xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้กฎหมาย 30 บาท ระวัง“อารมณ์” อยู่เหนือ “เหตุผล” ต้องรอดู “ใคร” กำลังภายในมากกว่ากัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเคลื่อนเกมรุกเพื่อมิให้มีการแก้ไขหรือปรับปรุง “พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” กำลังเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด หลังเวทีประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้น 2 ครั้ง 2 ครา ตกเป็นข่าวครึกโครมด้วยการที่ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือและภาคใต้” ประกาศวอล์กเอาต์ พร้อมแสดงจุดยืนชัดเจนว่าให้ยุติการแก้ไขกฎหมายและให้กลับไปนับหนึ่งใหม่

ขณะที่อีก 2 เวทีที่จะจัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 17 มิ.ย.ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่นแอนด์คอนเวนชัน เซนเตอร์ จ.ขอนแก่น และภาคกลางวันที่ 17 มิ.ย.ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ก็คงจะดำเนินไปในรูปรอยเดียวกัน

และที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือแถลงการณ์ของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่ออกมาในช่วงจังหวะเดียวกันและสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายเอ็นจีโอ โดยประกาศจุดยืนชัดเจนว่า สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประโยคเด็ดจากชมรมแพทย์ชนบทก็คือ หยุดสุมไฟความขัดแย้งให้สังคม หยุดเพิ่มปัญหาให้นายกฯ และหยุดลักหลับยัดไส้แก้ พ.ร.บ.บัตรทองเกินกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.

“ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศ คาดหวังจากท่านนายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นผู้นำหยุดยั้งการสร้างความขัดแย้งเกิดจากกลุ่มคนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังแอบยัดไส้แก้ไข พรบ.บัตรทองขัดกับเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๙”แถลงการณ์ของชมรมแพทย์ชนบทฟันเปรี้ยงว่ามีการยัดไส้แก้กฎหมาย และจำเลยก็คือกลุ่มคนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าคือใคร ส่วนจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ดังนั้น สามารถฟันธงว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แม้ที่มาของการแก้ไขจะมาจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) เคยทักท้วงการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ตาม

ที่น่าสนใจก็คือ หากตรวจสอบรายชื่อ “ฝ่ายดำเนินการ” ที่จัดเวทีประชาพิจารณ์และแก้ไขกฎหมาย ก็จะพบว่า เป็นกลุ่มคนที่น่าเชื่อถือและถ้าจะว่าไปแล้วก็น่าจะมีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายภาคประชาชนเป็นอย่างดี เช่น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ประธานจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่ภาคใต้ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น จนเป็นที่น่าสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงคุยกันไม่ได้

เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ทั้งสองกลุ่มต่างมีภาพลักษณ์ของความเป็น “คนดี” ทั้งสิ้น

“ต้องมีความเชื่อใจ เราจะเอาความคิดเหล่านี้ประมวลในกฎหมายใหม่ เราแสดงความจริงใจเปิดเวที 4 ภาค จะรวบรวมทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.กลางเดือนกรกฎาคมนี้ พวกผมมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด แต่ต้องย้ำว่า เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นเรื่องอ่อนไหว และเกี่ยวพันกับประชาชน อาจกังวลเรื่องกระทบสิทธิ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีทางเสียสิทธิ มีแต่ดีขึ้น แต่จะดีภายใต้ขอบเขตการคลังของประเทศ เงินแสนกว่าล้านในกองทุนจะต้องไม่ทำให้ทุกคนเสียประโยชน์”รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวยืนยันอย่างเข้าใจปัญหา

นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ของการแก้กฎหมายบัตรทองในครั้งนี้

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งชื่อ “หลักประกันสุขภาพ...คนดีมาจับมือกันเถิดครับ” เอาไว้ในบางช่วงบางตอนอย่างน่าสนใจและมีผู้แชร์ต่อไปเป็นจำนวนมากว่า

“ผมกล้าบอก ยืนยัน นั่งยัน และนอนยันว่า ทั้งสองฝ่ายข้างต้นล้วนยืนบนพื้นฐานจิตใจที่ดี ปรารถนาดีต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่ทุกคนก็ต่างฝ่ายต่างเริ่มงงว่าทำไมจึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่เห็นวี่แววว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร และจะสิ้นสุดอย่างไร เพราะหากคราวนี้รีบแก้รีบผลักให้เกิดการปฏิรูปไปอีกแบบตามที่กำลังทำ ก็ดูเหมือนจะเห็นปัญหาที่ยังไม่จบสิ้นเพราะอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แล้วจะทำอย่างไรดี? ผมคงชวนให้คิดกัน...”

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า อะไรคือข้อกังวลที่สุดของฝ่ายค้าน ก็ต้องตอบว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “ความขัดแย้ง” ที่มีมาในอดีตจนสร้างความหวาดระแวงไปต่างๆ นานาถึงขั้นอาจใช้คำว่า “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” และยากยิ่งที่จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นซึ่งกันและกันได้

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ยกมากล่าวอ้าง ไม่ว่าจะเป็น “การเพิ่มสัดส่วนของผู้ให้บริการที่เข้ามาแทนที่ตัวแทนภาคประชาชน” ดังที่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพสรุปเอาไว้ว่า “ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” เป็นเพียงข้อปลีกย่อยที่พอจะมีประเด็นอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรถ้าเทียบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ในวงการสาธารณสุขไทย

กล่าวคือการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากบอร์ด 30 คน เพิ่มเป็น 35 คน โดยเพิ่มผู้ให้บริการเข้ามา 6 คน แต่ตัดผู้แทนภาคประชาชน ลดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้น้อยลง

ภาคประชาชนเกรงว่าการลดสัดส่วนผู้แทนฝ่ายตนจะทำให้การเรียกร้องอะไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นไปได้ยาก เป็นการทำลายหลักการของระบบประกันสุขภาพที่ต้องแยกฝ่ายซื้อบริการกับฝ่ายให้บริการออกจากกัน ขณะที่ฝ่ายผู้ให้บริการหรือฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขก็มองว่า การเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจะได้รับทราบข้อมูลและปัญหาจากผู้ให้บริการโดยตรง

ส่วนข้อท้วงติงเรื่องการให้สิทธิกับประชาชนคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่ครอบคลุมบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่า ไม่ถูกต้อง คณะกรรมการอธิบายว่าประเทศไทยมีงบประมาณที่จำกัดจึงให้สิทธิ์กับคนไทยก่อน ส่วนบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและอยู่ชายแดน รัฐควรมีการพิจารณางบฯส่วนอื่นมาดูแลเช่นเดียวกับการร่วมจ่ายที่มีคำยืนยันจากคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่า จะไม่มีการแก้ไข เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมมีระบุอยู่แล้วว่า การร่วมจ่ายให้เป็นทางเลือกในอนาคต
ฯลฯ

“อยากให้คนที่ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขจริงๆ บางคนยกประเด็นออกมามองถึงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในร่าง พ.ร.บ.เองไม่ได้เขียนสิ่งนั้นไว้เลย เป็นการกลัวไปก่อนทั้งสิ้น หากเป็นแบบนี้คิดว่ามันคงจะลำบากในการจับประเด็นที่เกิดขึ้น ส่วนที่บอกว่ามีประชาชนเป็นผู้แทนคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เพียง 2 คน ก่อนที่จะลงนามตั้งได้มีการสอบถามก่อนแล้วว่า ทุกคนอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่ คณะกรรมการฯ มีทั้งหมด 27 คนที่เหลือใช่ภาคประชาชนหรือไม่ เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็เป็นตัวแทนประชาชน เพราะมาจากการเลือกของประชาชน หรือท่านอื่นๆ ก็เคยทำงานภาคประชาสังคมและประชารัฐ เป็นต้น คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ จึงมีความสมดุลทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และส่วนตัวไม่เคยเข้าไปล่วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และการทำหน้าที่ไม่มีข้อเคลือบแฝงแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นต้องเชื่อและไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้” นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.กล่าวในแถลงข่าวเรื่อง “ความจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

แต่ถามว่า ชี้แจงแล้วจะฟังไหม
ตอบได้เลยว่า ไม่
ดังนั้น บทสรุปของเรื่องนี้ “อารมณ์” อาจอยู่เหนือ “เหตุผล” และใครมีกำลังภายในมากกว่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น