xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

#รถไฟฟ้าไม่มาหานะเธอ “บีทีเอส-คีรี กาญจนพาสน์” รวยมาก ขออภัยที่ลงทุนแก้ระบบขัดข้องช้าไปนิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - #ยกเลิกสัมปทาน BTS
กลายเป็นแฮชแท็กฮิตแซงขึ้นอันดับหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะ “รถไฟฟ้าไม่มาหานะเธอ” สร้างความขุ่นใจให้กับผู้โดยสารชาวเมืองหลวงกันถ้วนหน้า ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าจะมีปัญหาระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องมาก่อนหน้าตั้งนมนาน แต่เหตุไฉนกลุ่มนายคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าสัวแสนล้านเจ้าของบีทีเอส จึงไม่เตรียมการแก้ไขและไม่ลงทุนระบบตัดสัญญาณรบกวนล่วงหน้า จะมีประโยชน์อันใดกับคำประกาศบนสถานีที่พร่ำเพรื่อ “ขอเวลาแก้ไข 10 นาที”กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ” ทั้งที่มีปัญหาเช้ายันเย็นแทบทุกวันตลอดเดือนมิถุนายน

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น สวนทางกับคำสัญญาของผู้บริหารบีทีเอส นายสุรพงษ์ เลาหะสัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ว่าจะพยายามปรับปรุงการบริการให้เกิดประสิทธิภาพให้ดีขึ้นต่อไป เมื่อครั้งบริษัทว่าจ้างให้สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการบีทีเอส เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ได้ผลคะแนนรวม 3.77 จากคะแนนเต็ม 5และที่สำคัญกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 2,727 คน ที่สำรวจจาก 35 สถานี ไม่เคยประสบปัญหารถไฟฟ้าขัดข้องเลยในรอบ 6 เดือนของปี 2560 ยังกะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอสคนละขบวนกันกับบีทีเอสที่ผู้โดยสารเจอแจ็กพอตทุบสถิติเพียงเดือนมิ.ย.นี้เดือนเดียวก็ขัดข้องได้โล่ไปนับครั้งไม่ถ้วน

และยังกะจะเป็นคนละขบวนกับที่ทางเนคเทค ได้เก็บสถิติเอาไว้ โดยข้อมูลย้อนหลังจาก ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ NECTEC ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มีการแจ้งการเกิดเหตุขัดข้องและการอัปเดทการซ่อมจากทวิตเตอร์ของ BTS (@BTS_SkyTrain) ดังนี้ ปี 60 เกิดปัญหาทั้งหมด 46 ครั้ง, ปี 59 เกิดปัญหาทั้งหมด 24 ครั้ง, ปี 58 เกิดปัญหาทั้งหมด 2 ครั้ง, ปี 57 เกิดปัญหาทั้งหมด 5 ครั้ง, ปี 56 เกิดปัญหาทั้งหมด 2 ครั้ง, ปี 55 เกิดปัญหาทั้งหมด 3 ครั้ง, ปี 54 เกิดปัญหาทั้งหมด 9 ครั้ง, ปี 53 เกิดปัญหาทั้งหมด 5 ครั้ง

อาการขัดข้องแบบรัวๆ ตลอดเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานกรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แถลงถึงปัญหาความขัดข้องว่าเนื่องจากกำลังดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ และการติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงสถานีสำโรง ถึงสถานีเคหะฯ ร่วมกับบอมบาร์ดิเอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ในเดือนธ.ค. พ.ศ. 2561 ถือเป็นความขัดข้องตามปกติเมื่อครั้งที่บริษัทฯ ดำเนินการทดสอบระบบอาณัติสัญญาณที่สถานีส่วนต่อขยายเมื่อ พ.ศ. 2552 - 2556

และบริษัทฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณของโครงการส่วนเดิมทั้งสายเพื่อป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอก เนื่องจากสถานีสยามยังคงใช้งานระบบเดิม ทำให้มีปัญหาถูกคลื่นรบกวนการทำงานของระบบอาณัติสัญญาณบ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 - 25 มิ.ย. 2561 เกิดจากมีคลื่นรบกวนการทำงานของระบบอาณัติสัญญาณจนทำให้ระบบล่มลง ทำให้การเดินรถอัตโนมัติไม่สามารถทำได้ บริษัทฯ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปลี่ยนการทำงานมาใช้ระบบแมนนวลในการนำรถไฟฟ้าเข้าจอดที่สถานีสยามควบคู่กับการพยายามกู้ระบบอัตโนมัติให้กลับมาทำงานได้ บริษัทคาดว่าปัญหาทั้งหมดจะถูกแก้ไขเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นบริษัทได้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใหม่และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนเพิ่มเติมบริเวณสถานีสยาม ภายในวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 และจะดำเนินการแก้ไขระบบและทดสอบระบบที่ส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ มีปัญหาสัญญาณรบกวนทำให้การเดินรถขัดข้อง ผู้โดยสารต้องรอนาน มีการสะสมเพิ่มจนล้นทะลัก ถามว่า บีทีเอส รู้ว่าจะมีปัญหานี้ไหม คำตอบคือ รู้มานานแล้ว แต่ไม่วางแผนแก้ไขและไม่ลงทุนระบบตัดสัญญาณรบกวน

เรื่องนี้ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้คำตอบว่า บีทีเอส ใช้คลื่น 2400 MHz ควบคุมระบบเดินรถและสั่งการระหว่างกัน และ BTS ไม่ได้สร้างระบบป้องกันการโดนรบกวน โดยคลื่นสัญญาณ ย่าน 2400 MHz หน่วยงานไหนหรือคนทั่วไปก็ใช้กันได้ กับโดรนก็ใช้ เพราะเป็นคลื่นที่ กสทช.อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะได้อยู่แล้ว แต่หน่วยงาน/องค์กรนั้นๆ ต้องขออนุญาตการใช้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าระหว่างที่บีทีเอสวิ่งผ่านจุดที่ถูกรบกวน ทำให้ระบบการควบคุมและสั่งการไม่เสถียร ทาง BTS จึงจำเป็นต้องหยุดเดินรถบางสถานี หรือแช่รถที่ชานชาลานานกว่าปกติ เพื่อตรวจสอบระบบการเดินรถ หรือปล่อยรถจนแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ จึงจะสั่งการได้

“BTS รู้ปัญหานี้หรือไม่ ?” คำตอบคือ BTS รู้แน่นอนและรู้มาก่อนแล้วด้วยว่าการใช้คลื่น 2400 MHz เพื่อควบคุมระบบสั่งการเดินจะไม่ได้รับการคุ้มครองการใช้คลื่นย่านนี้จาก กสทช. เพราะ BTS เคยถาม กสทช. และ กสทช. มีหนังสือตอบกลับไปให้รับทราบแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ซึ่ง BTS รู้ดีว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กสทช.เตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว หลังจาก BTS มีหนังสือแจ้งขอใช้งานอุปกรณ์โทรคมนาคม

“เขารับทราบมาก่อนอยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร รู้มานานแล้ว แต่ไม่ได้แก้จริงจัง จนทำให้ระบบคลื่นควบคุมรถโดนรบกวน ทางออกคือต้องสร้างระบบป้องกัน ไม่ให้คลื่นความถี่โดนรบกวน แต่การลงทุนแพง อยู่ที่ BTS จะกล้าลงทุนหรือไม่” รองเลขาธิการ กสทช. ย้ำให้เห็นต้นตอของปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง

เจ้าสัวคีรี เจ้าของบีทีเอส ซึ่งวันนี้ฟื้นตัวจนร่ำรวยจากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส จะกล้าลงทุนเพื่อรองรับปัญหาที่รู้ๆ อยู่ว่าจะเกิดขึ้น หรือจะปล่อยให้เกิดปัญหาหนักข้อเสียก่อนจึงค่อยมาตามแก้ทีหลัง ท่านผู้โดยสารทั้งหลายรับทราบคำตอบได้เป็นอย่างดีจากเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้แล้ว

แต่เรื่องที่น่าแปลกใจคือ กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ให้สัมปทานบีทีเอส และมีคณะกรรมการกำกับดูแลมีข้อกำหนด Level Service เรื่องคุณภาพการให้บริการ KPI กลับเงียบเป็นเป่าสากต่อกระแสโซเชียลทวงคืนสัมปทานและเรียกร้องให้ชดเชยผู้โดยสารที่เดินทางไม่ได้ มีแต่กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นเดือดเป็นร้อน ออกมาเรียกผู้บริหารบีทีเอสไปชี้แจง ขอให้บีทีเอสปรับระบบอาณัติสัญญาณให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น ติดตามการแก้ไขปัญหา แบ่งเบาทุกข์ร้อนประชาชนผู้สัญจร และขอให้บีทีเอส เยียวยาชดเชยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาระบบขัดข้อง

ขณะที่ กสทช. ก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย ได้ถกปัญหาที่เกิดขึ้นกับบีทีเอส ดีแทค และทีโอที จนได้ข้อสรุปสุดท้ายร่วมกันว่าจะขยับคลื่นให้ห่างจากกัน โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลหารือกรณีระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวขัดข้อง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561 ว่า คลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าคือ คลื่น 2400 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป ส่วนทีโอทีและดีแทคใช้งานในย่าน 2370- 2400 เมกะเฮิรตซ์ จะเห็นว่ามีระยะห่าง อยู่ 30 เมกะเฮิรตซ์ ทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างจึงไม่น่าจะมีการรบกวนกัน แต่เมื่อเห็นว่าปัญหามีการรบกวน กสทช.จึงแนะนำบีทีเอสย้ายให้ย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 - 2495 เมกะเฮิรตซ์ โดยระหว่างการย้ายทีโอทีจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ตามแนวรถไฟฟ้าไว้ชั่วคราวจนกว่าบีทีเอสจะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ ภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย. หลังจากปิดให้บริการคาดว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์ในวันที่ 30 มิ.ย.2561

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบีทีเอส ที่ยืดเยื้อจนเจอกระแสรุมถล่มแบบหนักๆ สะท้อนถึงสไตล์การทำธุรกิจที่หนุนส่งให้เจ้าของและผู้บริหารบีทีเอสร่ำรวย ขณะที่ “#ยกเลิกสัมปทาน BTS” ได้สะท้อนความรู้สึกของผู้โดยสารที่ประสบชะตากรรมกับการให้บริการของบีทีเอสมาอย่างยาวนาน ด้วยคงมองว่าบีทีเอสทำตัวเป็น “เสือนอนกิน” กอดสัญญาสัมปทานประเภท “เจ๊งเช้า เจ๊งเย็น ไม่เน้นบริการ ฟันแต่กำไร” ที่เปิดช่องให้ขึ้นค่าโดยสารจนแพงหูฉี่แต่บริการไม่เอาอ่าว

ณ เวลานี้บีทีเอส ร่ำรวยอู้ฟู่ขนาดไหน ตามไปดูสถานะทางธุรกิจของบีทีเอสและธุรกิจในเครือที่แตกไลน์ออกไปสร้างความมั่งคั่งให้กับนายคีรี ชนิดที่เกินคาดหมาย โดยธุรกิจที่แตกไลน์ออกไปที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำนั้น ยังชวนให้จับตามองด้วยว่ากลายเป็นแหล่งรายได้หลักแซงหน้ารถไฟฟ้าบีทีเอสไปแล้วเสียด้วย

นิตยสาร Forbes Thailand เกาะติดเส้นทางความร่ำรวยของนายคีรี กาญจนพาสน์ นับแต่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาะฮ่องกงปักหลักธุรกิจในไทยพร้อมกับพี่ชาย นายอนันต์ กาญจนพาสน์ เจ้าของอาณาจักรเมืองทองธานี โดยโฟกัสของนายคีรี พุ่งเป้าไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายแรกเมื่อ 25 ปีก่อน มาในวันนี้การลงทุนผลิดอกออกผลเหนือคาดสามารถก้าวสู่บริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์กว่าแสนล้านบาท พร้อมติดสปีดการเติบโตหลังช่วงชิง 2 โครงการใหม่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.05 แสนล้านบาท ความแข็งแกร่งนี้เสริมสร้างด้วยการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาผนึกกำลังกันภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งประกอบด้วย BTS บมจ. ซิโน-ไทย เอ็น จีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) โดยถือหุ้น 75% 15% และ 10% ตามลำดับ

“พื้นที่สายสีชมพูและสีเหลืองนั้นมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนกรุงเทพฯ รวมถึงกลุ่มคนในย่านนี้กว่า 50% ยังใช้รถไฟฟ้าเป็นพาหนะในการสัญจรอีกด้วย” นายคีรี มองโอกาสธุรกิจในอนาคต

ในเวลานี้ บีทีเอส ยังเข้าร่วมประมูลไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท อีกด้วย โดยจะเป็นการเข้าร่วมลงทุนในนามพันธมิตรกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ขณะที่ บอร์ด ปตท. ได้อนุมัติการเข้าร่วมทุนเป็นพันธมิตรกับบีทีเอสร่วมประมูลในโครงการนี้เช่นกัน บีเอสอาร์ ยังพร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจะเปิดประมูลในปี 2561 มูลค่าไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท และยังสนใจที่จะขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสู่อาเซียนที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย

หากการประมูลรอบนี้ กลุ่มพันธมิตรบีทีเอส เข้าวิน ก็เท่ากับพยัคฆ์ติดปีก เพราะสัมปทานที่ได้คล้ายเป็นสัมปทานผูกขาด งานนี้คงถูกจริตนายกวิน กาญจนพาสน์ ทายาทเจ้าสัวคีรี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BTS Group Holding ที่เคยให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand เอาไว้ว่า “ผมชอบธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง”

ข้อมูลที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 31 มี.ค.2561 ระบุว่า บริษัท BTS มีสินทรัพย์รวม 106,057.57 ล้านบาท รายได้รวม 17,448.04 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,415.71 ล้านบาท ปัจจุบันบีทีเอส มีจำนวนผู้โดยสารเกือบ 700,000 คน/วัน จากทั้งสองเส้นทางคือ สายสุขุมวิทและสายสีลม ที่มีระยะทางรวมกว่า 36 กิโลเมตร

ผู้โดยสารบีทีเอส ที่ขาขวิดลุ้นไปกับขบวนรถไฟฟ้าจะมาไม่มา เห็นแล้วใช่ไหมว่าบีทีเอสมีแต่ไต่ระดับเป็นขาขึ้น ร่ำรวยขนาดไหน ต่อยอดธุรกิจไปได้กว้างใหญ่ไพศาลเช่นใด แต่อย่าไปถามว่าแล้วทำไมไม่วางแผนลงทุนติดตั้งระบบตัดสัญญาณรบกวนให้การเดินรถไฟฟ้าไม่ขัดข้องทั้งที่รู้อยู่เต็มอก เพราะเรื่องความเดือดร้อนของผู้โดยสารอาจยังไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับแรกสุด เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีปัญหาสะสมมาจนหนักหน่วงเช่นที่เกิดขึ้นจนวิกฤต

เป้าหมายความสนใจของเจ้าของและผู้บริหารบีทีเอส ที่มาก่อนความทุกข์ร้อนของผู้โดยสาร อาจจะอยู่ที่เรื่องการขอต่อสัญญาสัมปทาน ที่จู่ๆ “หม่อมหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.ขวัญใจประชาชน ก็นึกครึ้มต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ทิ้งเอาไว้ก่อนพ้นตำแหน่งไม่นาน จากสัญญาเดิม 17 ปี หมดในปี 2572 เพิ่มให้อีก 13 ปี รวมอายุสัมปทานเป็น 30 ปี ไปหมดปี 2585 เป็นการต่อสัญญาที่มีคดีเข้าข่ายฮั้ว-เอื้อประโยชน์ ที่ “ดีเอสไอ” ชงมาให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว แต่เรื่องยังเงียบจนบัดนี้

ไม่ใช่เพียงแต่สัญญาสัมปทานที่ได้ยืดออกไปสมใจนึกเท่านั้น การแตกไลน์ธุรกิจที่เกาะเกี่ยวไปกับธุรกิจรถไฟฟ้าก็ดูเหมือนจะน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะทำรายได้อย่างงดงาม โดยธุรกิจที่ทำรายได้ถึง 41% ของรายได้รวมคือธุรกิจสื่อ ขณะที่รายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าคิดเป็น 37% ของรายได้รวมของทั้งเครือเท่านั้น

กลุ่มธุรกิจโฆษณาและมีเดีย บริหารงานโดยบริษัท VGI Global Media จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS และเป็นโครงการที่นายกวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายของนายคีรี ปั้นขึ้นมากับมือตั้งแต่ต้น “มันคืองานแรก ของผม” นายกวิน พูดถึง VGI ธุรกิจสื่อเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของ BTS ประกอบด้วย รถไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และการให้บริการด้านอื่นๆ

ในส่วนของธุรกิจสื่อนอกจากการโฆษณาภายในสถานีรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และป้ายโฆษณา ขนาดใหญ่บนอาคารสำนักงาน และหรือ ทำเลอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ แล้ว ยังรวมถึงบัตร Rabbit Smartcard ด้วย ภาพของผลกำไรของบริษัทที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงศักยภาพดังกล่าว โดยกำไรจากธุรกิจสื่อคิดเป็น 48% ของกำไรรวมของ BTS ในขณะที่กำไรจากธุรกิจรถไฟฟ้าคิดเป็น สัดส่วน 42%

นายกวิน ยังบอกกับ Forbes Thailand ว่ากำไรจากธุรกิจสื่อของ BTS ยังสามารถเติบโตได้ถึง 33% จากปีก่อนหน้า และน่าจะเติบโตต่อได้อย่างแข็งแกร่ง ความสำเร็จจากการทำธุรกิจโฆษณาของ VGI และบัตรแรบบิท สามารถทำรายได้ให้บริษัทสูงถึง 2 เท่า หรือกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท ด้วยแนวคิดของสองพ่อลูกที่ต้องทำธุรกิจทุกประเภทให้เป็น Exclusive

นอกจากนี้ ธุรกิจสื่อของ BTS ยังได้ขยายกิจการก้าวไกลไปถึงต่างประเทศด้วย ในขณะที่ธุรกิจรถไฟฟ้ากำลังมองโอกาสในการเข้าลงทุนที่ประเทศจีน รวมถึงแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟไทย-จีน แต่ธุรกิจสื่อไปไกลกว่านั้น โดยบริษัทได้ตั้ง joint venture ร่วมกับ Titanium Compass เพื่อดูแลสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า 31 แห่งของ Mass Rapid Transit Corp. ในประเทศมาเลเซียซึ่งเริ่มเปิดในปลายปี 2559 ที่ผ่านมา

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น หลังจาก BTS Group Holding เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2558 และเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น บริษัท U City จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อกิจกิจการโรงแรม 24 แห่ง และบริหารจัดการโรงแรมในยุโรปตะวันออกอีก 36 แห่ง มูลค่าการลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท และยังร่วมทุนกับบมจ.แสนสิริ ทำโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน 9 โครงการ มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท และยังต่อยอดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีก 25 โครงการ มูลค่าร่วม 100,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างปี 2558- 2562 อีกด้วย

ฉายภาพความมั่งคั่งของบีทีเอสกรุ๊ปให้เห็นกันแล้ว ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ ถึงขบวนรถจะขัดข้องบ่อยแต่ขอให้เชื่อมั่นอย่าได้สงสัย เพราะ “มาตรฐานเดินรถ ยังดี มีคุณภาพ” เพียงแต่การลงทุนติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณรบกวนช้าไปหน่อยเท่านั้นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น