“หมอปิยะสกล” ตั้งโต๊ะแจงแก้กฎหมาย “บัตรทอง” ไม่กลับไปสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา ลั่นตีตนไปก่อนไข้ ยันในร่าง พ.ร.บ. หลักประกันฯ ไม่มีการพูดถึง ย้ำกระบวนการยกร่างฯ ประชาชนมีส่วนร่วมคำนึงความสมดุลทุกภาคส่วน เครือข่ายผู้ป่วยยัน ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ทำประชาชนเสียประโยชน์ เหตุไม่จ่ายเงินให้เอ็นจีโอช่วยดูแลจัดบริการสาธารณสุข
ความคืบหน้ากรณีการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเอ็นจีโอ มองว่า กระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะมีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เพียง 2 คน และกังวลกรณีว่า การเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการสาธารณสุขเข้ามาเป็นบอร์ด สปสช. จะทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจทำให้ระบบกลับสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา
วันนี้ (15 มิ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. แถลงข่าวเรื่อง “ความจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ว่า อยากให้คนที่ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขจริงๆ บางคนยกประเด็นออกมามองถึงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในร่าง พ.ร.บ. เองไม่ได้เขียนสิ่งนั้นไว้เลย เป็นการกลัวไปก่อนทั้งสิ้น หากเป็นแบบนี้คิดว่ามันคงจะลำบากในการจับประเด็นที่เกิดขึ้น ส่วนที่บอกว่ามีประชาชนเป็นผู้แทนคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เพียง 2 คน ก่อนที่จะลงนามตั้งได้มีการสอบถามก่อนแล้วว่า ทุกคนอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่ คณะกรรมการมีทั้งหมด 27 คน ที่เหลือใช่ภาคประชาชนหรือไม่ เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็เป็นตัวแทนประชาชน เพราะมาจากการเลือกของประชาชน หรือท่านอื่นๆ ก็เคยทำงานภาคประชาสังคมและประชารัฐ เป็นต้น คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ จึงมีความสมดุลทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และส่วนตัวไม่เคยเข้าไปล่วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และการทำหน้าที่ไม่มีข้อเคลือบแฝงแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นต้องเชื่อและไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้
เมื่อถามถึงการแก้ พ.ร.บ. จะทำให้ระบบกลับสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. ไม่มีสิ่งใดที่นำกลับไปสู่ระบบแบบที่มีการพูดถึงเลย ถ้าเป็นการหวาดระแวง หวาดกลัวของแต่ละคนเอง เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะคิด แต่ร่าง พ.ร.บ. ก็เอาตัวหนังสือมาอ่านว่าตรงไหนที่นำไปสู่สิ่งที่พูดว่ามีหรือไม่ ถ้ามีตรงจุดไหน ให้ดึงออกมาบอกแล้วมาช่วยกันแก้ รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดที่จะนำประชาชนไปสู่สภาพที่พูดถึงเลย ทั้งนี้ คนเรามีศักดิ์ศรี เป็นคนไทยทุกคน คนที่คิดว่าจะกลับไปเป็นระบบแบบนี้นั้นคิดแบบนั้นจริงๆ หรือ แต่ร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังปรับปรุงไม่เคยมีคำนี้ แล้วดึงออกมาพูดได้อย่างไร คนที่พูด ถ้ามีตรงไหนในร่าง พ.ร.บ. ที่พูดแบบนั้น หยิบออกมาแล้วจะไปเปลี่ยนให้
ต่อข้อถามเรื่องประเด็นการร่วมจ่าย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่เห็นมีอยู่ในร่าง พ.ร.บ. แต่มีอยู่ข้อหนึ่งใน พ.ร.บ. หลักประกันฯ ฉบับเดิมที่มีอยู่แล้วพูดถึงว่า อาจจะให้มีการจ่ายร่วมได้ ที่เห็นภาพชัด คือ คนใช้บริการจ่าย 30 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ. ใหม่ เพียงแต่ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ. ใหม่ และร่าง พ.ร.บ. ใหม่ก็ไม่ได้มีสักคำเดียวว่าจะให้มีการจ่ายร่วม ทุกอย่างใน พ.ร.บ. ต้องมีความยืดหยุ่นได้ เพื่อให้อนาคตสามารถปรับได้ก็ปรับได้ เมื่อเห็นว่าประเด็นนี้ใน พ.ร.บ. เดิม มีการยืดหยุ่นดีอยู่แล้วก็ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ทั้งนี้ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยตรง อย่างการใช้จ่ายงบหลักประกันสุขภาพบางอย่างที่ดำเนินการไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของสถานพยาบาล แต่เป็นงบฯที่จำเป็นสำหรับ รพ. ซึ่งใน พ.ร.บ. เดิมบอกว่าทำไม่ได้ หากเลิกจ่ายให้ รพ. ทั้งหมด ก็จะทำให้ รพ. ทำงานไม่ได้ นี่คือ ผลที่อยากให้เป็นหรือ ก็ต้องแก้ใหม่เพื่อให้ดำเนินการได้ ถ้าไม่แก้แล้วปัญหาเกิดตามเดิมประชาชนก็เดือดร้อน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ที่มีการวอล์กเอาต์นั้นก็ไม่เป็นไร ถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้เกิดความระส่ำระสาย แต่เวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้ล่ม เพราะยังมีภาคประชาชนอื่นๆ เข้าร่วมอีก 300 - 400 คน แต่มีคนออกจากเวทีราว 80 - 100 คน ที่ประชุมก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และทุกความคิดเห็นแม้แต่ของคนที่วอล์กเอาต์ก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นความคิดเห็นทั้งสิ้น
ด้าน นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วย HealthyForum กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. มีหลายประเด็นที่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ คือ 1. การปรับแก้ไม่ให้มีการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้องค์กรเอกชนเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุข ตรงนี้มีบางกลุ่มเข้าใจผิดว่าเป็นการจ่ายเงินให้เอ็นจีโอ และให้ข้อมูลมั่วว่า ที่ออกมาโวยวายเป็นเพราะเอ็นจีโอเสียประโยชน์ ซึ่งแสดงถึงความไม่รู้เรื่อง และมีความคิดคับแคบว่าการจัดบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องของโรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว องค์การอนามัยโลกส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการสาธารณสุขด้วย เพราะเล็งเห็นประโยชน์สำคัญว่า สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน ผู้ป่วยและผู้ให้บริการต้องมีส่วนร่วม ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงจะมีประสิทธิภาพ ที่เห็นชัดเจนคือการที่ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้รับรางวัลความร่วมมือจัดบริการเอดส์ระหว่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและภาครัฐ และเป็นต้นแบบที่หลายประเทศทำตาม
“สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน กฎหมายหลักประกันสุขภาพของเดิมส่งเสริมตรงนี้ และทำได้ดีด้วย เกิดการทำงานเป็นรูปธรรม คือ เครือข่ายผู้ป่วยที่ร่วมมือกับภาครัฐ ทำให้งานรักษาโรคและป้องกันเดินหน้าได้ดี แต่มีคนบางกลุ่มเข้าใจผิดและเอาไปบิดเบือน ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เรื่องสุขภาพอยู่ในมือรัฐอย่างเดียว แบบนี้ทำไม่ถูก ถ้ายังยืนยันว่าจะแก้ตามนี้ ไม่ฟังเสียงท้วงติงจากประชาชน ประสิทธิภาพการให้บริการถดถอยลงแน่นอน” นายธนพลธ์ กล่าวและว่า ประเด็นที่ 2 คือ การปรับสัดส่วนบอร์ด โดยเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการมากขึ้น ทำให้บอร์ดกลายเป็นตัวแทนผู้ให้บริการ ขณะที่ฝั่งตัวแทนประชาชนมีน้อยกว่า เป็นสัดส่วนบอร์ดที่ไม่สมดุลกันขัดเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าชัดเจน หากสัดส่วนบอร์ดเป็นตามนี้จะเกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนในส่วนผู้ให้บริการ การพิจารณาต่างๆ ก็ยึดอยู่ในฐานคิดว่าหน่วยบริการจะต้องไม่เสียประโยชน์ แต่ประชาชนเสียประโยชน์แทน ทั้งที่งบประมาณที่ใช้มาจากภาษีประชาชนเพื่อให้รัฐจัดบริการสาธารณะที่ดีให้ประชาชน
นายธนพลธ์ กล่าวว่า อีกข้อที่คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายบัตรทองชุดนี้จงใจละเลยไม่ดำเนินการ คือ แก้กฎหมายให้ สปสช.สามารถทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้เรื่องนี้ประหลาดมาก สตง. และ คตร.ที่ก่อนหน้านี้ตรวจสอบ สปสช.เรื่องการจัดซื้อยาก็บอกเองว่าเป็นการดำเนินการที่มีประโยชน์ แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจทำได้ จนภายหลัง คตร. ต้องออกหนังสือให้ สปสช. ทำได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบผู้ป่วยที่เคยได้รับยา ในเมื่อแก้ไขกฎหมายก็ควรจะเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะผู้ป่วยได้ประโยชน์จริงๆ แต่กลับไม่ทำ
“หน่วยงานรัฐพูดซ้ำๆ ย้ำๆ ว่าประชาชนไม่เสียประโยชน์แน่ ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ชัดเจน เราส่งเสียงเพื่อให้พวกท่านแก้ไข แต่ก็ยังคงเดินหน้าเหมือนเดิม แบบนี้จะให้เชื่อใจได้อย่างไร แล้วหน่วยงานตรวจสอบก็ประหลาดมาก เรื่องที่มีประโยชน์ แม้กฎหมายไม่ได้บอกชัดเจนให้ทำได้ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อประชาชนและทำถูกตามระเบียบทุกอย่าง แต่กลับเป็นว่าถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ ก็ไม่ต้องทำ ทั้งๆ ที่พิสูจน์ชัดเจนว่ามีประโยชน์ เมื่อแก้กฎหมายก็ยังไม่แก้เรื่องนี้อีก ทุกอย่างมันชัดเจนว่าแก้กฎหมายบัตรทองครั้งนี้ลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก” นายธนพลธ์ กล่าว