ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองข้อเสนอด้านราคา ของ กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือ “กลุ่มซีพี” เป็นการ “ชั่วคราว”ก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ รับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 “รอยยิ้ม” ก็มาเยือน “กลุ่มซีพี” อย่างเป็นทางการ
เมื่อศาลปกครองสูงสุดออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเป็นครั้งแรก และเตรียมเสนอองค์คณะกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นคืนสิทธิให้ซีพี
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี กับพวกรวม 5 ราย ยื่นฟ้อง “คณะกรรมการคัดเลือก” ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอด้านแผนธุรกิจและด้านราคา ในการยื่นข้อเสนอประมูลก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก มายื่นเกินเวลาที่กำหนด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น ได้มีพิพากษาให้ยกฟ้อง และบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
การออกนั่งพิจารณาครั้งนี้ องค์คณะระบุว่า เป็นการพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนตามนโยบายของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ ซึ่งศาลฯ อ่านข้อเท็จจริงของคดีให้คู่กรณีทราบ และเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปปิดคดีเพิ่มเติมจากที่ได้แถลงเป็นเอกสารมาก่อนแล้ว
น.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา ผู้ได้รับมอบอำนาจ จากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด แถลงย้ำว่า สถานที่ยื่นข้อเสนอที่มีการกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ หรือ (RFP) ระบุชัดเจนว่า เป็นห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียน ตามที่มีการนำมาอ้าง และตัดสิทธิ์การยื่นข้อเสนอ ซึ่งโครงการนี้ มีผู้ร่วมยื่นซองจำนวนมาก จึงมีการทยอยนำเอกสารมาทุกราย ซึ่ง ณ เวลา 16.45 น. ที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ได้เข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการคัดเลือกนั้น มีเอกสารครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการ ได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด และหากศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ที่ตัดสิทธิบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ตรงกันข้ามจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ สามารถพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทุกรายได้อย่าครบถ้วน สมกับเจตนารมณ์ในการเปิดประมูลครั้งนี้
ขณะที่ พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก แถลงแย้งว่า จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอ และได้ยึดถือในเรื่องเวลาเป็นสำคัญ หากยื่นหลัง 15.00 น. จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลยพินิจเรื่องขยายเวลา
ทั้งนี้ พล.ร.ต.เกริกไชย ยังยกตัวอย่างว่า บริษัทธนโฮลดิ้ง เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่ได้สัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็ใช้หลักการและวิธีการเดียวกัน ซึ่งต้องปฏิบัติได้ และมีข้อน่าสงสัยว่า การยื่นเอกสาร ทำไมถึงมีการทยอยนำมายื่น โดยแผนธุรกิจและข้อเสนอด้านราคามาทีหลัง เพราะรอบแรกและรอบ 2 เพื่อมาประเมินคู่ต่อสู้ว่ายื่นราคาเท่าไร เพื่อที่ตัวเองจะได้แก้ไขเอกสาร แต่เกิดปัญหาจราจร เลยทำให้เอกสารมาไม่ทัน
“ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ โดยกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น คืนสิทธิให้ซีพี แล้วที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานให้หน่วยงานภาครัฐไว้ในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที จะทำอย่างไร มิเท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้ หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้”
พล.ร.ต.เกริกไชย ยังกล่าวด้วยว่า คดีนี้มีมูลค่าโครงการ 2.7 แสนล้านบาท รัฐบาลมีความตั้งใจจะให้เป็นสนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประมูลอย่างถูกต้อง 2 ราย ก็ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือก ยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถูกต้องเป็นธรรมแล้ว และคัดค้านไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกให้สิทธิบริษัท ธนโฮลดิ้ง กับพวกอีก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นเรื่องต่อประธานศาลปกครองสูงสุด ขอให้นำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด แต่ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าจะเห็นอย่างไร
จากนั้นองค์คณะได้ให้ นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นประจำตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตนต่อคดี ซึ่งไม่มีผลต่อการพิจารณาขององค์คณะ โดยเห็นว่าจากที่ได้ศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกาศของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ข้อเท็จจริงในคดีแล้ว เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ การจะดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรับเอกสาร ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีการแจ้งให้กับผู้เข้าประมูลทราบล่วงหน้า เพื่อความโปร่งใส แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการรับ และตรวจเอกสารโดยวิธีการใดอย่างชัดเจน วันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันยื่นข้อเสนอ มีเพียงให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลลงทะเบียนก่อน และให้ไปพักรอในห้องพักคอย ทำให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง สามารถทำการจัดและเพิ่มเอกสารบางรายการได้ จนเมื่อใกล้เวลา จึงให้บริษัทที่ประสงค์จะยื่นข้อเสนอไปยื่นเอกสาร ซึ่งเป็นกระบวนการรับ และมีการตรวจเอกสารทีละราย โดยรายแรกยื่นในเวลา 15.00 น. แสดงให้เห็นว่า กระบวนยื่นข้อเสนอดังกล่าวไมได้ยึดถือการขน ลำเลียงเอกสาร ให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียน ในเวลา 15.00 น.
นอกจากนี้ เมื่อบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ยื่นเอกสารแล้ว ก็มีการตรวจรับโดยไม่มีการทักท้วง หรือออกใบรับอย่างมีเงื่อนไขให้แต่อย่างใด จึงถือได้ว่า คณะกรรมการคัดเลือก ได้มีการตรวจสอบเอกสารจนครบถ้วนแล้ว ส่วนที่มีการอ้างถึงรายงานคณะทำงานรับ และจัดเก็บเอกสารข้อเสนอ รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ก็เป็นการอ้างเอกสารที่เกิดขึ้นภายหลัง และเมื่อพิจารณาเอกสาร กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคา และแผนธุรกิจแล้ว ก็ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดซอง ณ ขณะนั้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถที่จะนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ ดังนั้น รายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสาร จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคา และแผนธุรกิจ ของบริษัท ธนโฮลดิ้งกับพวก จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ผู้แทนของคณะกรรมการคัดเลือก ได้แถลงต่อศาลปกครองสูงสุดด้วยวาจา แก้คำอุทธรณ์ที่ได้จัดส่งให้ศาลปกครองสูงสุดไปก่อนหน้านี้แล้ว หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ของกลุ่มบริษัท ธนโฮลดิ้ง กับพวก ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กองทัพเรือจัดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 21 มี.ค.62 โดยมี 3 กลุ่มยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ,บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งมีพันธมิตรสนามบินนาริตะเข้าร่วม
กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF , บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในกลุ่มบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และ GMR Airport Limited จากอินเดีย
และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และ 5. Orient Success International Limited
เพราะฉะนั้น นอกจากโครงการรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งแล้ว ณ เวลานี้ กลุ่มซีพีและพันธมิตร ยังกลับมามีลุ้นในการชิงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอีกครั้ง