สธ. เร่งร่างยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดน ดูแลทั้ง “คนไทย - ต่างด้าว” ในพื้นที่ ลดโรคติดต่อ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สร้างหลักประกันสุขภาพทุกคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านเอ็นจีโอเสนอ 4 ข้อ อุดช่องปัญหาบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าว
วันนี้ (9 พ.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ชนินันท์ สนธิไชย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีเสวนาปลดล็อกสุขภาพประชากรข้ามชาติเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสยุค Thailand 4.0 จัดโดยมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) ว่า ประเด็นประชากรข้ามชาติยังคงมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง ทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่เป็นระบบ อุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เป็นต้น ยิ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้มีการค้าชายแดนและการลงทุนมากขึ้น การใช้แรงงานต่างด้าวก็เพิ่มมากขึ้นด้วย สำนักนโยบายฯ ได้ร่างยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดน พ.ศ. 2560 - 2564 ขึ้น เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวรดังกล่าว ทั้งคนไทยและประชากรข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.ชนินันท์ กล่าวว่า ร่างดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน โดยจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ สถานพยาบาล และระบบส่งต่อให้ได้มาตรฐาน มีความพร้อมและสะดวกต่อการเข้ารับบริการ รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ชายแดนครอบคลุมทั้งประชากรชาวไทยและต่างชาติ 2. ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพผลิตภัณฑ์ สุขภาพ 3. ยุทธศาสตร์การจัดการสุขภาพประชากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยส่งเสริมให้ประชากรทุกคนในเขตฯ มีหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง 4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขชายแดน และ 5. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงานสาธารณสุขชายแดน โดยจะต้องเพิ่มศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขพื้นที่ชายแดน และพัฒนากระบวนการติดตามและประเมินผล
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งเดิมได้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ รพ. ชายแดนต่างๆ จากนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ ก่อนจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นแค่แรงงานข้ามชาติ แต่ยังครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งจะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เกิดโรคอีกด้วย” นพ.ชนินันท์ กล่าว
นายภาคภูมิ แสวงคำ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในฐานะที่ทำงานในพื้นที่ มีข้อเสนอดังนี้ 1. ต้องจัดบริการที่เป็นมิตร คือ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยใช้มาตรฐานในการดูแลแบบเดียวกับคนไทย 2. การทำงานเชิงรุก คือ อาจต้องใช้สื่อช่องทางใหม่ในการติดต่อ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เพราะคนต่างชาติก็ใช้กัน อย่างพม่าจะนิยมใช้ไวเบอร์ รวมถึงต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะจะทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเตรียมความพร้อมแรงงานต่างด้าวรายใหม่ที่เข้ามาทำงาน เพราะยังไม่รู้กฎหมาย หรือภาษา เป็นต้น 3. ผู้ประสานด้านภาษาประชากรข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเมื่อปี 2559 แล้วว่า หน่วยงานรัฐสามารถจ้างล่ามเพื่อช่วยสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวได้ เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น และ 4. การจัดตั้งกลุ่มด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าว อย่างกรณีกองทุนโลกตัดงบช่วยเหลือด้านเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียลง หลายพื้นที่ทำให้เอ็นจีโอไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม กลุ่มช่วยเหลือกันเองนี้ที่จะมาช่วยสานต่อ อย่างแรงงานพม่าบางพื้นที่ก็พบว่ามีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพกันเอง