xs
xsm
sm
md
lg

กม. พรรคการเมือง กับดับ "ซือแป๋มีชัย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านมติความเห็นชอบสภานิติบัญญัติมาสดๆ ซิ่งๆ นับเป็นกฎหมายลูกฉบับร้อนแรงที่สุดฉบับหนึ่งใน 10 ฉบับของ “ซือแป๋” ***มีชัย ฤชุพันธุ์ *** และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เลยก็ว่าได้ เพราะบรรดาพรรคการเมืองขยาดผวากันเหลือเกิน ออกมาเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์ปมล่อแหลมกันแบบชนิดสับเละเหมือนจะไม่นับญาติกันอีก

กรรมการร่างฯ ถูกตั้งคำถามด้วยความคั่งแค้นจากบรรดานักการเมืองว่า จงเกลียดจงชังอะไรกันนักหนากับพรรคการเมือง ถึงกำหนดเจตนารมณ์ให้ ตั้งยาก ยุบง่าย! จะตัดหัวคั่วแห้งให้พรรคการเมืองสูญพันธุ์ไปจากประเทศนี้เลยหรือไร

***ปมที่โวยวายกันมาก คือเรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง วุ่นวายหนักมาก ฝ่ายการเมืองค้านเต็มที ด้วยเหตุผลเพราะบางพรรค เช่น พรรคกะยาจก พรรคแบกะดิน ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน*** ล่าสุดกรรมการ่างฯ ตั้งเป้าไว้ที่พรรคการเมืองละ 1 ล้านบาท แต่ไม่หนำใจกรรมาธิการของสนช. จัดเพิ่มไปที่พรรคละ 1.5 ล้านบาทถ้วน

ใครไม่จ่ายแม้จะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ก็คงจะเป็นได้แค่พรรคกิ๊กก๊อก ไม่มีสิทธิมีเสียงเต็มเหนี่ยวในทางการเมือง จะส่งผลให้เสียสิทธิอะไรต่างๆ มากมาย

ส่วนประเด็นเงินบริจาคพรรคการเมืองที่ระบุให้สมาชิกจ่ายคนละ 100 บาท ที่อ้างว่าต้องมีเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ฝ่ายหนึ่งก็ทุ่มเถียงว่าควรมีหรือไม่มี เพราะเท่ากับผลักภาระให้ประชาชน เงินร้อยเดียวสำหรับบางคนไม่มีค่า แต่อีกหลายคนนับว่ามีค่ามาก คนหาเช้ารับประทานค่ำคงไม่เต็มใจจะเสียเงินส่วนนี้เท่าไหร่ อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการไปไล่เก็บเงินจากคนเป็นแสนเป็นล้าน

ส่วนเกณฑ์การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี หรือ 10,000 คนภายใน 4 ปี แม้จะมีการปรับเปลี่ยนสมการตัวเลขอย่างไรก็ตามที แต่ปมเงื่อนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคเอสเอ็มอี หรือพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก จะไปหาคนจากไหน พรรคใหญ่ๆก็เอาไปหมดแล้ว เมื่อหาไม่ได้ก็เสี่ยงถูกลบชื่อออกจากสารบบพรรคการเมือง

ขณะที่พรรคใหญ่ๆ ก็ต้องปวดเศียรเวียนกบาลกับการคัดกรองรายชื่อสมาชิกพรรคที่มีเป็นล้านๆ ขืนซ้ำซ้อนหาที่มาที่ไปไม่ได้ มีสิทธิ์ถูกยุบพรรคเอาง่ายๆ เข้าทำนองตั้งยาก ยุบง่าย ตามสโลแกน กรธ.จริงๆ

*** ประเด็นสำคัญที่ดูแล้ววุ่นวายอลเวงแน่นอนคือ ระบบไพรมารีโหวต ที่เป็นของใหม่เอี่ยมเปิดซิงในบ้านเรา กว่าจะเข้าที่เข้าทางรับรองเหนื่อย ว่าที่ 7 กกต.มีหวังทำงานกันมือระวิง เพราะงานหนักจะอยู่ที่กกต. ***

การดีไซน์ให้มีสาขาพรรค ตัวแทนพรรค เป็นคนเสนอรายชื่อผู้สมัครส.ส. แทนการสั่งตรงจากส่วนกลางผู้บริหารพรรคโดยตรง ทั้งพยายามแบ่งโควตาชาย หญิง ถือเป็นความพยายามที่จะตัดวงจรการครอบงำพรรคจากนายทุน หรือทลายอำนาจรวมศูนย์ ต้องการทำให้พรรคดูเป็นของมวลชน ของประชาชน

แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะบ้านเรามันเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ จะมีสาขาพรรค ตัวแทนพรรค ที่ไหนกล้าหือ กับนายทุนเจ้าของพรรค เอาเงินฟาดหัวก็หงอกันหมดตามเคย การเมืองบ้านเรามันถึงไปไม่ถึงไหน สุดท้ายก็กลับสู่วงจรเดิมๆ แต่อย่างน้อยๆก็ถือว่าได้เริ่มต้น

แต่คำถามก็มีว่าจะทันกาลหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าเกิดขึ้นในปี61อาจเตรียมตัวกันไม่ทัน ไหนจะต้องเลือกกันเองก่อน แล้วค่อยมาเลือกจากประชาชน เลือกกันหลายครั้งหลายที สุดท้ายประชาชนนั่นแหละอาจจะงง

***อีกประเด็นที่น่าหวาดหวั่นครั่นคร้าม คือบทลงโทษที่รุนแรงสะท้านใจ นักการเมืองสาปแช่งก่นด่ายับว่ากรธ.เขียนโดยมโนภาพในอดีต ขีดเส้นเขี่ยทิ้งนักการเมืองหน้าเดิมๆที่ไม่ชอบขี้หน้า ตราหน้าว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้ประเทศตลอดมา ***

อย่างไรก็ตาม การดีไซน์ของกรธ.แบบนี้เอง ก็ถูกครหานินทา แม้กระทั่งคนในแม่น้ำ 5 สาย ว่าจะทำให้ไม่มีคนรุ่นใหม่ คนดี คนเก่ง กล้าเข้ามาเล่นการเมือง เพราะชั่งน้ำหนักแล้วเปลืองตัวมากกว่า เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง แม้ กรรมการร่างฯจะออกตัวว่าใครทำดีไม่เห็นต้องกลัว รัฐธรรมนูญไม่ทำร้ายท่านแน่นอน แต่ใครจะไปรู้เรื่องแบบนี้ กติกาหยุมหยิมเสี่ยงผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ เข้าตำรากิ้งกือตกท่อมีให้เห็นเยอะแยะไป

และที่วิจารณ์กันกว้างขวางก่อนหน้านี้ ก็เรื่องของโทษประหารชีวิต หากใครเข้าไปข้องแวะกับการทุจริต ไม่ใช่แค่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง แต่อาจมีโทษถึงตาย แค่ได้ยินก็หนาวสะท้าน เจอมาตรการลงโทษแบบนี้ใครจะกล้าเข้ามาเล่นการเมือง

แค่เบื้องต้นง่ายๆ กรรมการร่างฯอ้างสรรพคุณกฎหมายเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกจุด ดังนั้นค่าใช้จ่ายของพรรค เรื่อยไปจนถึงทรัพย์สินตัวบุคคล ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ งานนี้คนไม่อยากเปิดเผย ไม่อยากเปิดหน้าโชว์สตางค์ก็ถอยกันไป

*** ต้องจับตาดูกันว่ากติกาการเมืองแบบใหม่ ที่ออกแบบโดยซือแป๋มีชัยกับกรรมการร่างฯว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ ถือเป็นการลองผิดลองถูกอีกครั้ง ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้จริง หรือรอวันฉีกทิ้งเหมือนฉบับก่อนๆ***
กำลังโหลดความคิดเห็น