเสียงดุดัน โวยวาย แน่นอนว่ามีความหยาบดิบเถื่อน มีผู้ติดตามหลักแสนเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กน้อย

ดลประภพ เทียนดำ หรือ ซัน คนในวงการเกมรู้จักกันดีกว่า SunWatlz นักพากย์กีฬาอีสปอร์ต (E-Sport) ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “Dolpraphob Tiendam” ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนหนึ่งว่า

“คนแบบมาลีก็เหมือนระเบิดเวลาอะ สุดท้ายเด็กแยกแยะไม่ได้กันทุกคนหรอกว่าอันไหนคือมันควรทำ และไม่ควรทำ ต่อให้พ่อแม่ดูแลยังไงก็มีเผลอ มันก็แค่ระเบิดที่รอวันปะทุที่มาลีเป็นคนชงให้เฉยๆ แต่คนระเบิดก็คือเด็ก เด็กก็คือเด็กอะ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่คิดได้ น่างงยิ่งกว่าคือมีคนเข้าไปสนับสนุนเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ สปอนฯ เข้าบ้าง ซื้อคอนเทนต์ช่องเขาบ้าง ให้มันดูเหมือนว่าเป็นอะไรที่ปกติไปซะอย่างนั้น จะเป็นกันอีกนานไหมกับบ้านเราที่ชอบสนับสนุนสื่ออะไรผิดๆ สุดท้ายดาบมันก็วนย้อนกลับมาหาคนในวงการกันเอง

“...อีกอย่าง ต่อให้เรื่องนี้เกิดหรือไม่เกิด คิดแบบนี้แต่แรกนานแล้ว Follower เป็นเด็กเยอะขนาดนี้ จะรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคมยังไงถ้ามันเกิดขึ้นมา เขาจะมีความรับผิดชอบต่อคนที่ดูเค้าอย่างไร มุมมองผมไปดูอะ ไอฮามันก็ฮาอยู่นะบางอัน แต่คิดไปคิดมา เด็กมาฟังแล้วคิดอะไรบ้างวะ ยิ่งแล้วพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาดูแลลูกหรือเลี่้ยงดูได้ไม่ดีพอมันจะเละขนาดไหน วงการเกมนี่มันเทามานานแล้ว แล้วเราจะให้มันเฉยแล้วกลายเป็นดำกันเข้าไปอีกหรือไง”

แน่นอนว่า เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะบางคนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร นักแคสเกม ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากและส่วนมากเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน การสร้างคอนเทนต์รุนแรง ยั่วยุ ปลุกปั่น ยิ่งเป็นการชี้นำให้เด็กก้าวเดินในทางที่ผิด เป็นเรื่องที่น่าคิดว่ากฎหมายควรมีมาตรการและบทลงโทษ “นักแคสเกม” หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์เนื้อรุนแรงไม่เหมาะหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ภาพจำเด็กติดเกม” รวมทั้ง ผลเสียต่างๆ นานา ที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมานั้น สั่นสะทือนวงการ “กีฬาอีสปอร์ต (E-Sport)” หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองไทยเป็นอย่างมาก แม้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับเป็นเกมกีฬา แต่สุดท้ายยังถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมที่จะนับรวมในการแข่งขันกีฬาจริงหรือไม่ สร้างประโยชน์ให้แก่เด็กและเยาวชนมากแค่ไหน

มีข้อมูลระบุว่าเด็กที่เล่นเกมในจำนวน 1 ล้านคน จะกลายเป็นเด็กติดเกมหลายพันคน “มีเพียง 1 คน เท่านั้น ที่จะกลายเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต” ที่สำคัญการผลักดันให้เด็กเข้าสู่การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต เต็มตัวจะส่งผลร้ายแก่เด็กมากกว่าหรือไม่?

ขณะที่องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder เป็นอาการทางจิตที่รุนแรงและต้องบำบัดรักษา จัดอยู่ในประเภทเดียวกับการติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมเสพติดต่างๆ รวมถึง การติดการพนัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2565 เป็นต้นไป

โดยระบุไว้ใน “การจัดหมวดหมู่ของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ” หรือ ICD-11 ว่า อาการติดเกม หมายถึง การเล่นเกมวนเวียนซ้ำๆ ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรมนั้นๆ และให้ความสำคัญต่อการเล่นเกมเป็นอันดับแรกเหนือความสนใจอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลเสียต่างๆ ตามมา

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยข้อมูลเกมที่เล่นแล้วทำให้ติดและมีผลกระทบมี 3 ชนิดคือ เกมยิงต่อสู้ (Shooting game), เกมโมบา (MOBA) ชนิดที่เป็นสงคราม การต่อสู้ออนไลน์ และประเภทสปอร์ต (sport) แบ่งตามช่วงวัย กลุ่มเด็กอายุ 7 - 12 ปี จะนิยมเล่นเกมยิงต่อสู้ กลุ่มอายุ 13 - 17 ปี นิยมเล่นเกมโมบา เช่น ROV, LOL เป็นต้น

โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นจะใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1 - 4 เกมสลับกันไป ซึ่งเกินระดับความปลอดภัยในการเล่นเกม 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ พฤติกรรมเด็กติดเกมรุนแรง เล่นติดต่อกันนานหลายชั่วโมง เกิดผลกระทบตามมาพบว่า อับดับหนึ่ง เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายพ่อแม่ ทำลายข้าวของ อันดับที่สอง เด็กไม่ไปโรงเรียน อันดับที่สาม พยายามฆ่าตัวตาย ฆ่าเพื่อน อันดับที่สี่ หนีออกจากบ้านและออกจากการศึกษาภาคบังคับ

กล่าวคือ ส่วนมากมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทางวาจา ด้วยการด่าทอด้วยภาษาหยาบคาย แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทางกาย ทุบตีคนอื่น อาละวาดทำลายของ คุกคามคนใกล้ชิด รังแกกันทางสื่อสังคมออนไลน์ ฆ่าตัวตาย รวมทั้ง พฤติกรรมการกระทำความผิด ลักขโมยเงิน ข่มขู่เพื่อให้ได้เงินและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กติดเกมนั้น เกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัว เช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกม เป็นต้น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งง่ายกว่าการแก้ไขภายหลัง

“เรื่องติดเกมไม่ใช่เป็นปัญหาของแค่ตัวเด็ก แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัวที่ต้องร่วมกันจัดการ หากไม่สามารถจัดการได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง”

ในส่วนการดูแลรักษาอาการติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่าต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ตั้งแต่ การใช้ยา การบำบัดจิตใจ ปรับพฤติกรรม บำบัดครอบครัวด้วยและติดตามเยี่ยมบ้าน โดยจะติดตามผลหลังบำบัดรักษา 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ค่ารักษาโรคติดเกมขั้นต่ำประมาณ 50,000 บาท จนถึงกว่า 250,000 บาทต่อคนต่อปี ใช้เวลาการรักษานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ตามระดับความรุนแรงและระยะเวลาการป่วย

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกมว่า เด็กติดเกม มักจะมีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชมาก่อน อาทิ สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรคดื้อต่อต้าน และโรคภาวะบกพร่องทางการเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองพามาพบแพทย์ เพราะเริ่มที่จะหลุดไปกับโลกความเป็นจริง แสดงอาการก้าวร้าว และไม่ไปโรงเรียน เป็นต้น

สิ่งสำคัญในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ การใช้กฎระเบียบที่ดีควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

“การปกครองเด็กก็เหมือนการปกครองในสังคมที่มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ต้องทำความเข้าใจด้วย เพราะเด็กก็คือเด็ก เราจะต่อว่ารุนแรง บางครั้งจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โตไป เราจึงต้องพูดคุยด้วยเหตุและผล ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ความสัมพันธ์มีปัญหา เพราะหากเกิดทะเลาะกันจนความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงก็จะต่อติดได้ยาก จะกลายเป็นเรื่องประชดประชันกันไป” พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ กล่าว
หนุ่มแว่นหัวร้อน-รชฏ หวังกิจเจริญสุข ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ขณะด่าทอคู่กรณีที่ขับรถชน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเหตุการณ์บานปลายถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวกัน เพื่อรุมด่าที่สถานีตำรวจ
ประเด็นร้อนๆ เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางด้านการควบคุมอารมณ์ไม่ได้เกิดเฉพาะเด็ก ลำดับเวลาไล่เลี่ยกันเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ กรณีโลกออนไลน์แชร์คลิป “หนุ่มแว่นหัวร้อน” ดีกรีนักเรียนนอก ขับรถยนต์ฮอนด้า CIVIC คันละล้านกว่าๆ เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถกระบะ จนคลุ้มคลั่งด่ากราด ถามคู่กรณีมีปัญญาซื้อรถราคาเป็นล้านไหม มีสลากออมสินเป็นเงินล้านมีไหม อีกทั้ง เหมารวมด่าคนไทยทั้งประเทศ ฯลฯ แถมโดนขุดวีรกรรมเก่าในลักษณะเดียวกันออกมาโวยวายคู่กรณีเสียงดัง

สุดท้าย โดนตำรวจรวบตัวแจ้งกล่าวหาหมิ่นประมาทซึ่งหน้า มิหนำซ้ำ โดนบริษัทไล่ออกจากงาน เดือนร้อนครอบครัวถ้วนหน้าตกเป็นจำเลยสังคมโดนรุมประณาม ที่สำคัญคือ เรื่องเลยเถิดไปถึงขั้นชาวบ้านกว่า 300 คน บุกโรงพักพุทธมณฑล รวมตัวด่าหนุ่มแว่นหัวนอกหมิ่นใจคนไทย จนตำรวจต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้บานปลายกันเลยทีเดียวขณะที่มารดาและแฟนสาวของหนุ่มแว่น ก็ถูกกลุ่มประชาชนตะโกนด้วยอารมณ์โกรธว่า เลี้ยงลูกมาด้วยอะไร แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้มีการตอบโต้และได้เดินออกจากพื้นที่ด้วยความวิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นพ่อและแม่ของหนุ่มแว่นหัวร้อน เปิดเผยว่าลูกชายมีอาการทางจิตกำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัว โดยทางมารดาได้ยกมือไหว้และขอโทษคนไทย บอกว่าลูกชายไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ 6 ขวบ กลับมาไม่นานและอาจจะยังไม่เข้าใจและเรียนรู้วัฒนธรรมธรรมไทยทำให้พลาดพลั้งการใช้ภาษาและคำพูด

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคือช่วงเช้าของวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางบ้านได้เตรียมของเพื่อจะไปวัดจนดึกทำให้ลูกชายไม่ได้กินยาแก้โรคซึมเศร้าที่เป็นประเภทควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อมีความเครียด โดยเมื่อเกิดเหตุด้วยความรีบและไม่เข้าใจการขับรถของคนไทยจึงเกิดอาการโมโหขึ้นมาและควบคุมการแสดงอารมณ์ไม่ได้

ขณะที่นายรชฎ หรือหนุ่มแว่น ได้ยกมือไหว้ขอโทษสังคมด้วยสีหน้าสลดและมีท่าทีดูเหนื่อยล้า ได้บอกว่าตนเองป่วยจริง และเสียใจขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนเองไม่ได้กินยาระงับอาการไว้จริงๆ

อย่างไรก็ดี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากจะให้ตอบถึงเคสนี้จริงๆ ก็ต้องบอกว่า จากลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่อาการหลักของโรคซึมเศร้า แต่อาจเป็นผลจากภาวะอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อาการของโรค

“สิ่งสำคัญขออย่าไปเจาะลึกชีวิตเขา เพราะหากเป็นเราและเกิดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำอะไรลงไป สุดท้ายโดนตำหนิ ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ครอบครัวก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็จะเครียดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาหรือเจาะลึกถึงตัวโรคว่า เป็นโรคหรือไม่ หรือเพราะอะไร เพราะจริงๆแล้วสิ่งสำคัญเราต้องนำมาเป็นบทเรียนว่า ความรุนแรงบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งเรามีความเครียดไม่สามารถจัดการความเครียด ควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งเราสามารถฝึกจัดการความเครียด อารมณ์ด้วยการฝึกหายใจ ซึ่งมีอีกหลายวิธี หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตแนะนำ

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางบนท้องถนนเป็นเรื่องเครียดสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากต้องใช้เวลานานอยู่บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัด เกิดมลภาวะ และมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยเคารพกฎจราจรและขับขี่อันตราย ความเครียดต่างๆ เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งบนท้องถนนได้บ่อยครั้ง ซึ่งการบันดาลโทสะบนท้องถนน (road rage) มักพบได้ตั้งแต่การแสดงภาษากาย การแสดงความรุนแรงทางวาจา การทะเลาะวิวาททางกายภาพ หรือแม้แต่การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน โดยส่วนมากมักจะเริ่มจากความรุนแรงเล็กๆ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การทะเลาะกับคนแปลกหน้าบนท้องถนนเล็กน้อย อาจนำไปสู่ปัญหาที่เป็นคดีความทางอาญาได้หากไม่มีวิธีการป้องกันที่ดี

“ในหลายๆ เหตุการณ์ความรุนแรงบนท้องถนน ที่มีการอ้างถึงอาการป่วยทางสุขภาพจิต สังคมไทยควรทำความเข้าใจว่า แม้การมีปัญหาด้านสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และบางกลุ่มโรค เช่น โรคทางอารมณ์ โรควิตกกังวล จะทำให้มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เศร้าเสียใจ หรือหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ จนควบคุมอารมณ์ได้ยากก็ตาม แต่พฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ล้วนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเลือกวิธีตอบสนองอารมณ์ของตัวเองภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ควรถูกยกมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคม เพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ โดยขอฝากว่า สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะให้อภัย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

2 ประเด็นหัวร้อน นับเป็นบทเรียนสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น