xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หรือต้องสร้างคุกเพิ่มไว้ขังชาวบ้านล่วงล้ำลำน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมู่บ้านเกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา อีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับใหม่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มีเรื่องปวดหัวให้ตามแก้ไม่เว้นแต่ละวัน สำหรับรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ประกาศตั้งแต่วันแรกของการเข้ารับตำแหน่งว่าภารกิจสำคัญคือการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในทุกๆ ด้าน

แต่แล้วการปฏิรูปประเทศในบางด้านกลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาให้ต้องตามแก้ อย่างเช่น กรณีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุเอาไว้ว่า ในปัจจุบันมีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลําน้ําโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติสําหรับเจ้าท่าในการดําเนินการเกี่ยวกับอาคาร หรือสิ่งอื่นใดที่ปลูกสร้างดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมบทกําหนดโทษโดยปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อให้การตรวจและออกใบสําคัญสําหรับเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มาตรา 18 ของกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดให้ผู้ที่ได้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเล หรือบนชายหาดของทะเลโดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ก่อนแล้ว ต้องไปแจ้งการกระทำดังกล่าวภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ คือภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในพื้นที่รับผิดชอบ หากไม่มาแจ้งภายในกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าท่า หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

เมื่อไปแจ้งแล้ว ผู้แจ้งต้องยอมรับผิด และจ่ายค่าปรับในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 500 บาท และไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท เมื่อจ่ายค่าปรับแล้ว หากต้องการจะอยู่ต่อ ต้องให้กรมเจ้าท่าพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ถ้าอนุญาตให้อยู่ได้ ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปีในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 50 บาท และจ่ายเป็น 2 เท่า ถ้าใช้เพื่อประกอบธุรกิจ

แต่ถ้ากรมเจ้าท่าไม่อนุญาตก็ต้องรื้อถอนออกไป โดยให้เวลาตั้งแต่ 30 วันถึง 1 ปี หรือมีคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่น

ข้อบังคับของกฎหมายดังกล่าว สำหรับนายทุนนักธุรกิจคงไม่มีปัญหาสำหรับการจ่ายค่าปรับหรือค่าเช่าเพื่อให้ได้อยู่ต่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับชุมชน ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำทั่วไป ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ลำคลอง หรือริมแม่น้ำ มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะอัตราค่าปรับหรือค่าเช่าตามที่กฎหมายใหม่กำหนดก็ไม่ใช่น้อยๆ

“หากเจ้าท่าจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ก็จะต้องสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อไว้ขังคนจนแทนค่าปรับด้วย”นายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเล จังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560

นายอาหลีบอกว่า ชุมชนชายฝั่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ชายฝั่งทะเลและลำคลองต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษหลายชุมชนหลายครอบครัวมีเสาเรือนอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ตั้งบ้านอยู่ริมตลิ่งและชายฝั่ง อย่างชุมชนชายฝั่งกระบี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ประกอบอาชีพสุจริต ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าปรับ การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จึงสร้างความปั่นป่วนอย่างมาก ที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองหรือชายทะเล ล้วนเข้าข่ายล่วงล้ำลำน้ำทั้งสิ้น

เฉพาะที่กระบี่ มีหมู่บ้านริมน้ำ 5 อำเภอ 30 หมู่บ้าน จำนวนมากกว่า 1 หมื่นครัวเรือน ประกอบด้วย อ.อ่าวลึก อ.เมือง อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา หากว่ากันตามกฎหมายฉบับนี้จะมีคนเดือดร้อนหลายหมื่นคน หากมีการเสียค่าปรับก็จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

อีกพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้อย่างแน่นอน ก็คือเกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา แหล่งท่องเที่ยวที่มีคนรู้จักไปทั่วโลก เพราะเป็นหมู่บ้านกลางน้ำ เป็นที่อาศัยทำมาหากินของชาวบ้านมานานกว่า 300 ปีแล้ว โดยบ้านเรือนของชาวบ้านประมาณ 360 ครัวเรือนได้ปลูกสร้างอยู่กลางน้ำ บางส่วนมีการดำรงชีพด้วยการทำประมง ซึ่งจะเข้าข่ายเป็นผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำ ต้องไปแจ้งการครอบครอง จ่ายค่าปรับ ขออนุญาตใหม่ และจ่ายค่าเช่ารายปีให้กรมเจ้าท่า

ส่วนที่จังหวัดสตูลมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบตามที่ได้แจ้งต่อสภาเกษตรจังหวัดจำนวน 1,442 ครอบครัว 4,326 คน พื้นที่กระชังสัตว์น้ำ 138,432 ตารางเมตร และสภาเกษตรกรจังหวัดสตูลได้ขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า ได้มีเวลาปรับตัว และสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย

ด้านนายธงชัย อิ๊ดเหล็ง ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เพื่อขอให้ สนช.แก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ที่กำหนดเส้นตายให้ไปแจ้งการล่วงล้ำลำน้ำภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เนื่องจากมีประชาชนใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนายสุรชัยรับปากว่าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการคมนาคม สนช.พิจารณาดำเนินการ เพื่อให้ได้คำตอบก่อนวันที่ 22 มิถุนายนนี้

ขณะเดียวกันได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ให้ตรวจสอบว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงว่า กสม.ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

ดังนั้น กสม.จึงได้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย 1. คณะรัฐมนตรี, คสช. และรัฐสภา ควรแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อขยายเวลาการแจ้งการฝ่าฝืน ตามมาตรา 18 ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎกระทรวง ตามมาตรา 17 เสร็จสิ้น

2. กระทรวงคมนาคม ควรเร่งแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดให้ “อาคารและบ้านเรือน ศาลาริมน้ำ สะพานทางเดินลงน้ำ” เป็นอาคารที่มีลักษณะและประเภทของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาตโดยต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
3. ครม.ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และ

4. กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเกี่ยวกับเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวมิใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ แต่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน อันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องกำหนดนิยามของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำแยกออกจากสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจำแนกประเภทชุมชนดั้งเดิมออกจากการบุกรุกใหม่

วันที่ 15 มิถนายนที่ผ่านมา ถึงคิวของฝ่ายการเมืองออกโรงเสียที โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำทีมอดีต ส.ส.ภาคใต้ แถลงถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับใหม่นี้ โดยบอกว่า มีประชาชนประมาณ 11 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างล่วงล้ำ เลี้ยงปลาในกระชัง รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีปกติได้ทันก็ขอให้ใช้มาตรา 44 เพื่อให้เป็นคุณกับประชาชน

ขณะที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ มีข้อเสนอถึงรัฐบาล 4 ข้อ คือ 1.ให้ขยายการเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อน 2.กำหนดหลักเกณฑ์การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำน่านน้ำที่ชัดเจน 3.ทบทวนนโยบายที่ขัดแย้งกัน เช่น การเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งกรมประมงส่งเสริม แต่กรมเจ้าท่าจะจับกุม และ 4.ขอให้ทบทวนค่าปรับที่สูงถึงตารางเมตรละ 500 - 10,000 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชน

ก็ต้องจับตาดูว่า รัฐบาล และ คสช.จะหาทางออกของปัญหานี้อย่างไร เพราะขณะนี้ทั้งภาคประชาชน องค์กรอิสระ และนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกันแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น