xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก.ม.ลูกพรรคการเมือง "ของร้อน"ย้อนแย้งยุ่งเหยิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งเปิดฉากสาวหมัดกันว่าด้วยปม“เซตซีโร” ไปไม่นาน กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ของร้อนๆ ก็ประเคนใส่มือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อเนื่อง

กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง นับเป็นกฎหมายลูกฉบับร้อนแรงที่สุดฉบับหนึ่งใน 10 ฉบับของ“ซือแป๋”มีชัย ฤชุพันธุ์ แอนด์เดอะแก๊ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้บรรดาป้อมค่ายพรรคการเมือง ก็ออกโรงเปิดหน้ามาวิพากษ์วิจารณ์ปมล่อแหลมกันแบบซอยยิก ชนิดไม่ต้องไปอ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ เพราะเอามาสาวไส้กันจนล่อนจ้อนแล้ว!!!

กรธ.ถูกตั้งคำถามด้วยความคั่งแค้นจากบรรดานักการเมืองว่า จงเกลียดจงชังอะไรกันนักหนากับพรรคการเมือง ถึงกำหนดเจตนารมณ์ให้ ตั้งยาก ยุบง่าย!!!

ฤาจะตัดหัวคั่วแห้งให้พรรคการเมืองสูญพันธุ์ไปจากประเทศนี้เสียเลย

จั่วหัวกันที่เรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง วุ่นวายหนักมากฝ่ายการเมืองเถียงตะบันราด เพราะบางพรรค เช่น พรรคกะยาจก พรรคแบกะดิน ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน 
 
ล่าสุด กรธ.ตั้งเป้าไว้ที่พรรคการเมืองละ 1 ล้านบาท แต่ไม่หนำใจ กมธ.ของสนช.จัดเพิ่มไปที่ พรรคละ 1.5 ล้านบาทถ้วน ใครไม่จ่าย แม้จะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ก็คงจะเป็นได้แค่พรรคกิ๊กก๊อก ไม่มีสิทธิมีเสียงเต็มเหนี่ยวในทางการเมือง จะส่งผลให้เสียสิทธิอะไรต่างๆ มากมาย

ประเด็นนี้ มองตรรกะแล้วก็ต้องป้องปากขำเบาๆ ก็ในเมื่อเจตนาของคสช. และ กรธ. ต้องการตัดวงจรอุบาทว์ระบบนายทุนครอบงำพรรค ก็ยังจะตั้งเงื่อนไขใช้เงินใช้ทองอยู่ได้ พับผ่า !!

ส่วนเงินบริจาคพรรคการเมืองที่ระบุให้สมาชิกจ่ายคนละ 100 บาท ที่อ้างว่าต้องมีเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ฝ่ายหนึ่งก็ทุ่มเถียงว่าควรมีหรือไม่มี เพราะเท่ากับผลักภาระให้ประชาชน เงินร้อยเดียวสำหรับบางคนไม่มีค่า แต่อีกหลายคนนับว่ามีค่ามาก คนหาเช้ารับประทานค่ำ คงไม่เต็มใจจะเสียเงินส่วนนี้เท่าไหร่ อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการไปไล่เก็บเงินจากคนเป็นแสน เป็นล้าน
 
กระนั้นอีกฝ่าย อาทิเช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ กลับยุให้เก็บเยอะๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็วันละบาท ปีหนึ่งก็ 365 บาท ไปซะฉิบ

ส่วนเกณฑ์การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี หรือ 10,000 คนภายใน 4 ปี แม้จะมีการปรับเปลี่ยนสมการตัวเลขอย่างไรก็ตามที แต่ปมเงื่อนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคเอสเอ็มอี หรือพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก จะไปหาคนจากไหน พรรคใหญ่ๆ ก็เอาไปหมดแล้ว เมื่อหาไม่ได้ก็เสี่ยงถูกลบชื่อออกจากสารบบพรรคการเมือง

ขณะที่พรรคใหญ่ๆ ก็ต้องปวดเศียรเวียนกบาลกับการคัดกรองรายชื่อสมาชิกพรรคที่มีเป็นล้านๆ ขืนซ้ำซ้อน หาที่มาที่ไปไม่ได้ มีสิทธิ์ถูกยุบพรรคเอาง่ายๆ เข้าทำนองตั้งยาก ยุบง่าย ตามสโลแกน กรธ.จริงๆ

ประเด็นสำคัญที่ดูแล้ววุ่นวายอลเวงแน่นอนคือ ระบบไพรมารีโหวต ที่เป็นของใหม่เอี่ยมเปิดซิงในบ้านเรา กว่าจะเข้าที่เข้าทาง รับรองเหนื่อย ว่าที่ 7 กกต. พญาเสือติดปีกหางชี้ฟ้า มีหวังทำงานกันมือระวิง หากสรรหาคนมาไม่ดี ร่างกายไม่แข็งแกร่ง มีหวังตายคาเก้าอี้ การดีไซน์ให้มีสาขาพรรค ตัวแทนพรรค เป็นคนเสนอรายชื่อผู้สมัครส.ส. แทนการสั่งตรงจากส่วนกลางผู้บริหารพรรคโดยตรง ทั้งพยายามแบ่งโควตาชาย หญิง ถือเป็นความพยายามที่จะตัดวงจรการครอบงำพรรคจากนายทุน หรือทลายอำนาจรวมศูนย์ ต้องการทำให้พรรคดูเป็นของมวลชน ประชาชน
 
แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะบ้านเรามันเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์มาแต่ไหนแต่ไร จะมีสาขาพรรค ตัวแทนพรรค ที่ไหนกล้าหือ กับนายทุนเจ้าของพรรค เอาเงินฟาดหัวก็หงอกันหมดตามเคย การเมืองบ้านเรามันถึงไปไม่ถึงไหน สุดท้ายก็กลับสู่วงจรเดิมๆ แต่อย่างน้อยๆ ก็ถือว่าได้เริ่มต้น

เพียงแต่มันจะทันกาลหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปี อาจเตรียมตัวกันไม่ทัน ไหนจะต้องเลือกกันเองก่อน แล้วค่อยมาเลือกจากประชาชน เลือกกันหลายครั้งหลายที สุดท้ายประชาชนนั่นแหละอาจจะงง

อีกประเด็นที่น่าหวาดหวั่นครั่นคร้าม คือบทลงโทษที่รุนแรงสะท้านใจ นักการเมืองสาปแช่งก่นด่ายันลูกบวช ว่ากรธ.เขียนโดยมโนภาพในอดีต ขีดเส้นเขี่ยทิ้งนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่ไม่ชอบขี้หน้า ตราหน้าว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้ประเทศตลอดมา

อย่างไรก็ตาม การดีไซน์ของกรธ.แบบนี้เอง ก็ถูกครหานินทา แม้กระทั่งคนในแม่น้ำ 5 สาย ว่าจะทำให้ไม่มีคนรุ่นใหม่ คนดี คนเก่ง กล้าเข้ามาเล่นการเมือง เพราะชั่งน้ำหนักแล้วเปลืองตัวมากกว่า เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง เสี่ยงเสื่อมเสียชื่อเเสียงวงศ์ตระกูล มากกว่าสร้างชื่อ
 
แม้ กรธ.จะออกตัวว่าใครทำดีไม่เห็นต้องกลัว รัฐธรรมนูญไม่ทำร้ายท่านแน่นอน แต่ใครจะไปรู้ เรื่องแบบนี้ กติกาหยุมหยิมเสี่ยงผิดพลาดทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ เข้าตำรากิ้งกือตกท่อมีให้เห็นเยอะแยะไป

และที่วิจารณ์กันกว้างขวางก่อนหน้านี้ ก็เรื่องของโทษประหารชีวิต หากใครเข้าไปข้องแวะกับการทุจริต ไม่ใช่แค่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง แต่อาจมีโทษถึงตาย แค่ได้ยินก็หนาวสะท้าน โทษประหารประเทศไทยเขายกเลิกไปแล้วไม่ใช่หรือ ก็เพิ่งว่ากันไปหลัดๆ แม้จะมีโทษแต่ก็ไม่เคยใช้มานานแล้ว ถามว่าแบบนี้ใครจะกล้าเข้ามาเล่นการเมือง

แค่เบื้องต้นง่ายๆ กรธ.เอ่ยอ้างสรรพคุณเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกอณูรูขุมขน ค่าใช้จ่ายของพรรค เรื่อยไปจนถึงทรัพย์สินตัวบุคคล ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ งานนี้คนไม่อยากเปิดเผย ไม่อยากเปิดหน้าโชว์สตางค์ ก็ถอยกรูด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังดีที่ว่าไม่มีปมเงื่อนเรื่องเซตซีโรพรรคการเมือง มาให้ฮือฮาปลาร้าเดือด ชีช้ำเหมือน 5 เสือกกต. หากต้องล้างไพ่กันใหม่ มีหวังวุ่นวายหนักแน่

ต้องจับตาดูกันว่ากติกาการเมืองแบบใหม่ ที่ออกแบบโดยกรธ. ว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ ถือเป็นการลองผิดลองถูกอีกครั้ง โดยคณะกรรมการปัญญาชนที่ไม่ค่อยจะมีพื้นฐานการลงสนามเลือกตั้ง เหมือนเช่นนักการเมือง
 
คนเขียนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้เขียน ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้จริง หรือรอวันฉีกทิ้งเหมือนฉบับก่อนๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น