“กีฬาเพาะกายมันเป็นความท้าทายกับการสู้กับตัวเอง” เจาะเส้นทางชีวิตอดีตนางฟ้าบอบบาง กลายมาเป็นสาวแกร่งกล้ามแน่น คว้าแชมป์เพาะกายระดับเอเชีย ถึงแม้เธอจะต้องฟั่นฝ่าการป่วยโรคซึมเศร้าถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย และคำวิจารณ์ที่ผู้หญิงไม่เหมาะกับกล้าม ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะทำให้รู้จักเธอ และกีฬาเพาะกายมากยิ่งขึ้น
สลัด “ซึมเศร้า” เอาชนะด้วย “ออกกำลังกาย”
“ตอนนั้นโฟกัสตัวเองค่ะ เราขึ้นไปบนเวทีถ้ามองคนอื่น ถ้ามองคนดู จูนมองว่าเป็นการทำลายสมาธิตัวเอง
เราไม่จำเป็นต้องมองคนอื่น เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเรามั่นใจ เพราะเคยไม่มั่นใจขึ้นเวทีแล้วมันเห็นได้ชัดว่าเราประหม่า พอประหม่ามันก็ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ ก็เลยรู้สึกว่าขึ้นไปต้องทำให้ดีที่สุดก็พอ”
หญิงร่างเล็ก สวมเสื้อสีดำ พร้อมมัดเนื้อแน่นๆ บวกกับรอยยิ้มสวยๆ ในฐานะ “นักเพาะกายหญิง” ทีมชาติไทย กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าทีมข่าว MGR Live อย่าง “จูน-ชฎาทิพย์ จันทรัตน์” วัย 28 ปี เธอคือเจ้าของเหรียญทอง โมเดลฟิสิกส์ ความสูงไม่เกิน 155 เซนติเมตร ในการแข่งขันเพาะกาย และฟิตเนสชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 53 ที่เมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย
เธอเล่าวินาทีที่ได้ขึ้นไปบนเวทีประกวดและคว้ารางวัลเหรียญทองให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ แต่ใครจะคิดล่ะว่าผู้หญิงรายนี้ อดีตไม่ชอบออกกำลังกายเสียเลย และก่อนชีวิตของเธอจะประสบความสำเร็จในระดับนี้ได้ ต้องผ่านความล้มเหลวในชีวิตมาอย่างหนักเหมือนกัน
“จูนเป็นโรคซึมเศร้า ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เราต้องออกกำลังกาย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะรู้สึกแย่กับตัวเองมากว่าฉันไม่รู้ว่าฉันจะทำยังไง เพราะว่ามันเป็นความเครียดที่ถมเราทุกๆ วัน จนเราหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ มันก็เลยทำให้ฟังก์ชันทุกอย่าง กับงาน และชีวิตส่วนตัว มันค่อนข้างที่จะแย่
ตอนนั้นเป็นอารมณ์คิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่คิดไปเรื่อยๆว่า ตัวเองจะทำวิธีไหน ที่มันจะไม่กระทบคนอื่นที่สุด คือคิดค่อนข้างเป็นระบบ ว่าควรจะเป็นยังไง ให้กระทบกับคนอื่นน้อยที่สุด แล้วควรจะทำยังไงให้เป็นประโยชน์กับทุกคนที่สุด ถ้าเราไม่อยู่แล้ว”
ขณะที่ผู้สัมภาษณ์ถามจูนถึงจุดพลิกผัน ที่ทำให้ต้องหันมาออกกำลังกาย และมาสนใจกีฬาเพาะกายนั้น เธอก็ได้ให้คำตอบว่าจริงๆแล้วไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะการที่เธอหันมาออกกำลังกายได้ ส่วนหนึ่งมาจากการป่วย “โรคซึมเศร้า”
“ตอนนั้นฝืนออกกำลังกายทุกวัน เพราะว่าไม่สามารถอยู่คนเดียวได้เลย ตอนนั้นก็ต้องหาหมอควบคู่กันไป ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะต้องฝืน ก็หาหมอกินยาปกติ”
นอกจากนั้นสิ่งที่ทำให้ต้องแปลกใจก็คือ เส้นทางของเธอกว่าจะมีวันนี้ได้ เธอเคยเป็นแอร์โฮสเตส ให้กับสายการบินแห่งหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนงานมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน
“จูนเคยเป็นแอร์โฮสเตสมาก่อน แล้วได้ออกมาทำงานบริษัทเอกชน เนื่องจากความเครียดที่เกิด มันมีเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวหลายอย่าง เลยรู้สึกว่าอยากหาอะไรทำ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น”
แน่นอนว่าอาชีพ “แอร์โฮสเตส” ถือเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีความสมดุล ทั้งกินนอนไม่เป็นเวลา เดินทางบ่อย และมักเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยซึ่งสำหรับจูนมองถึงเรื่องนี้ว่าถ้าทำงานแล้ว มีความสุข แค่นั้นก็เพียงพอ
“ตอนที่เป็นแอร์ฯ รู้สึกเพลียง่าย กินนอนไม่เป็นเวลา จะรู้สึกว่าเราไม่ค่อยแข็งแรง และเราเจออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ก็รู้สึกว่าป่วยเร็ว
ตอนนั้นบริษัทมีปัญหา เราเลยรู้สึกว่าเราต้องออกมา แต่ตอนแรกยังอยากจะกลับไปเป็นแอร์ฯต่อ ก็พยายามสมัครหลายๆที่ จนคิดว่าอายุเราเยอะขึ้นทุกวัน หาอะไรทำที่เป็นออฟฟิศอย่างคนอื่นไหม เราจะได้มีประสบการณ์ทำได้ยาวๆจนแก่ตัว ก็เลยหันกลับมาหางานปกติที่เป็น Routine Job”
และด้วยตำแหน่งหน้าที่ทำให้เธอเครียด จึงตัดสินใจหันมาออกกำลังกาย ก่อนเพื่อนๆ จะชักชวนเธอให้ไปออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่ง ซึ่งเธอดูจะชื่นชอบกับกีฬาการสร้างกล้ามเนื้อนี้ จนมีคนมาชวนให้ลองเข้าไปแข่งขันในที่สุด
สุดภูมิใจ!! คว้าแชมป์เอเชีย
“มันเริ่มมาจากการออกกำลังกายช่วงแรกๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่ากล้ามเนื้อเรามันขึ้นเยอะ แล้วคนใกล้ตัวก็บอกว่าลองประกวดไหม เพราะจูนน่าจะมีศักยภาพในการไปได้ ตอนแรกเราก็ไม่เอาหรอก ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องวินัยเราก็ไม่ใช่เป็นคนที่เป๊ะอะไรมาตั้งแต่แรก
แต่สุดท้ายก็คิดว่าลองดูก็ได้ เพราะว่ากล้ามมันขึ้นเยอะจนกระทั่งเราเองก็แปลกใจ ว่าจริงๆแล้วตัวเรามันก็ไปได้จริงๆ ก็เลยลองดู”
สำหรับแรงบันดาลใจในการเพาะกาย เธอเปิดใจให้ผู้สัมภาษณ์อย่างอารมณ์ดีว่า ครั้งแรกที่ตัดสินใจลงแข่งเพียงเพราะอยากรู้ลิมิตของตัวเอง และอยากรู้ว่าจริงๆแล้วเธอชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งหลังจากการแข่งครั้งนั้น ก็นำมาซึ่งการแข่งขันครั้งต่อไป จนล่าสุดเธอไปคว้ารางวัลไกลถึงระดับเอเชีย
“กีฬาเพาะกายมันเป็นความท้าทายกับการสู้กับตัวเอง คือมันไม่ใช่กีฬาที่สู้กับคนอื่น ถ้าสุดท้ายขึ้นมาบนเวที มันจะชนะหรือไม่ชนะ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทำมาที่ผ่านมามากกว่าสิ่งที่ทำอยู่บนเวที
ถ้าให้พูดลึก เพาะกายเป็นกีฬาที่ค่อนข้างเอกซ์ตรีม มันเป็นกีฬาที่ค่อนข้างทดสอบขีดจำกัดตัวเองทั้งหมด มันต้องฝึกให้หนัก มันต้องกินให้หนัก ทุกอย่างมันเป็นความเครียด วันแข่งมันเหนื่อย มันต้องทำนู่นทำนี่ ให้เราลีน ให้เห็นกล้ามเนื้อมากที่สุด มันถือว่าค่อนข้างยาก
เวทีแรกไม่ได้รู้สึกเฟลนะ รู้อยู่แล้วว่าจูนเล่นเวทมา 4 เดือน มันก็คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ถ้าได้รางวัลก็ถือว่าเป็นเรื่องฟลุ๊ก แต่ถ้าไม่ได้รางวัลก็ถือว่าเราก็มาชิลชิล เพราะว่าไม่ได้คาดหวังใดๆในตอนนั้น
พูดตามตรงคืออยากไปลองให้รู้ว่า ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบจะได้ทำต่อ ถ้าไม่ชอบก็คือพอ จบ พอลองประกวดคือชอบ มันชอบความรู้สึกที่อยู่บนเวที เราได้แสดงให้กรรมการเห็นในสิ่งที่เราพยายามกับมันมา
โดยปกติแล้ว เมื่อชนะกรรมการเขาจะไม่ได้ให้เหตุผล คือกรรมการ จะเก่งมากในการจำคน คือเขาบอกว่าเขาจำจูนได้ตั้งแต่เวทีแรกที่จูนขึ้น แม้แต่วันที่จูนไม่ได้เข้ารอบ เขาก็จำได้
เราก็ไปขอถามเขาว่าเราต้องพัฒนาอะไรตรงไหน ก็กลับไปแก้ไขให้เขาเห็น เขาก็จะจำเราได้ว่าในสิ่งที่เขาพูด เราเอากลับมาทำ และทำให้เขาเห็นว่าเราปรับได้¨
แน่นอนว่าความฝันสูงสุดของนักกีฬาเพาะกายก็คือการเป็นแชมป์โลก ซึ่งในเดือนหน้าเธอจะมุ่งทำตามฝันที่ประเทศเกาหลีให้สำเร็จ
“ถ้าถามความประทับใจที่สุด ก็เป็นเวทีเซาท์อีสต์เอเชีย ก่อนหน้านี้เพราะเป็นเวทีแรกในฐานะทีมชาติ มันค่อนข้างมีความกดดันว่าเราจะทำได้ดีมั้ย ถ้าเราเกิดทำไม่ได้ มันก็ถือว่าเราไม่เหมาะสมในการที่จะได้มา จูนแค่รู้สึกว่าอยากทำให้ทุกคนเห็นว่าเราเหมาะสมที่จะได้รับเลือกมาตั้งแต่แรก เราก็เลยอยากทำให้มันดี
ครั้งต่อไปที่จะไปแข่งขัน เป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เกาหลีใต้ในเดือนหน้า แต่ปีหน้าจะเป็นยังไงตอนนี้ยังไม่ได้วางแพลนไว้ ก็แล้วแต่ผู้ใหญ่เห็นตามเหมาะสม เราก็โอเคในสิ่งที่ทุกคนเขาหยิบยื่นมาให้ มองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีมากกว่า”
เส้นทางการแข่งขันที่เธอแข่ง จะเน้นการสร้างมวลกล้ามเนื้อแบบพอสวยงาม ซึ่งต่างจากการเพาะกายแบบผู้ชาย ที่เน้นการสร้างมวลกล้ามเนื้อที่ชัดเจนและใหญ่กว่า
“มีความแตกต่างอยู่แล้ว ผู้หญิงแต่ละรุ่นต้องการความสวยงาม ความสมดุล แต่ไม่ได้ดูจนน่ากลัวเกินไป เห็นกล้ามชัดที่มันแห้งขนาดนั้น
แต่ผู้ชายจะเน้นที่ความเต็มของกล้ามเนื้อ ค่อนข้างจะแตกต่าง ถ้าเป็นรุ่นเหนือกว่านั้นมันจะมีข้อแตกต่างออกไป ก็จะต้องการความใหญ่ ความยากมากขึ้น
ของผู้ชายถ้ามองแล้วยากกว่า เพราะว่ามันต้องเป็นความเต็มของกล้ามเนื้อ มันต้องครบ แต่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องครบ แต่จะเน้นความสวยงาม ให้พอมีกล้ามเนื้อนิดหน่อย และต้องลีนระดับนึง ไม่ได้แห้งจัดขนาดที่เห็นทุกกระเบียดนิ้ว”
นอกจากนี้การที่ลงแข่งประกวดสำหรับนักเพาะกายนั้น ไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องของอายุ แต่สิ่งที่นักเพาะกายต้องมี และเธอมักจะย้ำให้ฟังเสมอคือเรื่องวินัย
“สิ่งที่นักเพาะกายต้องมี คือวินัย เพราะเป็นกีฬาที่ใช้วินัย มันต้องอดทนกับความอยาก ความต้องการของตัวเองว่าอยากกิน อยากเที่ยว อยากนอน แต่เราก็ต้องทำตามตารางในสิ่งที่ต้องแพลนไว้
ทุกคนทำได้ สามารถจะมีวินัยกับตัวเองได้ ทุกคนทำได้หมด แต่อยู่ที่ว่ายอมที่จะมีวินัยได้ขนาดนั้นมั้ย เพราะเป็นกีฬาที่ใช้เวลาในการเสริมสร้าง ใช้เวลาการไดเอต ใช้เวลาการเตรียมตัวค่อนข้างนาน มันไม่ใช่แค่ทำวัน 2 วันแล้วมันจะได้ มันต้องเป็นเดือน
ตอนจูนเริ่มมันแค่ 2 เดือน มันไม่ได้อะไร มันถูกต้องแล้ว เพราะคนอื่นพยายามมากกว่าเราตั้งเยอะ แต่วินัยการทำทุกอย่างมันส่งผลต่อกีฬาเพาะกายอยู่แล้ว
ปัจจุบันทีมที่เคยไปด้วยกัน ถ้าเป็นผู้ชายอายุ 50-60 ปี เขาก็ยังสามารถเล่นได้ สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับตัวเอง ว่ามันทำได้มั้ยมากกว่า
อายุน้อยสุด เลข 10 ต้นๆก็มีไปแข่ง มันไม่ได้จำกัด มันก็จะเป็นรุ่นอีกรูปแบบหนึ่งคือรุ่นฟิตเนส ที่มีความคล้ายๆกับนักยิมนาสติกทั่วไป”
ไม่สนคำดูหมิ่น ทางเลือกใหม่ผู้หญิงต้องมี “กล้าม”
“มันคือการเจอสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า คือแต่ละคนมีทางเลือกไม่เหมือนกัน มันชอบไม่เหมือนกัน จูนยังคงเห็นร่างกายของจูนสวยงาม เหมือนผู้หญิงทั่วไป
แต่มันแค่เป็นอีกมุมหนึ่ง ที่อาจจะไม่ใช่ที่นิยมทั่วๆไปเหมือนทุกคนเป็น แต่จูนก็ชอบในแบบของจูน แบบนี้มันดีกว่า อย่างกลับไปดูรูปเก่าๆ เราก็ผอมจริงๆนะ มันผอมมาก มันดูสุขภาพไม่ดี มันดูเหมือนคนป่วยตลอดเวลา มันดูไม่ค่อยโอเค”
การเข้ามาอยู่ในวงการกีฬาเพาะกายของจูน แน่นอนว่ารูปร่างของเธอจะต้องไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป แต่จะต้องมีการสร้างรูปร่าง สร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่โตไปพร้อมกับการมีสุขภาพที่ดีด้วย
“มันเป็นทางเลือกของผู้หญิงมากกว่า คือแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน แต่จูนรู้สึกว่ามันเห็นความสำเร็จของตัวเองว่าเราสามารถทำได้ ในสิ่งที่คนไม่ได้คิดว่าผู้หญิงไม่น่าจะทำได้ มันดูแข็งแรงขึ้น
ถ้าจูนใส่เสื้อผ้าปกติ คนก็ไม่รู้ว่ามีกล้าม เพราะว่ายังดูเป็นคนตัวเล็กเหมือนเดิม ถ้าใส่เสื้อมีแขนหน่อยทุกคนจะมองไม่เห็น มันก็จะเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่ง เราก็มีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ไลฟ์สไตล์ตัวเองมากกว่าว่าชอบแบบไหน แต่จูนเลือกทางนี้ แล้วจูนก็มีความสุขกับมัน คนรอบข้างเขาก็มีความสุข เราก็โอเค”
รูปลักษณ์ภายนอกที่เธอได้มา เธอมองว่าเหมือนเป็นรางวัล แต่ขณะเดียวกันบางคนอาจจะมองว่าผู้หญิงไม่เหมาะที่จะกล้ามใหญ่ๆ เหมือนผู้ชาย
คนจะติดภาพเพราะว่าเพาะกาย ต้องตัวใหญ่ ต้องกล้ามใหญ่ ต้องตัวใหญ่ไปหมด แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันมีหลายแบบ
อย่างรุ่นจูนมันคือ Bikini Model ก็คือต้องทำหุ่นให้เหมือน Model ใส่ Bikini แล้วต้องสวย คนก็จะแปลกใจว่ามาเจอตัวจริงแล้วไม่เห็นตัวใหญ่เลย
คือมันเป็นภาพยึดติดมากกว่าว่ามันต้องเป็นตัวใหญ่อย่างเดียว แต่จริงๆแล้วมันมีหลากหลายมากกว่านั้น ถ้ามันมีการเปิดกว้างมากกว่านี้คนน่าจะเข้าใจมากขึ้น”
ทว่าบ่อยครั้งมักถูกวิจารณ์กับทัศนคติลบๆว่าเป็นผู้หญิงสวยแต่หุ่นแบบนี้น่ากลัว ไม่เหมาะ แต่นั่นเป็นสิ่งที่จูนยอมรับ และปล่อยผ่านไปได้ เพราะเธอให้ความสำคัญกับคำพูดของคนในครอบครัวมากกว่า
“จูนไม่ได้มองตรงนั้นมากกว่า คิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะพูด มีหลากหลายทั้งว่าหน้าตาก็ดี ทำไมไปทำให้ตัวเองน่าเกลียดขนาดนี้ คือคนก็พูดไปเรื่อยแหละ แต่เราก็มองว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่เราเลือก
เขามีสิทธิ์จะพูด แต่สุดท้ายแล้วจูนมองว่าเขาก็ไม่ได้ทำได้เหมือนที่จูนทำ จูนก็เลยไม่ได้สนใจเท่าไหร่ในสิ่งที่คนพูด”
เมื่อถามเธอว่าถ้ามีกล้ามแบบนี้จะหาแฟนยากมั้ย เธอก็ตอบว่าไม่ได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก แต่มันขึ้นอยู่กับทัศนคติ และการเข้าใจกันมากกว่า
“ไม่เกี่ยวกับมีกล้ามจะหาแฟนยาก จริงๆคนที่ยุให้แข่งคือแฟน คือเขาชอบออกกำลังกาย เจอกันที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว เขาก็เลยมีความเข้าใจ
ก่อนที่เขายุเราสำเร็จ เขาก็พาเรามาเดินงานพวกนี้ก่อนอยู่แล้ว เธอมันไม่น่ากลัวขนาดนั้น เธอไปดูสิ มันสวยแบบไหน มันเป็นยังไง เขาก็ยุเรา จนเราโอเค
จูนว่ามันเป็นความชอบเฉพาะบุคคลมากกว่า ถ้าเราเจอคนที่ไปทางเดียวกันได้ มันก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากหรอก นักเพาะกายผู้หญิงเขาก็มีแฟนกัน แฟนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลยก็มี แต่สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่คุยกัน อยู่ที่นิสัย และจริงๆแล้วมันเป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่มันเป็นทางเลือกมากกว่า”
“ฟิตหุ่น-สร้างกล้ามเนื้อ” พิชิตใจตัวเอง!!
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องการออกกำลังกาย แปรเปลี่ยนมาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในเวลา 2 ปี แถมสามารถคว้าแชมป์เอเชียมาครองได้สำเร็จนั้น บ่งบอกได้ถึงความพยายามอย่างหนักของเธอได้เป็นอย่างดี
และทุกครั้งที่แข่ง ทุกครั้งที่ได้เริ่มฟิตร่างกาย ควบคุมอาหาร สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดสำหรับคนที่เคยไม่ชอบออกกำลังกายอย่างเธอแล้ว สามารถเห็นร่างกายของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
“เหมือนเป็นการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ มากกว่า จากเวทีแรกจนถึงเวทีปัจจุบัน หุ่นเราก็ไม่เหมือนกันแล้ว วิธีการไดเอตก็เป็นวิธีการลองผิด ลองถูกมาเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า การไดเอตแบบไหน หรือการทำอะไรแบบไหนที่เหมาะกับร่างกายตัวเองที่สุด
มันอาจจะมีคนพูดหลายแบบว่าเฮ้ย มันต้องกินอย่างนี้นะ มันต้องทำอย่างนั้นนะ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน มันเหมือนเป็นกีฬาที่ต้องเรียนรู้ตัวเองมากกว่าว่าจริงๆแล้วเราเหมาะกับการกิน การโหลด หรือการไดเอตแบบไหน เพราะจริงๆทุกคนมันก็แตกต่าง
สำหรับจูนการทำให้รูปร่างชัดมันใช้เวลาไม่นาน เพราะด้วยร่างกายจูนมันตอบสนองกับการเทรนนิ่งค่อนข้างดี ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงโครงเล็ก แต่เป็นคนมีไหล่ ไหลจึงขึ้นค่อนข้างง่าย
แต่ส่วนที่ยากก็คือก้น ต้องอาศัยเวลา อาศัยการแก้ตาราง การเรียนรู้ตัวเองว่าทำวิธีไหนมันจะเวิร์กกับเรามากที่สุด ก็ใช้เวลา 2 ปีจากตรงนั้น มาจากตรงนี้มันก็ได้รูปร่างตอนนี้ที่เป็นปัจจุบัน”
ถึงแม้ว่าเธอจะมีทุนเดิมรูปร่างที่ดีมา แต่ต้องแลกด้วยสภาพจิตใจ ถึงขั้นบางครั้งทำให้เสียน้ำตา เพราะต้องกินอาหารเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
“มันเพิ่มยากมาก ด้วยความที่เผาผลาญได้ดี มันเลยรู้สึกว่าเหนื่อยเรื่องการกินมากกว่าการซ้อมอีก ตอนที่เพิ่มจริงๆ คือตอนนั้นกินข้าวเป็นกิโล เพื่อที่จะเสริมสร้างขึ้นมาได้
ตอนนั้นกินไปร้องไห้ไป ยังต้องกินต่อ บางทีตี 1 ตี 2 ยังกินไม่เสร็จ ก็ต้องกิน มันค่อนข้างยากในอีกแบบหนึ่งกับการเพิ่มน้ำหนักที่จะทำให้ร่างกายเราไม่เผาผลาญไปหมด
จูนมาจากพื้นฐานที่ผอม มันก็ไม่มีแฟตที่จะต้องเอาออกเยอะ มันจะเป็นการสร้างมากกว่า ด้วยความที่เราเป็นคนผอมพื้นฐาน การสร้างขึ้นมามันยาก เพราะว่าไม่ว่าจะกินอะไรเข้าไปขนาดไหน มันก็เผาผลาญออกหมด เราต้องกินมากขึ้นกว่าคนปกติหลายเท่า เพื่อที่จะสร้างกล้ามเนื้อได้ แล้วก็ควบคู่ไปกับการเทรนที่ค่อนข้างหนัก ที่จะทำให้สร้างกล้ามเนื้อได้”
ตลอดระยะเวลาก่อนการแข่งขันเพื่อคว้าแชมป์เอเชียที่เธอต้องควบคุมน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อเพื่อให้เห็นรูปร่างที่ชัดเจน สำหรับจูนไม่จำเป็นต้องกินอกไก่ อย่างที่นักกีฬามักรับประทาน แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเธอใช้เวลาเรียนรู้ฝึกซ้อม ฟิตหุ่น ประเมินร่างกายทุกวัน
“เรื่องอาหาร กับการพักผ่อนสำคัญมาก สำหรับนักกีฬา อาหารถ้าเรากินแบบไม่ถูกไม่ควร มันก็ทำให้เราไม่สามารถไปถึงฝั่งได้จริงๆ และถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายเราไม่ได้พักผ่อน ร่างกายเราไม่ได้ซ่อมแซม มันก็ไม่สามารถเสริมสร้างได้เหมือนกัน
อาหารที่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารกินทุกวันทั่วไป มีข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กินเพื่อให้ครบ 5 หมู่ แต่ว่าอยู่ในสัดส่วนที่พอดี ที่ร่างกายนำมาใช้ได้
ปกติคือไม่ได้จำกัดแค่กินอกไก่อย่างเดียว เพราะว่าเป็นคนเบื่อ บางทีมันกินเหมือนเดิมตลอดเวลามันเครียดอยู่เหมือนกันนะ กับการต้องคุมอาหาร ก็จะเลือกกินที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นอกไก่ สะโพกไก่ ปลา กุ้ง หรือเนื้อวัวก็ได้ แต่แค่เลือกส่วนที่กินได้ มันก็มีโปรตีนเหมือนกัน
การกินอาหารมันช่วยได้เยอะ คือการที่ออกกำลังกายอย่างเดียว แต่ไม่คุมอาหาร มันจะได้รูปร่างที่ค่อนข้างเฟิร์มขึ้นมา แต่มันไม่สุด
แต่การที่เรากินอาการที่มีประโยชน์ ร่างกายนำมาใช้ได้ 100% ถ้าเกิดเราไปกินอะไรที่ไม่ดี มันก็เป็นการสร้างไขมันขึ้นมาใหม่ แทนที่ร่างกายจะเอามาใช้พลังงานได้เต็มที่ และเอามาเสริมสร้างในส่วนที่สึกหรอออกไป และสิ่งที่ร่างกายต้องการ”
เมื่อผู้สัมภาษณ์ได้คุยกับเธอสักพัก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากรูปร่างที่ฟิต กล้ามที่สวยงาม คือความสุขใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มเสมอ แต่เธอก็ยอมรับโดยดีว่าการที่ต้องฟิตร่างกายให้คงสภาพเดิม มันก็มุมท้อๆ ทรมานเหมือนกัน
การท้อสำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมีอยู่แล้วค่ะ คือจูนท้อมาก (ย้ำ) ช่วงแรกๆ คือมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน มันต้องมีวินัยสูงในการที่เราจะหลุดอะไรไม่ได้ ต่อให้เราเหนื่อย ต่อให้เราไม่อยากซ้อม เราก็ต้องทำ
แต่สำหรับจูนถ้าเป็นคนที่ออกกำลังกายทั่วไป คือมันต้องเริ่มหาสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างจูนชอบเวตเทรนนิ่ง ก็เวตเทรนนิ่ง บางคนอาจจะชอบปั่นจักรยาน บางคนอาจจะชอบว่ายน้ำ โยคะ คืออะไรก็ได้ ที่ลองไปทำอะไรหลายๆอย่าง แล้วดูว่าเรา Enjoy กับสิ่งไหนมากที่สุด สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานว่าเรามีความสุขกับมัน จูนรู้สึกว่ามันน่าจะทำได้นานมากกว่าที่จะไปตามคนอื่น”
การคุมอาหารส่วนใหญ่จะประเมินกันเป็นรายวัน ค่อนข้างจะเซนซิทีฟ เพราะว่าเป็นคนที่ตอบสนองกับทุกสิ่งได้ค่อนข้างไว ฉะนั้นต้องมองเป็นรายวันว่าวันนี้ควรจะเป็นยังไง แล้วก็จะมีแพลนล่วงหน้าบ้าง แต่ว่าสุดท้ายก็มาเปลี่ยนแปลงหน้างานว่าวันนี้จะตัดตรงนี้ออก จะเพิ่มตรงนี้เข้า ก็จะเป็นการประเมินตัวเองมากกว่า ก็คือไม่ได้มองในตัวเลข ไม่ได้มองในเปอร์เซ็นต์แฟต แต่ว่าจะมองในสิ่งที่มันเป็นอยู่หน้ากระจก แล้วก็ถ่ายรูปออกมาแล้วดูเป็นยังไง เราก็จะประเมินจากตรงนั้น
ถ้าทำเหมือนเดิมทุกวัน ยังไงร่างกายก็ไม่เปลี่ยนแปลงหรอก แต่ว่าเน้นการคาร์ดิโอไว้บ้าง ถ้าไม่ได้แข่งก็คาร์ดิโอสักครึ่งชั่วโมงเบาๆ ปั่นจักรยาน วิ่ง เดินก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นปั่นจักรยานแบบชิลชิล ดูหนังไป เล่นเกมไป แล้วก็ปั่นจักรยานไป มันก็ถึง 30 นาทีแล้ว”
ความผอม ถือเป็นกำไรของชีวิต!! จูนมองความผอมเป็นกำไร มันง่ายตรงที่ว่าเรารู้ตัวเราไม่ต้องทำอะไรเยอะ เราก็ผอม แต่สุดท้ายถ้าเราไม่มีวินัย มันก็กลับไปผอมเกิน จนกระทั่งมันไม่สวย มันต้องขึ้นกับความพอดี ก็เป็นความยากอีกแบบหนึ่ง กับคนที่อ้วนง่ายมากกว่า |
“ไม่มีทางลัด” สำหรับคนอยาก “หุ่นดี” ถ้าเป็นเรื่องยา สำหรับจูนมันค่อนข้างเซนซิทีฟ ยามันไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้าให้พูดตามตรงคือถ้าเราไม่มีวินัย อะไรก็ช่วยเราไม่ได้ สุดท้ายแล้วมันเป็นเพราะการกิน การซ้อม การนอน ที่เป็นหลัก ไม่ว่าอะไรไม่มีทางลัดอยู่แล้ว |
พิสูจน์ให้เห็น “เพาะกาย” ไม่ใช่เรื่องแย่!! ตอนแรกๆ ครอบครัวจูนก็ไม่โอเค คงไม่มีใครโอเคหรอก เพราะว่ามันผิดจากมาตรฐานผู้หญิงที่มันควรจะเป็น ว่าแบบมันต้องเป็นผู้หญิงนะ ต้องนู่นนั่นนี่ ตอนแรกๆเขาก็ไม่ชอบ เขาต่อต้านแล้วเขาบอกว่า เลิกเล่นเลยได้ไหม พอสักที ตัวใหญ่เกินไปแล้วนะ แต่พอเขาเห็นว่าจูนทำได้ ประสบความสำเร็จ แล้วจริงๆมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ตัวเราก็ไม่ได้ใหญ่จนกระทั่งมันไม่ใช่ผู้หญิง แต่สุดท้ายพอเราได้ใส่เสื้อผ้ามันก็เป็นคนปกติ ตอนนี้เขาก็เข้าใจ เขาก็จะคอย Support มีอะไรเขาก็ถาม เป็นยังไง เวลาไปแข่งเขาก็ถามไถ่มาก็ถือว่าโอเค |
สัมภาษณ์โดย ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ : อินสตราแกรม @junechadathip