xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากทหารเรือถามว่า จะเลือกเงินหรือรักษากติกา

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กลายเป็นเวทีเผชิญหน้าระหว่างซีพีในฐานะแกนนำกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าลงทุน แต่ถูกตัดสิทธิกับกองทัพเรือ เจ้าของโครงการ โดยมีศาลปกครองเป็นกรรมการ

โครงการนี้เป็น 1 ใน 5 โครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน มีเอกชน 3 รายยื่นข้อเสนอลงทุน ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบด้วยซีพี ช.การช่าง อิตาเลียนไทย บีกริม กลุ่มบีบีเอส ประกอบด้วยบีทีเอส การบินกรุงเทพ และซิโน-ไทย กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตี้ยม ประกอบด้วย พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค คริสเตียนีและนีลเส็น และไทยแอร์เอเชีย

ธนโฮลดิ้ง ถูกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีพล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน ตัดสิทธิไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และราคา เพราะยื่นเอกสารกล่องที่ 6 (ด้านเทคนิค) และกล่องที่ 9 (ด้านราคา) เวลา 15.09 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2562 ช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ ในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการหรือ RFP (Request for Proposals) ซึ่งกำหนดให้ยื่นไม่เกิน 15.00 น.

ธนโฮลดิ้ง ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการอุทธรณ์ของคณะกรรมการนโยบายอีอีซี และฟ้องศาลปกครอง ซึ่งทั้งคณะอนุกรรมการ และศาลปกครองยกคำร้องของธนโฮลดิ้ง ธนโฮลดิ้งอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว สั่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนคืนสิทธิเข้าร่วมประมูลให้กับธนโฮลดิ้ง

ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้คณะกรรมการคืนสิทธิการเข้าประมูลให้กับธนโฮลดิ้ง

ตัวแทนธนโฮลดิ้ง แถลงต่อศาลว่า ธนโฮลดิ้งได้ยื่นเอกสารครบ และคณะกรรมการคัดเลือกได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด คณะกรรมการจึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด และหากศาลมีมติเพิกถอนคำสั่งตัดสิทธิของคณะกรรมการคัดเลือก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ตรงกันข้าม จะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะคณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทุกรายได้อย่างครบถ้วน

ในขณะที่พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก แถลงว่า มีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09.00-15.00 น. หากมายื่นหลังเวลา 15.00 น. จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจเรื่องขยายเวลา

พล.ร.ต.เกริกไชย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ทุกบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ยื่นเอกสารครบทั้ง 9 กล่อง มีแต่ของบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดที่มีการทยอยนำมาถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 มาแค่ 7 กล่อง อีก 2 กล่องที่เหลือคือแผนธุรกิจ และข้อเสนอด้านราคามาทีหลัง เป็นเพราะการมารอบแรกก็เพื่อมาประเมินคู่ต่อสู้ว่า ยื่นราคาเท่าไร เพื่อที่ตัวเองจะได้แก้ไขเอกสาร แต่ปรากฏว่า เกิดปัญหาจราจรเลยทำให้เอกสารมาถึงจุดลงทะเบียนเกิน 15.00 น.

ตัวแทนกองทัพเรือ ยังดักคอว่า หากศาลจะเห็นว่า เวลาไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดเคยสั่งให้ตัดสิทธิผู้เข้าประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท ที่มายื่นซองหลังเลยเวลาปิดรับไปเพียง 39 วินาที ซึ่งเป็นการกลับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง

“หากให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่า ต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้ หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ว่า แม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมากก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้”

หลังจากคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงจบแล้ว นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการผู้แถลงคดี สรุปความเห็นของตนว่า กระบวนการตรวจรับเอกสารไม่ชัดเจน อีกทั้ง เมื่อธนโฮลดิ้ง ยื่นเอกสารแล้ว ก็ไม่มีการทักท้วง ถือว่า คณะกรรมการได้ตรวจรับเอกสารทั้งหมดแล้ว

นอกจากนี้ เอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ก็ไม่มีการกำหนดว่า ต้องเปิดซองในวันนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือล่วงรู้ข้อเสนอของคู่แข่งได้ จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คืนสิทธิให้ธนโฮลดิ้งเข้าร่วมประมูลได้

คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ใช่คำพิพากษาขององค์คณะ เป็นความเห็นส่วนตัวของตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งไม่มีผลต่อคำพิพากษา เป็นเหมือนกลไกในการช่วยทำให้การใช้ดุลพินิจขององค์คณะมีความรอบคอบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกได้ยื่นคำร้องต่อประธานศาลปกครอง ขอเปลี่ยนแปลงองค์คณะ โดยขอให้นำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แทนการให้องค์คณะตุลาการพิจารณา โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม

กรณีการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี ที่ผู้เข้าประมูลโดนตัดสิทธิ เพราะทำผิดเงื่อนไข RFP แล้วนำคดีไปฟ้องศาลปกครองเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่กลุ่มเอ็นพีซีโดนตัดสิทธิเพราะสมาชิกกลุ่มไม่ลงนามในสัญญากิจการร่วมค้า ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า เป็นสาระสำคัญในเรื่องคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูล

เอ็นพีซีฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติกรรมการคัดเลือก ศาลปกครองกลางรับฟ้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้คืนสิทธิร่วมประมูลแก่เอ็นพีซี ด้วยเหตุผลว่า การไม่ลงนามในสัญญากิจการร่วมค้าตามแบบฟอร์มใน RFP นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ

กรณีโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 กับเมืองการบินอู่ตะเภา ที่ผู้ตัดสิทธิหวังจะใช้กลไกศาลปกครองหักล้างกติกาในการประมูล ที่เจ้าของโครงการกำหนดขึ้นมา คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการร่วมลงทุนของเอกชน ในโครงการของรัฐว่า จำเป็นที่จะต้องยึดถือกติกาใน RFP อย่างเคร่งครัดหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น