เอ็นจีโอยื่นจดหมาย “หมอปิยะสกล” ขอยุติกระบวนการแก้กฎหมายบัตรทอง ชี้ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ขัดหลักการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ชี้ ควรออกระเบียบให้ สปสช. ซื้อยาแทนยกเลิก
วันนี้ (18 พ.ค.) เมื่อเวลา 06.30 น. เครือข่ายประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 70 คน ดักพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อนร่วมประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยได้ยื่นจดหมายที่มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 52 องค์กร เรียกร้องให้ รมว.สธ. ยุติกระบวนการแก้กฎหมาย พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 คือ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และสาระที่แก้ไขขัดแย้งหลักการของ พ.ร.บ. หลักประกันฯ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และ ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ขาดธรรมาภิบาล ตั้งแต่การคัดเลือกกรรมการแก้ไขกฎหมาย โดยมีสัดส่วนของผู้ให้บริการมากถึง 12 คน จาก 26 คน ที่เหลือคือ ส่วนราชการอื่น เช่น กรมบัญชีกลาง ขณะที่ภาคประชาชนมีเพียง 2 คน ซึ่งมีเจตนาโน้มเอียงและเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ หลายประเด็นที่มีการแก้ไขเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เช่น การขอเพิ่มสัดส่วนกรรมการบอร์ด สปสช. ในส่วนผู้ให้บริการโดยไม่มีหลักคิดอะไรมารองรับ แทนที่บอร์ดจะเป็นผู้แทนของผู้รับบริการหรือเป็นบอร์ดของผู้ซื้อบริการ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดการใช้จ่ายงบประมาณที่เห็นว่าเหมาะสมและครอบคลุมการเข้าถึงของประชาชน กลับกลายเป็นว่ามีองค์ประกอบของผู้ให้บริการมากกว่ามาก
“คือ มีเจตนาชัดเจนที่จะปล่อยให้ผู้จัดบริการเข้ามาแทรกแซง ถ้าพิจารณาดูดีๆ จะเห็นว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน เพราะบอร์ด สปสช. มีหน้าที่จัดหาบริการ กำหนดค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการ โดยต้องตั้งอยู่บนฐานให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีมีมาตรฐาน แต่กลับมีคนของผู้ให้บริการมาเป็นกรรมการเพิ่มมากขึ้น แบบนี้ยิ่งเป็นการทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่ต้องแยกผู้ซื้อบริการและผู้จัดบริการให้ชัดเจน” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 ที่ไม่ได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดว่าการแก้ไขกฎหมายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การจัดเวทีรับฟังความเห็นเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เราจึงเรียกร้องให้รมว.สาธารณสุขหยุดกระบวนการแก้กฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเริ่มต้นกระบวนการใหม่ที่ถูกต้อง
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังและเอชไอวี กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลและรับไม่ได้เลยคือ การไปตีความว่า สปสช. ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยา ทั้งที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการพัฒนาระบบการจัดซื้อยารวมเฉพาะยาที่จำเป็น มีแนวโน้มว่าประชาชนจะเข้าไม่ถึง รวมถึงยาที่มีราคาแพงและยากำพร้าทั้งหลาย โดยมีระบบการต่อรองราคายา ทำให้สามารถซื้อยาได้ในราคาที่ถูก มีระบบบริหารยาที่เป็นมืออาชีพโดยร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี น้ำยาล้างไต เป็นต้น ที่ผ่านมา ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดภาระโรงพยาบาลด้านการสั่งซื้อ จัดเก็บยา ที่สำคัญประหยัดงบประมาณด้านยาได้อย่างมหาศาล แต่ในกฎหมายที่กำลังแก้ไขกลับจะถอยหลังไปเป็นแบบยุคแรก คือ ให้ สธ. จัดซื้อ
“คำถามคือ สธ. จะใช้อำนาจตามกฎหมายไหนมาจัดซื้อยาด้วยงบของกองทุนหลักประกันสุขภาพ มีการเตรียมระบบรองรับหรือไม่ ซึ่งการจัดซื้อยาในส่วนนี้ของ สปสช.ที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อแค่ร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยาทั้งประเทศ ที่เหลืออีกกว่า 95% รพ. ก็เป็นคนจัดการสั่งซื้อกันเองอยู่แล้ว จะมีอะไรการันตีว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงยา กลับกันคณะกรรมการแก้กฎหมายควรสนับสนุนให้ สปสช. จัดการเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ กรณีนี้ คตร. ที่เข้ามาตรวจสอบการทำงานของ สปสช. และพบว่าไม่มีปัญหาด้านการทุจริตใดๆ แต่มองว่าการจัดซื้อยาของ สปสช. ไม่มีระเบียบรองรับ และยังแนะนำให้มีการเพิ่มระเบียบให้สปสช.สามารถสั่งซื้อยาได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน” นายอภิวัฒน์ กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า พร้อมรับฟังทุกเสียงของทุกฝ่าย แต่ต้องขอยืนยันว่า การปรับปรุง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ไม่ได้กระทบต่อประชาชน เพราะไม่ได้มีการลดสิทธิใดๆ ลงแม้แต่นิดเดียว
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... กล่าวว่า ยืนยันคณะกรรมการฯได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญมาแล้ว ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ทั้ง สปสช. ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ถือเป็นตัวแทนภาคประชาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรุงเทพมหานคร สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง นับว่ามีทุกภาคส่วนครบตามที่สมควรจะมีแล้ว ส่วนสาระสำคัญในการยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยังมีบางประเด็นที่คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังไม่ตกผลึก จะต้องมีการแก้ไขอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถเปิดเผยสาระสำคัญต่อสาธารณะและให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นได้ในราวปลายเดือน พ.ค.