xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา “คนเนชั่น” ล้มบนฟูก สถานีต่อไป “ไทยพีบีเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เต็งหนึ่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความระส่ำระสายของสื่อใหญ่ค่ายบางนาที่ยังอยู่ในภาวะเอาไม่อยู่ ถูกจับโยงเข้ากับจังหวะของการสรรหา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในเวลานี้อย่างแยกไม่ออก ด้วยว่าอดีตลูกหม้อเก่าค่ายเนชั่น นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ หนึ่งในรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหา คาดหมายกันว่าเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่ง

ว่ากันว่า หากนายอดิศักดิ์ เข้ายึดหัวหาดไทยพีบีเอส ดังกระแสร่ำลือที่ว่าเคลียร์กันลงตัวล่วงหน้าสำเร็จแล้วจากหลายฝ่าย อย่างน้อยๆ สถานีไทยพีบีเอส ก็จะเป็นที่หยั่งขา Next Station ของเพื่อนพ้องน้องพี่จากค่ายบางนา ในภาวะที่อุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบโดยเฉพาะสื่อเก่ากำลังทยอยล้มหายตายจากหรือลดขนาดลงเพื่อเอาตัวรอด

แต่ไทยพีบีเอส ซึ่งมีปมร้าวลึกอยู่ภายในฝังรากมาตั้งแต่ก่อเกิด กลายเป็นก๊กเป็นเหล่าเป็นทุนเดิม ลามเลยมาถึงกรณีการซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ว่ากันว่าเวลานี้เป็นเงื่อนไขจุดชนวนความไม่ลงรอยกันระหว่างคณะกรรมการนโยบาย ที่มี นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธาน กับสปอนเซอร์ใหญ่ของไทยพีบีเอส คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็คงไม่ใช่สถานีหน้าที่น่าอภิรมย์สักเท่าใดนัก สำหรับนายอดิศักดิ์ หรือคนค่ายเนชั่น ที่คิดไปพักพิง

ไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ไม่ว่าจะหันเหหัวเรือไปยังทิศทางใดล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งสิ้น ไม่ใช่แต่ค่ายเนชั่น ที่ลุ้นระทึกกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหนทางรอด แม้แต่ไทยพีบีเอส ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนแต่มีปัญหาเรื่องทิศทางและนโยบายที่ไปกันคนละทางสองทาง สภาพการณ์ก็คล้ายจะเป็นเฉกเช่นเดียวกัน

ก่อนอื่น มาอัพเดทสถานการณ์ของค่ายเนชั่นกันเป็นอันดับแรก ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งผลการประชุมผลการประชุมผู้บริหารและฝ่ายสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า บริษัทแจ้งหารือเรื่องการเปิดโครงการเอร์รี่รีไทร์แบบสมัครใจ เป็นรอบที่ 3 จากทุกบิสสิเนสยูนิต ยกเว้นมหาวิทยาลัยเนชั่น ระหว่างวันที่ 15 - 30 มิ.ย. 2560มีผล 16 ก.ค. 2560และจ่ายเงินวันที่ 31 ก.ค. 2560

โดยมีอัตราการจ่ายชดเชย ดังนี้ ผู้ที่มีอายุงานต่ำกว่า 10 ปี จ่ายตามกฎหมาย, 10 - 15 ปี จ่าย 12 เดือน, อายุงาน 15 -20 ปี จ่าย 13 เดือน, อายุงาน 20 ปี ขึ้นไป จ่าย 15 เดือน ซึ่งสหภาพฯ เห็นด้วยกับการเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์แบบสมัครใจ แต่สหภาพฯยืนยันว่า มติของสหภาพฯ คือ การจ่ายชดเชยในอัตราเดิมของโครงการที่ผ่านมา คือ อายุงาน 10 - 15 ปี จ่าย 12 เดือน, อายุงาน 15 - 20 ปี จ่าย 14 เดือน, อายุงาน 20 ปี ขึ้นไป จ่าย 16 เดือน

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารโดยนายเทพชัย หย่อง แจ้งว่า จะรับข้อเสนอของสหภาพฯ ไปพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจของทั้งเครือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ยังดำเนินการต่อไปตามปกติ ขณะที่การเพิ่มทุนอย่างเร็วที่สุด คือ เดือน ธ.ค. ของปีนี้ สำหรับช่อทีวี now อยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่มีกระบวนการซื้อขาย เพราะเงื่อนไขระหว่างผู้ซื้อกับผู้ชายไม่ลงตัวกัน

สถานการณ์ของค่ายเนชั่น เวลานี้ จึงทำให้ย่างก้าวของนายอดิศักดิ์ อดีตลูกหม้อเก่าเนชั่นที่คุมธุรกิจทีวีที่ลาออกจากเนชั่น เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560เพื่อไปสมัครเป็นผอ.ไทยพีบีเอส ถูกจับจ้องว่าหากเขาได้รับการเลือกมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่จะมีการดึงจากคนเนชั่นเข้ามาเสริมทัพไทยพีบีเอส หรือไม่ เหมือนสมัยเมื่อคราวที่นายเทพชัย หย่อง จากเนชั่นที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ผอ. ไทยพีบีเอส ที่ปรากฏว่ามีลูกทีมจากเครือเนชั่นเข้ามาร่วมงานอยู่มากหน้าหลายตา และบางคนก็ยังคงอยู่ยาวจนถึงเวลานี้

“ผมขออนุญาตลาออกจากเครือเนชั่นกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่ให้โอกาสผมทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อไปสมัครเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อาสาและเสนอตัว มุ่งมั่นทำงานสื่อสาธารณะแห่งนี้ให้เป็น "สื่อของทุกคน" เพื่อฟื้นศรัทธา กลับมาเป็นสถาบันสื่อสาธารณะที่สังคมไทยเชื่อมั่นไว้วางใจและฝากความหวังไว้ได้อย่างมั่นใจ” นายอดิศักดิ์ โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวในโอกาสอำลาเนชั่น เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560

เรียกว่าเต็งหนึ่งและนอนมาก่อนที่จะมีการเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 8 คน( นางสาวฐานิตรา สร้างสุขดี ผู้สมัครคนที่ 9 ถอนตัวไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัว) แสดงวิสัยทัศน์รอบแรกในวันที่ 28 มิถุนายน2560 นี้เสียอีก

“แสดงวิสัยทัศน์ไทยพีบีเอสรอบแรก 28 มิ.ย.พร้อมครับ!!! ขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ให้กำลังใจ ขอสื่อสารสาธารณะ ขอฟังข้อเสนอแนะ อยากเห็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมีทิศทางอย่างไร อยากอ่านความเห็นของทุกท่าน”นายอดิศักดิ์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560

แต่นายอดิศักดิ์จะสามารถฟื้นศรัทธาฟื้นความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานีทีวีสาธารณะแห่งนี้ที่ดูภายนอกเหมือนจะร่มเย็นเป็นสุขกันดี แท้ที่จริงแล้วมีแต่ความคุกรุ่นอยู่ลึกๆ มาโดยตลอด

ปมล่าสุดคือเรื่องการซื้อหุ้นกู้ของเอกชน ยังมีอาฟเตอร์ช็อกมาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สงบ แว่วว่าเรื่องนี้คณะกรรมการนโยบาย มีความเห็นว่า คณะผู้บริหารชุดก่อน ที่มี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการตัดสินใจไปลงทุนซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนั้น หมิ่นเหม่ต่อความผิดตามกฎหมายอาญาฯ มาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ

แต่ทางฟากฝั่งสปอนเซอร์ใหญ่ไทยพีบีเอส คือ สสส. นั้นถือหางหมอกฤษดา เห็นว่าไม่มีความผิดอันใด

ประเด็นข้อกฎหมายผิดไม่ผิดที่เอาไปซื้อหุ้นกู้ครั้งนั้น “ผู้มีอิทธิพลนอกไทยพีบีเอส” ซึ่งปลุกปั้นและช่วยทำคลอดสถานีโทรทัศน์แห่งนี้มากับมือ นั่นคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somkiat Tangkitvanich’ เอาไว้ในช่วงที่มีข่าวร้อนระอุเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า ถึงแม้การซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไทยพีบีเอส ควรทบทวน และคิดใหม่ ทำใหม่

"... มีคำถามว่า Thai PBS ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่?

    "มาตรา 11 ของกฎหมาย Thai PBS เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของ Thai PBS มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งคือดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การที่ Thai PBS ไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด"

".... คำถามในเรื่องนี้ก็คือ Thai PBS ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ .... ผมเห็นว่า ผู้บริหาร Thai PBS ควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง      

       “เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้ครับ”

นี่แค่เรื่องเดียวที่ฉายภาพให้เห็นความเห็นต่างระหว่างคณะกรรมการนโยบาย และสปอนเซอร์ใหญ่ ไม่นับว่าในคณะกรรมการนโยบายด้วยกันก็ใช่ว่าจะมีเอกภาพ เมื่อเพิ่ม ผอ. เข้าไปอีกหนึ่ง เชื่อได้ว่า อย่างน้อยทิศทางของไทยพีบีเอส ก็จะมีถึง 3 สาย ซึ่งต่างเป็นสายแข็งทั้งนั้น

และคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่นายอดิศักดิ์ จะบรรลุปณิธาณมุ่งมั่นทำให้สื่อสาธารณะแห่งนี้เป็น "สื่อของทุกคน" และสถานีต่อไปไทยพีบีเอส ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ใช่สำหรับเพื่อนพ้องน้องพี่ค่ายบางนาที่กำลังตัดสินใจอำลาบ้านเก่าสู่รังใหม่ตามนายคนเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น