xs
xsm
sm
md
lg

แง้มร่าง พ.ร.บ.บัตรทอง รวมเงินเดือน-ค่าเสื่อมในหมวดบริการสาธารณสุข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ขยายบริการสาธารณสุข ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกาจัดบริการ ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าเสื่อมสิ่งก่อสร้างครุภัณฑ์ เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการ ในบอร์ด สปสช.

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารรสุข ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่มีการแก้ไขปรับปรุงแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด เนื่องจากมีบางส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องนำไปแก้ไขอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การปรับแก้นั้นสาระสำคัญจะครอบคลุม 14 ประเด็นใหญ่ที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. รับทราบ

“วันที่ 30 พ.ค. จะมีการประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำการประชาพิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินการใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ (Online Hearing) คาดว่า จะสามารถเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ 2. การจัดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 10 มิถุนายน จ.เชียงใหม่ วันที่ 11 มิถุนายน จ.ขอนแก่น วันที่ 17 มิถุนายน และภาคกลางและทั้งประเทศวันที่ 18 มิถุนายน 2560 ที่ศูนย์การประชุมเซ็นทรา แจ้งวัฒนะ และ 3. การรับฟังความคิดเห็่นจากผู้เชี่ยวชาญ (Public Consultation)โดยเชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือถึงเป้าหมายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 - 21 มิ.ย. 2560

“การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. เพราะต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยเท่าเดิม ให้สามารถคงหลักประกันสุขภาพฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยแก้ไขในส่วนของ สปสช.ที่มีปัญหาติดขัดอยู่ และส่วนผู้ให้บริการที่มีปัญหาติดขัดก็แก้ไขเพื่อทำให้ระบบเดินต่อไป” นพ.มรุต กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ..... มีการแก้ไขปรับปรุง อาทิ 1. บริการสาธารณสุข ให้หมายความรวมถึงการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขด้วย ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เป็นต้น, ค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยในและบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น

2. ในหมวด 2 ที่เกี่ยวกับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนผู้แทนสภาวิชาชีพเพิ่มจาก 5 คนเป็น 6 คน โดยเพิ่มผู้แทนสภาการแพทย์แผนไทย อีกทั้งเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการจำนวน 7 คน จากเดิมที่ไม่มี ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริการภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยบริการสังกัด สธ. ได้แก่ ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) หรือโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนหน่วยบริการสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ ผู้แทนหน่วยบริการสังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยบริการสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างละ 1 คน นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯในส่วนที่กำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตและอัตราค่าบริการสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงต้นทุนการบริการด้วย

3. ในหมวด 3 ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม นอกจากเงินงบประมาณให้สำนักงานมีรายได้ เช่น เงินอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรอื่น รวมทั้งจ่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศและที่มีผู้บริจาค ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน เป็นต้น และไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

4. หมวด 4 ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก้ไขในมาตรา 41 จากเดิมที่ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเฉพาะผู้รับบริการ เพิ่มเป็นให้การช่วยเหลือทั้งผู้รับและผู้ให้บริการในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

และ 5. หมวด 6 ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ใน (4) มาตรา 50 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ จากเดิมที่ให้เสนอแนะอัตราราคากลางของโรคทุกโรค เพิ่มเป็นเสนอแนะอัตราราคากลางสะท้อนต้นทุนการให้บริการที่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ของโรค โดยต้องเสนแนะให้มีการทบทวนอัตราราคากลางอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานในการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ฉบับนี้ ไม่ได้มีการแก้ไขในหมวดสิทธิการรับบริการสาธารณสุข แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น