ต่อว่า-โวยวาย-ดูถูกคนอื่น!! เคส “หนุ่มแว่น” ด่ากราดกระบะคู่กรณี สังคมสงสัย ครอบครัวปล่อยให้ขับได้ยังไงจิตแพทย์ชื่อดังเผย พฤติกรรมตอบสนองอารมณ์ตัวเอง เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล แต่ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตสามารถขับรถได้ พร้อมแนะสังคมไทยควรเรียนรู้การให้อภัย
หนุ่มแว่น พังเพราะคำพูด!!
“ปัญหาโรคทางจิตเวชมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจะเกิดปัญหาบนท้องถนน แล้วคนที่เกิดปัญหาบนท้องถนนไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนไข้ทางด้านจิตเวชครับ”
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านปลายสาย กับประเด็นร้อนแรงในสังคมโซเชียลฯ กรณีหนุ่มแว่นหัวร้อนอย่าง รชฏ หวังกิจเจริญสุข อายุ 24 ปี ที่ขับรถเฉี่ยวชนกับรถกระบะส่งของ พร้อมใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างรุนแรง ดูถูกคนไทยด้อยพัฒนา จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กระทั่งโดนบริษัทไล่ออกจากงาน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของหนุ่มแว่น ทางครอบครัวได้ออกมาแจ้งว่าลูกชายมีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า กำลังรักษาตัว แต่กรณีหนุ่มแว่นไม่ใช่เคสแรกที่เกิดเรื่องในลักษณะนี้ เพราะยังเคยมีคดีดังของไฮโซ หมูแฮม-กัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ เมื่อปี 50 ที่ขับรถชนคนตาย ซึ่งเขามีปัญหาทางการควบคุมอารมณ์ โดยพ่อของหมูแฮมเคยบอกว่า ลูกชายมีอาการทางประสาท และเคยเข้ารับการรักษาจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์มาแล้ว
โดยที่หมูแฮมได้เกิดเหตุวิวาทกับคนขับรถเมล์ และได้หยิบก้อนหินมาฟาดที่ศีรษะคนขับรถเมล์จนเป็นแผลเลือดอาบ จากนั้นจึงวิ่งกลับไปยังรถเบนซ์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กระเป๋ารถเมล์ลำเลียงคนลงมาจากรถเพื่อเปลี่ยนรถคันใหม่ แต่รถเบนซ์ที่จอดอยู่หลังรถเมล์ก็ได้ขับพุ่งชนคนที่ยืนบนฟุตบาท ส่งผลให้มีคนติดอยู่ใต้ท้องรถ
เมื่อทีมข่าวถามถึงประเด็นเรื่องการขับรถบนท้องถนนสำหรับผู้ป่วยสุขภาพจิตสามารถทำได้หรือไม่นั้น จิตแพทย์วรตม์ ก็พร้อมตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าสามารถขับได้ หากสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้
“จริงๆ ประเทศไทย สังคมไทยมีผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นล้านคนนะครับ แล้วก็ขับรถอยู่บนท้องถนนทั่วไป เพียงแต่ว่าในอนาคตเราก็อาจจะต้องมีวิธีการที่มากขึ้น ถ้าคนที่ไม่พร้อมด้านสุขภาพจิต ครอบครัวเองก็ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องว่าคนที่อยู่ในความดูแลของตัวเอง ที่มีอาการด้านสุขภาพจิตเขาพร้อมในการขับรถ ในการทำอะไรบางอย่างหรือเปล่า
แต่ว่าผู้ป่วยจิตเวชเองส่วนมากไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแบบนี้ ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน เพราะฉะนั้นเขาก็ยังมีสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมคนอื่น จะมีแค่ที่มีปัญหาจริงๆ คือ ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตที่มีอาการรุนแรงควบคุมไม่ได้นะครับ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ตรงนี้ต้องอาศัยครอบครัวเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยดูว่าเขาสามารถดำเนินชีวิตอย่างไร
ถ้าเกิดเขาควบคุมอาการได้ดี ปกติดี ก็อาจจะทำใช้ชีวิตได้ตามปกติ ร่วมกับสังคมได้ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดในช่วงที่ภาวะอาการไม่ดี เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ครอบครัวจะมีบทบาทอย่างมากที่จะบอกว่าเขาควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร”
นอกจากนี้ จิตแพทย์รายเดิมยังเผยถึงสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อมีคนถ่ายคลิปลงมาแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม คนที่วิพากษ์วิจารณ์เองก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน
ต้องให้อภัยกัน!! ไม่ใช่ช่วยกันรุมด่า
“แน่นอนว่าคนที่ป่วยทางด้านสุขภาพจิตบางทีถ้าเป็นโรคทางอารมณ์ ก็อาจจะมีการควบคุมอารมณ์ได้ยาก แต่ว่าพฤติกรรมหลังจากนั้น การตอบสนองต่ออารมณ์ตัวเอง ตรงนี้เป็นทางเลือกส่วนบุคคล แต่ละคนถึงมีอารมณ์โกรธ แต่เขาเลือกได้ที่จะตอบสนองต่อสังคมยังไง”
ดังนั้น จิตแพทย์วรตม์มองว่า ไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลได้ว่า การตอบสนองแบบนี้จะสามารถทำร้ายคนอื่น หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อคนอื่นหรือสังคมได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการร่วมมือกัน เข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น ก็จะไม่มีปัญหาเรื่อง อคติต่อผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต
“จากคลิปก็คือการบันดาลโทสะบนท้องถนน ตรงนี้จริงๆ ก็พบได้บ่อยในสังคมไทยยุคปัจจุบัน อาจจะเห็นมากขึ้นเพราะว่าแต่ละคนก็เริ่มมีกล้องติดหน้ารถ มีโทรศัพท์ เหตุการณ์นี้ก็จะเห็นมากขึ้น จากภาพถามว่าเราเห็นเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตไหม ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนนะครับ
ภาพสั้นๆ ในช่วง 1-2 นาทีอาจจะบอกอะไรมากไม่ได้ เพราะว่าเรายังต้องดูประวัติอื่นๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งที่เห็นแล้วอยากแนะนำก็คือ เรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงบนท้องถนนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ เข้าใจว่าประเทศไทยรถติด คนใช้ท้องถนนเยอะ แล้วก็มีคนไม่เคารพกฎหมายเยอะ แต่เราเองก็ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ให้อภัยกัน ทุกอย่างก็จะเบาบางลง”
สำหรับ เหตุกาณ์ที่ประชาชนมารอรุมด่าหนุ่มแว่น แน่นอนว่าส่งผลกับสภาพจิตใจ โดยคนที่ถูกเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมีเดียก็ได้รับผลกระทบ และจะต้องมีครอบครัว รวมทั้งแพทย์ด้านสุขภาพจิตที่จะช่วยดูแลต่อไป
“ผมก็คิดว่าเขาได้รับผลกระทบเพียงพอกับสิ่งที่เขาต้องการแล้ว ทีนี่เราเองก็ต้องมาเรียนรู้จากเรื่องนี้ดีกว่านะครับ บางทีสังคมไทยก็อินกับเรื่องในโซเชียลมีเดียมากนะครับ ทำให้เกิดความโกรธแค้น ทั้งที่จริงๆ แล้วความโกรธแค้นนั้นก็ไม่ได้ต่างจากความโกรธแค้นบนท้องถนนที่เกิดขึ้น
อยากให้มองว่า ถ้าเกิดเหตุกาณ์เช่นนี้ขึ้น เราจะควบคุมอารมณ์ตัวเองยังไง จะผ่อนคลายตัวเองยังไงได้บ้าง คนที่ไปชุมนุมเองนะครับ เมื่อได้ทำอย่างที่ตัวเองอยากทำแล้วก็พอครับ ก็จะต้องเบาบางลง แล้วก็ฝึกในการควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นเดียวกันครับ
เราต้องใช้ท้องถนนอย่างเข้าใจ ใครที่มีความรุนแรง เราก็อย่าเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เราเห็นแล้วว่าถ้าเกิดเราขับรถไปมีภาษากายหรือภาษาทางวาจาที่รุนแรง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเอาชนะหรือไปสู้กับเขาครับ คือจะบอกให้ไม่ขับรถเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือ เราไม่รู้หรอกครับว่าคนที่รุนแรงเขาจะมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่มีก็ตาม แต่ถ้าเกิดเขารุนแรงเราแล้วเนี่ย เราก็พยายามหลีกเลี่ยงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะครับ”
จิตแพทย์ยังทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากให้การทะเลาะวิวาทบนท้องถนนไม่เกิดขึ้น ก็อยากให้เข้าใจเรื่องของการให้อภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อหนุ่มแว่นถูกลงโทษจากที่ทำงาน ถูกลงโทษจากสังคมออนไลน์แล้ว ทุกคนก็ควรจะต้องเบาลง แล้วก็สนับสนุนการให้อภัยกันมากขึ้น ตนเองต้องอย่าไปทำตัวเหมือนสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **